'โรม'ชี้รักษาตัวนอกเรือนจำ 'สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่เลือกปฏิบัติ'

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วันว่า กรณีของนายทักษิณ และระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ มีความสำคัญของกฎหมายในแง่ความยุติธรรม

ปัญหาคือ 1.ระเบียบที่ออกโดยกระทรวงยุติธรรมอาจทำให้นำไปสู่การเกิด "นักโทษวีไอพี" เป็นจำนวนมาก เพราะถ้าไปดูในระเบียบ มีการให้อำนาจกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาสูงมาก ซึ่งในเรือนจำมีข้อเท็จจริงบางประเภทที่เรารู้อยู่แล้วว่า มีนักโทษบางส่วนที่ถูกปฏิบัติดีกว่านักโทษคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคให้อยู่ในสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ก็ยังคงเป็นกระบวนการที่ถูกพูดถึงอยู่เป็นเนืองๆ

แต่ถ้าเรามีระเบียบแบบนี้แล้วให้ไป Home Detention หรือการให้จำคุกในบ้าน ถ้าใช้วิธีการหรือขั้นตอนเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปอาจจะมีการติดสินบนเป็นเงินกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ตนเองสามารถได้อยู่ในกระบวนการจำคุกในบ้าน ที่อาจจะเป็นบ้านของตัวเอง หรือสถานที่ที่ถูกจัดไว้ให้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว จะเป็นการส่งเสริมให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน และทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่แตกต่างกันมากขึ้นไปอีก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียม และอาจจะเกิดนักโทษวีไอพีที่มีติดสินบนมากขึ้น

ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้กลไกศาลในการดำเนินการเรื่องนี้, ในประเทศอังกฤษมีคณะกรรมการในการดำเนินการ แต่การจะเข้าสู่กระบวนการจำคุกที่บ้านได้นั้นจะต้องมีการติดคุกมาก่อน เนื่องจากการเข้ากระบวนการจำคุกในบ้านมีจุดประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและปรับตัว เช่น เมื่ออยู่ในคุกไปสักพักแล้ว ใกล้ถึงเวลาครบกำหนดรับโทษ ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นจำคุกในบ้านเพื่อให้มีเวลาปรับตัว เนื่องจากโลกในคุกและโลกข้างนอกไม่เหมือนกัน

 “คำถามคือ การจำคุกในบ้านของไทยสะท้อนแนวคิดอะไร ผมว่ามันไม่มีเลย แนวคิดที่ประเทศต่างๆ เขาคิดกัน ความคิดของประเทศไทยคือ สุดท้ายต้องการทำให้เกิดนักโทษวีไอพี ซึ่งนักโทษวีไอพีเหล่านี้ เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถได้ประโยชน์จากตรงนี้ และต้องยอมรับด้วยว่ามันไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน อาจจะมีความพยายามในการที่บอกว่า อยากจะแก้ปัญหานักโทษล้นคุก แต่ถามจริงๆ ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงๆ หรือเปล่า แล้วคนที่บอกว่านักโทษล้นคุก แต่สุดท้ายได้อภิสิทธิ์ไปอยู่กันนอกคุก เอาเข้าจริงอาจจะมีแค่คนที่มีเงินเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาของระเบียบนี้ไม่ใช่แค่เอื้อต่อคุณทักษิณเท่านั้น แต่ปัญหาของระเบียบนี้ยังสร้างหลายมาตรฐานที่ทำให้เกิดการบริหารที่ไม่เป็นธรรมภายในเรือนจำอีกด้วย”

ประเด็นที่สอง เฉพาะตัวนายทักษิณ แน่นอนต้องยอมรับว่าเราอาจจะเคยมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่านายทักษิณไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เคยถูกรัฐประหาร ซึ่งเราเข้าใจ แต่ถ้าสุดท้ายการที่นายทักษิณเข้ามาแล้วใช้ความเป็นวีไอพี ก็จะเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ และนำไปสู่การตั้งคำถามว่า "ตกลงแล้วทำไมคุณทักษิณถึงมีอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่าประชาชนคนไทยคนอื่น"

