ปชป.รอแตกหัก พังกันไปข้าง ผลพวงศึกชิงอำนาจ

รอยร้าว-ความขัดแย้งภายใน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระเบิดขึ้นอีกครั้งกลางโรงแรมมิราเคิลฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา

หลังพรรค ปชป.ไม่สามารถจัดการประชุมเพื่อเลือก หัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ได้เป็นครั้งที่ 2 เพราะ ประชุมล่ม องค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับพรรค ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ปชป.ออกไปอีกครั้ง 

หลังก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 ก.ค. การประชุมใหญ่พรรค ปชป.ก็ล่มมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งรอบดังกล่าวเกิดจากมีการล็อบบี้ให้โหวตเตอร์ไม่เข้าร่วมประชุม โดยมีการขอให้เดินทางออกจากสถานที่จัดประชุม เพื่อทำให้ประชุมล่ม ซึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าวก็ทำสำเร็จ

สำหรับเหตุการณ์การประชุมใหญ่พรรค ปชป.ล่มเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 6 ส.ค. ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน เพราะเห็นชัดว่ามีการวางแผนเตรียมการไว้แล้วเพื่อทำให้ การประชุมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึง รอยร้าว-ความแตกแยก ภายในพรรค ปชป.ได้อย่างชัดเจนที่สุด และตอนนี้มันเดินมาถึงจุดแตกหักของ 2 ปีกในพรรค ปชป.ที่งัดข้อ-ประลองกำลังกันอยู่ในตอนนี้ โดยมี 2 เรื่องสำคัญชี้ชะตาอนาคตพรรค ปชป.รออยู่

1.การส่งคนเข้าไปคุมพรรค ปชป.ผ่านการเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

2.การตัดสินใจที่จะนำพรรค ปชป.ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการด้วยมติพรรค ที่ สส.พรรค ปชป.ที่มีด้วยกัน 25 คน จะต้องไปด้วยกันหมด ห้ามแตกแถว เพื่อที่จะได้มีอำนาจในการต่อรองการร่วมรัฐบาลและจัดสรรโควตารัฐมนตรีของพรรค ปชป.

ซึ่ง 2 กลุ่มที่งัดกันอยู่ตอนนี้ กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มที่คุมอำนาจปัจจุบันในพรรค ปชป. ผ่านการมี สส.ในกลุ่มเกือบทั้งพรรค ที่เรียกกันก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มบ้านดาวล้อมเดือน แต่ปัจจุบันเรียกขานกันว่า กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย ที่มี 3 แกนนำคือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และรักษาการเลขาธิการพรรค ปชป.-เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา รักษาการรองหัวหน้าพรรค-ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรค โดยคุมเสียง สส.ในพรรคร่วม 21 คน จากที่มี 25 คน ซึ่งแนวทางชัดเจนคือ ต้องการยึดพรรค ปชป.ไว้แบบเบ็ดเสร็จ ผ่านการส่งคนเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คือ นราพัฒน์ แก้วทอง ที่เป็นอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หน้าห้องเฉลิมชัย ที่ ก.เกษตรฯ นั่นเอง และวางตัวให้ นายกชาย เดชอิศม์ ที่เพิ่งเป็น สส.สมัยที่ 2 ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ปชป.แบบพาสชั้น   

ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้อาวุโสในพรรค ที่นำโดยชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นิพนธ์ บุญญามณี และแนวร่วมคนอื่นๆ เช่น สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข อดีต สส.ระยอง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรังหลายสมัย เกียรติ สิทธีอมร อดีต สส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นต้น

  ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. แม้จะแนบแน่นและทำงานใกล้ชิดกับเฉลิมชัย ที่ร่วมกันบริหารพรรค ปชป.มาตลอด 4 ปี แต่เมื่อจุรินทร์ที่เป็นเด็กปั้นของชวนมาตลอดหลายสิบปี และที่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ก็ได้รับการสนับสนุนจากชวน และที่ผ่านมาชวนออกมาปกป้องจุรินทร์ทุกครั้งยามที่ถูกโจมตีจากทั้งคนในพรรคและนอกพรรคว่า ทำให้พรรคแตกแยก เลือดไหลออก คนลาออกจากพรรคจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และทำให้พรรคแพ้เลือกตั้งย่อยยับ แต่ชวนก็ออกมากางปีกปกป้องให้ตลอด จึงทำให้จุรินทร์ก็ต้องเอนเอียงมาทางชวน

ทว่าด้วยขุมกำลังที่มี สส.เพียงแค่ 4 คน คือ ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์และสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ลูกชายนิพนธ์ ทำให้ปีกของกลุ่มผู้อาวุโสสู้กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยไม่ได้ เป็นรองทั้งจำนวนคนในการเป็น สส.และการเป็นโหวตเตอร์ เลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ปชป.เพราะข้อบังคับพรรค ปชป.ให้น้ำหนักคนที่เป็น สส.มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค

ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้หากมีการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.เมื่อ 6 ส.ค.เกิดขึ้นสำเร็จ “นราพัฒน์” ก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แบเบอร์ ขณะที่ กรรมการบริหารพรรค ปชป.กลุ่มเฉลิมชัย ก็วางคนทำโผเสร็จมาร่วมเดือนแล้ว ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นสายเฉลิมชัยทั้งสิ้น

