ชัยธวัชมา-ปดิพัทธ์..? กับทางออก เก้าอี้รอง ปธ.สภาฯ

ก่อนที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำชื่อ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อให้ทรงแต่งตั้งเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ทางประธานสภาฯ คงรอให้ได้ข้อยุติในเชิงข้อกฎหมายเสียก่อน ถึงจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ทั้งการต้องรอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับรองรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดใหม่ ตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวไกลเมื่อ 23 กันยายน ที่เลือกชัยธวัชเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล

รวมถึงที่สำคัญ คือต้องรอให้ พรรคก้าวไกล และปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล เคลียร์กันให้ลงตัวก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 บัญญัติว่า

“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี  เข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

นั่นหมายถึงว่า เมื่อก้าวไกลตัดสินใจเลือกเอาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยการที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในคดีหุ้นสื่อไอทีวี ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดทางให้ชัยธวัชขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อที่จะได้ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ไม่ต้องมารอผลคดีหุ้นสื่อที่คาดว่าอาจใช้เวลาอีกพอสมควร เร็วสุดอาจปลายปีนี้

 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 เขียนล็อกไว้เช่นนี้ ก็ทำให้ปดิพัทธ์ที่ตอนนี้เป็น สส.-สมาชิกพรรคก้าวไกล ก็ต้องตัดสินใจร่วมกันกับพรรคก้าวไกล ที่ก็มีทางออก 2 ทางตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้ คือ

หนึ่ง ปดิพัทธ์ลาออกจากรองประธานสภาฯ ก่อนที่ประธานสภาฯ จะนำชื่อชัยธวัชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

สอง ปดิพัทธ์ไม่ยอมลาออก ทำเป็นดื้อแพ่ง แล้วทางพรรคก้าวไกลก็เรียกประชุมใหญ่พรรค เพื่อลงมติขับนายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จากนั้นปดิพัทธ์ก็ย้ายไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด ภายใน 30 วัน ที่ตามข่าวก็คือ พรรคเป็นธรรม ที่มี สส. 1 คนในสภาฯ ซึ่งก็จะทำให้ปดิพัทธ์ไม่ต้องลาออกจากรองประธานสภาฯ โดยเป็นรองประธานสภาฯ จากพรรคเป็นธรรมไปเรื่อยๆ แล้วพอเลือกตั้งรอบหน้ามาถึงก็ค่อยย้ายกลับไปอยู่พรรคก้าวไกลใหม่ ที่เรียกกันว่าสูตร ฝากเลี้ยง โดยใช้แท็กติกข้อกฎหมายหาช่องทาง ได้ทั้ง 2 เก้าอี้ คือผู้นำฝ่ายค้าน และรองประธานสภาฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า นับแต่มีกระแสข่าวทำนองดังกล่าว แกนนำพรรคก้าวไกลและปดิพัทธ์ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ โดยบอกแต่ว่าให้รอผลประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลวันที่ 23 ก.ย.ก่อน

ท่าทีของแกนนำพรรคก้าวไกล ต่อกรณีดังกล่าว ชัยธวัช-หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ บอกไว้หลังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคว่า "คงจะใช้เวลาในสัปดาห์นี้ ​ในการหารือร่วมกันว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร คาดว่าจะจบภายในสัปดาห์นี้"​

อย่างไรก็ตาม คาดว่าก้าวไกลเองก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน หากจะใช้วิธีฝากเลี้ยง เพื่อให้เก้าอี้รองประธานสภาฯ อยู่กับปดิพัทธ์ต่อไป เพราะหากทำเช่นนั้น ก็หนีไม่พ้นต้องโดนวิจารณ์ว่า เล่นการเมืองแบบเก่า ทำตัวเป็นศรีธนญชัย หาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ซึ่งจะเป็นการทำลายจุดขายของ พรรคก้าวไกล ที่บอกตลอดว่า เล่นการเมืองแบบใหม่ จะเข้ามาสร้างมาตรฐานทางการเมืองใหม่ ไม่เอาการเมืองแบบเก่าๆ

จุดนี้ไม่แน่เช่นกัน แฟนคลับก้าวไกลบางส่วนที่ไม่ได้เชียร์ก้าวไกลทุกเรื่อง อาจรู้สึกว่าก้าวไกลก็ไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ จนทำให้เลิกนิยมชมชอบพรรคก้าวไกลไปเลยก็ได้

คาดว่าเรื่องนี้คนในพรรคก้าวไกลก็คงคิดหนักเหมือนกัน ถ้าประเมินกระแส-ความคิดของแฟนคลับตัวเองผิด จนกระแสตีกลับ แฟนคลับพรรคบางส่วนอาจไม่ยอมรับกับวิธีการดังกล่าว

 ยิ่งช่วงหลังตัวปดิพัทธ์ก็มีหลายเรื่องที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูกระทะ-โพสต์เฟซบุ๊กเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเบียร์คราฟต์ และล่าสุด กับกรณีใช้งบประมาณแผ่นดิน 1.3 ล้านบาท ไปทัวร์สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-25 กันยายน พร้อมกับ สส.พรรคก้าวและพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง ทั้งที่คนในพรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่างบเดินทางไปต่างประเทศเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย

จนทำให้ปดิพัทธ์ จากภาพนักการเมืองรุ่นใหม่ก้าวไกล ภาพลักษณ์ป่นปี้ไปพอสมควร

กระนั้นก็ต้องดูว่า สุดท้าย ชัยธวัช-ปดิพัทธ์-ก้าวไกล จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ที่คงได้ข้อยุติภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ เพื่อจะได้เคลียร์ทาง ก่อนที่จะมีการนำชื่อชัยธวัชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อไป

ส่วนที่สงสัยกันว่า ชัยธวัชจะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลขัดตาทัพรอพิธาไปนานแค่ไหน?