ถ้าพูดในเชิงกฎหมายระเบียบราชทัณฑ์ที่มีรองรับอาจจะไม่ผิด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องยอมรับว่าการใช้อำนาจหน้าที่ที่ท่านมีตามกฎหมาย ให้ดุลพินิจแก่ท่านไปในลักษณะที่ทำให้นายทักษิณไปอยู่ที่ชั้น 14 ได้ ก็อาจจะมีข้อวิจารณ์ว่า "เป็นการใช้อำนาจแบบเลือกปฏิบัติ" เพราะยังมีนักโทษอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิ์แบบเดียวกัน และไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีข้ออ้างว่ามีการป่วย แต่เรารับรู้ว่านักโทษจำนวนมากที่ล้มป่วย ทั้งโรคผิวหนัง ทั้งปัญหาสุขภาพเรื้อรัง หากเอาตัวเลขมากาง มีนักโทษกี่คนในประเทศที่มีปัญหาสุขภาพแล้วได้รับสิทธิ์ไปอยู่เป็น 120 วันอย่างนายทักษิณ ตนคิดว่าน้อยมาก หรืออาจแทบไม่มีด้วยซ้ำไป มีแค่นายทักษิณที่ได้ในลักษณะแบบนี้แล้วไปอยู่ในชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษ ไม่ใช่ห้องผู้ป่วยรวม

ดังนั้น ในวันนี้ต้องยอมรับว่านายทักษิณไม่ได้ผ่านกระบวนการอยู่ในเรือนจำแบบที่นักโทษปกติโดนกันด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อมีกระบวนการเช่นนี้ก็เป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ต้องฟังความเห็นจากแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งอาจอ้างได้ว่ามีปัญหาสุขภาพ อ้างว่าต้องพักรักษาตัว ตนเข้าใจ แต่อำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องได้รับรายงานกลับมาจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์อยู่แล้วเมื่อครบ 120 วันนั้น แม้รัฐมนตรีอาจจะไม่ได้มีอำนาจไปห้าม แต่รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับบริหารงานทั่วไป ได้มีการคุยกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์หรือไม่ว่า การที่ปล่อยให้คุณทักษิณไปอยู่ชั้น 14 ในลักษณะแบบนี้ แม้จะไม่ได้ขัดแย้งในทางกฎหมายแบบชัดแจ้ง แต่การทำแบบนี้อาจจะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติ และทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งรัฐมนตรีมีหน้าที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ

 “รัฐมนตรีทำอะไร วันนี้เรายังไม่ได้เห็นการชี้แจงที่เป็นรูปธรรม เป็นการบ่ายเบี่ยงที่ทำให้ความน่าเชื่อถือ และศรัทธาของกระบวนการยุติธรรมพังทลายลง ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณอายุเยอะ แต่ต้องยอมรับว่าพฤติการณ์ก่อนหน้านี้ คุณทักษิณแกดูเป็นคนที่สุขภาพดีมาก ตอนที่กลับมาประเทศไทยยังลุกนั่งในการกราบได้ แต่อยู่ๆ คุณทักษิณล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ มีความเป็นไปได้สองทางคือ 1.เรือนจำเราคงห่วยมาก เมื่อถึงปุ๊บอาจจะมีโรคไวรัสพิเศษที่เป็นอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ จนทำให้คุณทักษิณที่กลับมาจากต่างประเทศ อยู่ที่สนามบินยังดีๆ อยู่เลย แต่อยู่ๆ ก็ล้มป่วยกะทันหัน โดยไม่มีเวลาที่จะเข้าไปในเรือนจำเลยแม้แต่น้อย 2.เป็นทริกทางการเมืองที่ต้องการทำให้ตัวเองได้รับสิทธิพิเศษ จากประสบการณ์ที่ผมเคยอยู่ในเรือนจำ พูดกันตรงๆ ผมเคยเห็นนักโทษวีไอพีบางคนคุยกันเรื่องนี้ ทั้งอยู่ที่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล คำถามคือ จะยอมรับความจริงกันไหม หรือจะใช้ทริกทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือคนคนเดียว โดยที่ไม่ได้สนใจว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นยังไง”

ผมเข้าใจว่านายทักษิณซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะผ่านกระบวนการหลายๆ อย่างที่อยุติธรรมบ้าง ยุติธรรมบ้าง แต่ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่นายทักษิณจะได้รับ สิ่งที่เราต้องทำคือ ไม่ใช่แค่เลือกปฏิบัติเพื่อนายทักษิณคนเดียว แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องมองมวลรวมของระบบ เพราะยังคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการต่างๆ จำนวนมาก ไม่ใช่แค่นักโทษทางการเมือง ถ้าคุณต้องการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก ยังมีวิธีการที่อาจจะต้องย้อนกลับไปที่ศาลว่า การที่ศาลตัดสินโดยใช้ยี่ต๊อก หรือบัญชีกำกับการใช้ดุลพินิจของศาลในเรื่องต่างๆ และระเบียบของศาลที่ขาดความยืดหยุ่นในการให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ศาลได้มีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งวิธีการทั้งหมดที่กำลังทำอยู่ไม่ได้นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องการช่วยคลี่คลายปัญหานักโทษล้นคุก แต่คือการช่วยนักโทษวีไอพีบางคนให้มีที่จำคุกที่สุขสบายกว่าที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่านายทักษิณไม่เข้าข่ายนักโทษร้ายแรง จึงได้รับสิทธิ์ตามระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากมีโทษจำคุกเหลือน้อยกว่าหนึ่งปี