ดังนั้น หาก กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย มี สส.ร่วม 21 คน และยังคุมกรรมการบริหารพรรคเกือบทั้งหมด จึงทำให้การลงมติในเรื่องสำคัญๆ ของพรรค ปชป. เช่น มติการเข้าร่วมรัฐบาล-จัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย ตามดีลที่มีการไปคุยกันมาแล้ว ก็จะเป็นไปตามที่กลุ่มเฉลิมชัยต้องการ คือมีมติสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย

อันเป็นสิ่งที่ฝ่ายชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์ไม่เอาด้วย เพราะต้องการให้พรรค ปชป.ไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะหากเป็นรัฐบาลเพื่อไทย เพราะเชื่อว่า หากเป็นฝ่ายค้าน น่าจะทำผลงานได้ดี จนทำให้พรรค ปชป.มีโอกาสกลับมามีที่ยืนทางการเมืองมากขึ้น หลังพรรค ปชป.ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากที่เคยได้ สส. 52 คน ตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็เหลือแค่ 25 คน ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จากที่เคยได้ตอนปี 2562 ประมาณ 3 ล้าน 9 แสนคะแนน ก็เหลือแค่ 9 แสนคะแนน

อีกทั้งปีกของกลุ่มผู้อาวุโสในพรรค ปชป.ก็ไม่เห็นด้วยกับการดัน นราพัฒน์-เดชอิศม์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค เพราะอาจมองว่า อย่างนราพัฒน์ชื่อชั้นไม่ถึง ไม่ตอบโจทย์การฟื้นฟูพรรค สู้ดึงอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.อีกครั้ง เพื่อกอบกู้พรรคน่าจะดีกว่า

ผนวกกับกลุ่มของชวนคงได้ยินเสียงที่สะท้อนออกมาอย่างมากจากทั้งคนในพรรค ปชป.และสังคมภายนอกถึงการที่พรรค ปชป.จะมีเลขาธิการพรรค อย่างเดชอิศม์ ว่า ปชป.หาใครเหมาะสมกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ?

 เมื่อกลุ่มเฉลิมชัยกับกลุ่มผู้อาวุโสในพรรคมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก ในการเลือกหัวหน้าพรรคและการวางเป้าหมายทางการเมืองของพรรค ปชป.โดยไม่สามารถเคลียร์กันได้ ภาพความแตกร้าวภายในพรรค ปชป.จึงปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน กับการที่การประชุมใหญ่พรรคต้องล่มกลางคัน 2 นัดติดต่อกันอย่างที่เห็น

ความแตกแยกอย่างรุนแรงภายในพรรค ปชป. สถานการณ์ นับวันบ่งชี้ว่า มีแต่จะขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มคงสายเกินไปแล้วที่จะมาปรับความเข้าใจกัน จนน่าจะเข้าสู่ช่วง แตกหัก-พังกันไปข้าง ในเร็ววัน

เพราะเห็นชัด เฉลิมชัย หมดความอดทนกับอีกฝ่ายแล้ว ที่ทำให้การประชุมล่ม 2 ครั้ง เนื่องด้วยในทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นมันก็ทำให้เฉลิมชัย-เดชอิศม์เสียหน้าไม่น้อย เพราะแสดงให้เห็นว่า คุมพรรคไม่อยู่ แบบนี้ก็อาจทำให้เพื่อไทยที่กำลังรอ ปชป.เข้ามาร่วมรัฐบาลแบบมาทั้งพรรค 25 เสียง ก็ย่อมกดหัวกลุ่มเฉลิมชัยได้ หากจะมาร่วมตั้งรัฐบาลแล้วจะมาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

 “เป็นพฤติกรรมเลวร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับพรรคอย่างมาก การที่องค์ประชุมไม่ครบทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่ม มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม ไม่ให้ลงชื่อเป็นองค์ประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาวเพื่อไม่ให้มาประชุม ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เลวทราม ไม่น่าเกิดขึ้นในพรรคที่เป็นสถาบันทางการเมือง” เฉลิมชัยให้สัมภาษณ์แบบใส่เป็นชุด หลังไม่สามารถเปิดการประชุมพรรค ปชป. เมื่อ 6 ส.ค.ได้

ต้องไม่ลืมว่า ประวัติศาสตร์การเมืองของพรรค ปชป.ยามใดที่มีการช่วงชิงอำนาจกันในพรรค ซึ่งแม้จบเกมไปแล้ว แต่หากเคลียร์กันไม่ได้ ผลที่ตามมามักทำให้พรรค ปชป.แตกยับกันมาแล้วหลายครั้ง จนบางกลุ่ม-บางคนก็อยู่กับพรรค ปชป.ต่อไปไม่ได้

เช่น เหตุการณ์การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.ระหว่าง กลุ่มพิชัย รัตตกุล กับกลุ่มเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จนสุดท้ายเกิด กลุ่ม 10 มกราฯ และต่อมาทั้งหมดก็ออกจากพรรค ปชป.ไป หรือการชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้คู่ชิงหัวหน้าพรรค ปชป.อย่างน้อย 3 คนที่พลาดหวัง ก็ต้องเดินออกจากพรรค ปชป.เช่นกัน คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กรณ์ จาติกวณิช พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ส่วนศึกชิงอำนาจใน ปชป.รอบนี้ จะทำให้คนต้องเดินออกจากพรรค ปชป.ไปแบบก่อนหน้านี้ และพรรคจะแตกแยก ตกต่ำลงกว่านี้หรือไม่ ดูจากรูปการณ์ที่เห็น บอกได้เลยว่ามีเค้าลาง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