เรื่องนี้ก็อยู่ที่ 2 เงื่อนไข

เงื่อนไขแรก หากพิธารอดคดีหุ้นสื่อในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้พิธาได้กลับมาเป็น สส. และถึงตอนนั้นชัยธวัชจะลาออกทันที เพื่อเปิดทางให้พิธากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 

เงื่อนไขที่สอง หากพิธาไม่รอด ตัวพิธาก็แค่หลุดจาก สส.เท่านั้น ไม่ได้โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถ้าแบบนี้ชัยธวัชก็เป็นหัวหน้าพรรคต่อไปเรื่อยๆ

จนเมื่อการเลือกตั้งรอบใหม่มาถึง ก่อนการเลือกตั้ง ชัยธวัช ก็จะลาออก เพื่อให้พิธากลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พิธาที่เป็นจุดขายสำคัญของก้าวไกลนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 

ส่วนกรณีหากพิธาไม่รอดคดีหุ้นสื่อ แล้ว กกต.เอาผิดพิธา กรณีนี้รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 151 ที่มีโทษทางอาญาคือ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี

โดยหาก กกต.เอาผิดพิธา คดีอาญา ตามผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มองว่าก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้งของพิธา หากจะกลับมาช่วงเลือกตั้งรอบหน้า แม้ต่อให้สภาฯ ชุดนี้จะอยู่ครบ 4 ปีก็ตาม เพราะกระบวนการทางคดีใช้เวลานาน กินเวลาหลายปี เนื่องจากเป็นคดีอาญา และรูปคดีพลิกผันได้

เริ่มที่ กกต.ต้องไปแจ้งความกับตำรวจ เพื่อให้ดำเนินคดีพิธา จากนั้นรอดูว่าตำรวจจะสั่งฟ้องหรือไม่ แต่ดูแล้วแนวโน้มสูง ตำรวจสั่งฟ้อง และจากนั้นมาลุ้นอีกว่า เมื่อส่งสำนวนไปที่อัยการ ทางอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากอัยการสั่งฟ้อง ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยมีกระบวนการสู้คดีถึง 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์และศาลฎีกา เรียกได้ว่าสู้กันยาว กินเวลาหลายปี ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอมกันง่ายๆ

แต่ก็อาจมีจุดพลิกได้คือ อัยการอาจสั่งไม่ฟ้องพิธาด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเจตนาปกปิดการถือหุ้นไอทีวี เหมือนกับที่อัยการเคยหักทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ-มติ กกต.และตำรวจ ด้วยการสั่งไม่ฟ้องธนาธรในคดีหุ้นสื่อมาแล้ว โดยอ้างเหตุว่า ธนาธรไม่มีเจตนา แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรก็ตาม แต่อัยการตีความว่า คดีอาญาแตกต่างออกไป ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ โดยหากอัยการสั่งไม่ฟ้องพิธา ก็จะทำให้คดีจบทันที เหมือนเคสธนาธร

จึงไม่แปลกที่ชัยธวัชและคนในพรรคก้าวไกลจะบอกว่า การเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เมื่อ 23 ก.ย. เป็นแค่การปรับทัพชั่วคราว ก็เพราะเงื่อนไขการเมืองข้างต้นนั่นเอง.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชัยธวัช' บี้ รัฐบาลยื่นแก้ไขกม.ประชามติ ภายใน1เดือน เตือนอาจถูกครหาว่ายื้อเวลา

'ชัยธวัช' บี้ รัฐบาลยื่นแก้ไขกม.ประชามติ ภายใน1เดือน เตือนสื่อสารเรื่องประชามติแก้รธน.ไม่ชัด อาจถูกครหาว่ายื้อเวลา

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

'ก้าวไกล' ไม่กังวลถูกยุบพรรค 'ชัยธวัช' บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ก.ก.ดักทางศาลรธน.หากไม่ขยายเวลาส่งคำชี้แจงคดียุบพรรค ถือว่าไม่ได้รับโอกาสในการต่อสู้

'ชัยธวัช' หวัง ศาลรธน.ขยายเวลาส่งคำชี้แจง 'คดียุบพรรค' พ้อ หากไม่ให้ ถือว่า 'ก้าวไกล' ไม่ได้รับโอกาสในการต่อสู้ในคดีโทษแรง พร้อม จี้ รัฐบาล ทบทวน คำถามประชามติ ให้ชัดเจน-เข้าใจง่าย บอก น่าเสียดาย หากตกไปตั้งแต่ทำรอบแรก