นายรังสิมันต์ บอกว่า จะร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ตนไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้ดูรายละเอียดว่ามีเกณฑ์อย่างไร แต่ต้องยอมรับว่านายทักษิณได้รับการอภัยโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ดังนั้นต้องมาดูว่าเวลาที่นับคือนับจากตอนไหน แต่เข้าใจว่ากฎหมายความมั่นคงซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีอัตราโทษค่อนข้างร้ายแรง อย่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีอัตราโทษถึง 7 ปี ตนไม่แน่ใจว่า เรานิยามคำว่า "ร้ายแรง" มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่มันร้ายแรงที่สุดคือ ความไม่เป็นธรรมของระบบกฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชนอย่างไม่เท่าเทียม

 “ผมคิดว่าผู้ที่เป็นรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรียุติธรรม อย่างนายทวี สอดส่อง ต้องใช้อำนาจของตนเองให้เป็นไปในลักษณะที่ทำให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนทุกคน ถ้ามีการเลือกปฏิบัติก็ต้องมีการแก้ไขจัดการ ตัวท่านเองอาจจะไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการ ท่านอาจจะไม่ได้มีอำนาจในทางแพทย์ที่จะไปวินิจฉัยโรค ท่านอาจจะไม่ได้มีอำนาจในการอนุญาตให้คุณทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เมื่อท่านได้รับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผมเชื่อว่าต้องทำอะไรซักอย่าง ท่านมีอำนาจในการกำกับให้ทุกองคาพยพของกระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่แค่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมไปถึงการทำให้ประชาชนมีศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย เราต้องยอมรับว่ากรณีคุณทักษิณอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น”

เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ของคณะกรรมธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 12 ม.ค.2567 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่

นายรังสิมันต์ บอกว่า ผมไม่รู้ว่าเขาจะให้เข้าหรือเปล่า ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าถึงเวลานั้นแล้ว สถานะของคุณทักษิณจะเป็นอย่างไร จะยังอยู่ที่เดิมไหม เพราะทุกอย่างก็ดูพร้อมในการช่วยเหลือคุณทักษิณหลากหลายประการ นี่คือสิ่งที่เราไม่อาจทราบได้

"ผมก็อยากให้สังคม รวมถึงหน่วยงานราชการ อย่าไปคิดว่าเอาตัวเข้าแลกแล้วจะคุ้มอย่างไร เรื่องนี้มีปัญหาแน่นอน และอย่าไปคิดว่าการเสียสละอะไรต่างๆ สุดท้ายจะคุ้มค่าต่อการแลกกับตำแหน่งราชการ หรือแลกกับชื่อเสียงของความเป็นข้าราชการเลย ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วกรณีนี้เป็นกรณีที่สองมาตรฐานจริงๆ มันมีปัญหาแน่นอน ระเบียบดังกล่าวที่ออกมาก็ต้องยอมรับว่าเป็นระเบียบที่อาจจะเอื้อไม่ใช่แค่กับคุณทักษิณ แต่เหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน แม้ทางรัฐบาลคงหวังช่วยคุณทักษิณ แต่ผลที่จะเกิดขึ้นคือจะเกิดนักโทษวีไอพีมากขึ้น ทำให้สุดท้ายแล้วไม่คุ้มกันกับความยุติธรรมที่เสียไป ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เราคงยอมไม่ได้ ที่จะปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีผู้รับผิดชอบอะไร”

