ปัดฝุ่นลงพื้นที่ ฟื้นบรรยากาศพรรค ‘บิ๊กป้อม’ ละมือ ‘พปชร.’ ไม่ได้

เหลือเพียง ป.เดียวที่ยังอยู่ในแวดวงการเมือง สำหรับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

ป.ประยุทธ์ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ขณะที่ ป.ป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต รมว.มหาดไทย ไม่ชอบงานการเมือง 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจัดตั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เสร็จสิ้น บทบาทของ ‘บิ๊กป้อม’ หน้าม่านการเมืองแทบไม่ปรากฏต่อสาธารณชน จะมีเพียงภาพและข่าวการปรากฏตัวในงานบุญต่างๆ  

สถานที่ปักหลักของ ‘บิ๊กป้อม’ ในยุคปัจจุบัน ยังคงเป็นมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ที่ยังมีนักการเมือง อดีตนายทหาร อดีตนายตำรวจ แวะเวียนไปเช่นเดิม แต่บางตัวกว่าแต่ก่อนมาก 

กับอีกแห่งคือ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ริมถนนศรีอยุธยา ที่ ‘บิ๊กป้อม’ ยังเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีน้องรัก ‘บิ๊กน้อย’ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นเลขาธิการ ที่ยังไปสม่ำเสมอเวลามีประชุม 

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวออกมาหนาหูว่า ‘บิ๊กป้อม’ จะค่อยๆ ปล่อยมือจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อส่งไม้ต่อให้กับ ‘บิ๊กป๊อด' พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค ขณะเดียวกัน จะลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดทางให้คนที่มีเวลาเต็มได้เข้ามาทำงานในสภา    

แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวถูกพับเก็บเอาไว้ เพราะ ‘บิ๊กป้อม’ ยังต้องทำหน้าที่เป็น ‘ศูนย์รวม’ ให้กับ สส.ในพรรคที่ยังไม่ได้เป็นปึกแผ่นเท่าที่ควร  

‘บิ๊กป๊อด’ คนที่ถูกวางตัวให้เข้ามารับไม้ต่อ ในฐานะดีเอ็นเอ ‘วงษ์สุวรรณ’ มีสไตล์การปกครองคนที่แตกต่างจาก ‘บิ๊กป้อม’  

โดย ‘บิ๊กป้อม’ มีจุดเด่นคือ การปกครองคนด้วยพระเดช-พระคุณ เข้าถึงง่ายและใกล้ชิดลูกน้อง ในขณะที่ ‘บิ๊กป๊อด’ ยังค่อนข้างมีระยะห่างกับ สส.ในพรรคค่อนข้างมาก ไม่ได้ลงมาคลุกคลีกับ สส.และลูกพรรคเท่าไหร่  

ขณะที่คนที่ใกล้กับ สส.พรรคพลังประชารัฐรองจาก ‘บิ๊กป้อม’ ในปัจจุบัน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค เพราะเป็นนักเลือกตั้งเหมือนกัน  ‘บิ๊กป๊อด’ ยังไม่สามารถรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ในที่แห่งเดียวได้ ประกอบกับสไตล์การทำงานที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพี่ชาย

 หาก ‘บิ๊กป้อม’ ปล่อยมือเลย พรรคพลังประชารัฐอาจสั่นคลอน กระจัดกระจายได้ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 

ประกอบกับก่อนหน้านี้มีข่าวลือออกมาเป็นระยะๆ ว่า 2 บิ๊กในพรรคขบเหลี่ยมกันเรื่องการดูแล สส. จน ‘ลุงป้อม’ ต้องเรียกมาเป่ากระหม่อม ตบให้เข้ารูปเข้ารอยเหมือนเดิม  

ขณะเดียวกัน ‘บิ๊กป้อม’ ยังแก้ปัญหาความห่างเหินและความสมานฉันท์ในพรรค ด้วยการนัดลูกพรรครับประทานอาหารร่วมกันเดือนละครั้ง เพื่อให้มาเจอหน้าเจอตากัน ทำให้ปัญหาดังกล่าวค่อยๆ ซาลงไป 

นอกจากปล่อยมือเลยไม่ได้แล้ว ‘บิ๊กป้อม’ ยังต้องกลับมาเข้าใกล้ลูกพรรคมากขึ้น ด้วยการนั่งหัวโต๊ะประชุมเองบ่อยครั้งในระยะหลัง จากที่แรกๆ มอบหมายให้คนอื่นๆ เป็นแทน

และมักจะมีประโยคเดิมๆ พูดย้ำให้ สส.ฟังตลอดว่า ‘บิ๊กป้อม’ จะยังดูแลพรรค ไม่ได้ไปไหน แทบจะทุกรอบที่มีประชุม 

 พอ ‘บิ๊กป้อม’ กลับมาดูแลระยะประชิด พบปะให้โอวาทลูกพรรคมากขึ้น ทำให้บรรยากาศภายในพรรคที่เคยวังเวง ดูไม่เป็นพรรค กลับมามีชีวิตชีวา ไม่เพียงเท่านั้น ยังรื้อโปรเจกต์ลงพื้นที่ที่เคยทำสม่ำเสมอเมื่อตอนเป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยจัด ‘พลังประชารัฐสัญจร’ ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อติดตามและโชว์นโยบายของพรรคที่ได้รับการปฏิบัติ โดยเฉพาะการแปลง สปก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ที่ได้หาเสียงเอาไว้  

 โดยวันที่ 8 มกราคม 2567 ‘บิ๊กป้อม’ จะควง ‘บิ๊กป๊อด’ ในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปร่วมพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตรที่ จ.เพชรบูรณ์ ถิ่นของ ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.สาธารณสุข ที่พรรคพลังประชารัฐกวาด สส.ยกจังหวัดเป็นจังหวัดแรก นอกจากนี้จะรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะของประชาชน เพื่อให้พรรคนำไปผลักดันและแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ถัดจากนั้นไม่นาน วันที่ 12 มกราคม 2567 จะลงพื้นที่ จ.หนองคายต่อ  

ทั้ง 2 จังหวัดล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่พรรคพลังประชารัฐมี สส. และ ‘บิ๊กป้อม’ จะนำทัพเองทั้งหมด 

อีกทั้งยังมีการวางแผนให้มีการจัดสัมมนาพรรคอีกในเร็วๆ นี้ เพื่อ ‘กระชับความสัมพันธ์’     

การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปในเชิงว่า จะกลับมาต่อรองอะไรในทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของการประคองพรรคให้ยังเดินไปได้ด้วยความเป็นเอกภาพ   

ในสถานการณ์ที่ ‘บิ๊กป๊อด’ ยังไม่สามารถขึ้นนำได้เต็มตัว ประกอบกับข่าวลือต่างๆ นานาว่าคนนั้นคนนี้จะแยกย้าย หรือยกครัวไปพรรคอื่น ทำให้ ‘บิ๊กป้อม’ ยังไม่อาจละมือทางการเมืองได้เหมือนกับน้องอีก 2 ป. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ดิจิทัลวอลเล็ตส่อขัดรธน.! อดีตรมว.คลังแนะกฤษฎีกาตีความ รัฐบาลล้วงงบฯจากปี67ด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่