หลายขั้นตอนถ้าเทียบระหว่างนายทักษิณกับนักโทษปกติ หรือแม้แต่นักโทษทางการเมืองที่โดนตัดสินด้วยอัตราโทษที่ร้ายแรงมาก โดยที่มีความผิดจากแค่ความคิดที่เห็นต่างเท่านั้นเอง อย่าง น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคก้าวไกล ก็ถูกตัดสินลงโทษ 6 ปี และไม่ได้รับการอภัยโทษอะไรทั้งนั้น จากการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์แค่สองทวีต ดังนั้น ตนคิดว่าเมื่อมององค์รวมของความยุติธรรมวันนี้ของเรามีปัญหามากๆ จนอยากจะเตือนสติผู้มีอำนาจว่า อย่าทำแบบนี้เลย ตนว่าทำให้มันถูกต้องแล้วถ้าท่านอยากจะใช้ หรือแก้ไขปัญหาในเรื่องความอยุติธรรม ที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรได้รับ เรามาช่วยกันทำ และเราสามารถทำได้ ตนคิดว่ามีกระบวนการทางออกที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับความชอบธรรมทางการเมือง ทางสังคม และได้รับการตอบรับจากประชาชนอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่สนระบบกฎหมาย ไม่สนใจในมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำแบบนั้น เราก็แทบจะไม่มีความยุติธรรมที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป

เมื่อถามว่ากรณีนี้จะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่

นายรังสิมันต์ บอกว่า นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ในการที่จะต้องควบคุมกำกับดูแลรัฐมนตรีของตัวเอง แม้ว่านายทวีจะมาจากต่างพรรค แต่นายเศรษฐาก็มีหน้าที่ที่จะต้องกำกับดูแล

ถ้ามีการใช้อำนาจหน้าที่ที่มีลักษณะของการระบบทำลายกระบวนการยุติธรรมแบบที่เป็นอยู่ ถามว่าคุณเศรษฐามีความรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ตนขอบอกว่า ไม่มี ถามว่านายกฯ ไม่รู้หรือ ก็ไม่ได้ คุณไม่รู้ไม่ได้ เพราะคุณเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อเรื่องปรากฏแบบนี้ มีการพูดถึงในวงกว้างในสังคมขนาดนี้ นายกรัฐมนตรีรู้แน่นอน ถ้านายกรัฐมนตรีนิ่งเฉย คุณก็มีความผิด คำถามคือ จะผิดทางการเมืองอย่างเดียว หรือจะผิดทางกฎหมายด้วย ก็ต้องไปว่ากันอีกครั้งในทางกฎหมาย ว่าอาจจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

แต่ในทางการเมืองแน่นอนว่าก็คงต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองตามมา ส่วนจะรับผิดชอบแค่ไหน เป็นหน้าที่ของสภาที่จะต้องดำเนินการ แต่ไม่ว่าจะใช้กลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะนำไปสู่การถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหลังจากไม่ได้รับความไว้วางใจก็แล้วแต่ ก็ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะสุดท้ายเป็นเรื่องของการที่จะต้องใช้มือในการโหวต ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เจอในหลายๆ กรณี ที่เรายังทำไม่สำเร็จ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีเช่นนี้ที่ปรากฏขึ้น ตนคิดว่าถ้ารัฐบาลอยากแก้ไข ยังมีเวลาในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกในเรื่องความไม่เท่าเทียมของกระบวนการยุติธรรม "ผมเชื่อว่าคุณเศรษฐายังพอมีเวลาอยู่บ้าง แต่จะทำไหม"

เมื่อถามถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังที่นายทักษิณพ้นโทษ

นายรังสิมันต์ บอกว่า ไม่อยากทำนายเยอะ แต่ผมเชื่อว่าคุณทักษิณก็คงไม่ได้อยู่บ้านเฉยๆ แน่นอน แต่จะมีผลแค่ไหน ตอบยากมาก ไม่อยากประเมินมาก เพราะในช่วงที่คุณทักษิณมีบทบาทค่อนข้างมาก

"ต้องยอมรับว่าผมยังไม่ได้อยู่ในแวดวงทางการเมือง ดังนั้น ผมว่าให้ท่านที่เป็นกูรูทางการเมืองช่วยกันประเมินดีกว่า แต่แน่นอนว่าต้องเฝ้ามองเรื่องนี้กันต่อไป".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด'พรบ.ธ.ก.ส.' แจกเงินหมื่น‘ลูกผีลูกคน’อีกแล้ว

ภาพ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง นำทีมหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มาแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบหลักการ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา

‘บิ๊กโจ๊ก’ดิ้นสู้หัวชนฝา ยื้อแผน‘ฆ่าให้ตาย’

ความเคลื่อนไหวของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เที่ยวล่าสุด ถือเป็นการเขย่าวงการการเมือง ตำรวจ และองค์กรอิสระ