ศาลรัฐธรรมนูญ-ม.53 ด่านสกัด'แจกเงินหมื่น'

ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิจารณาข้อกฎหมายในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหมื่น ทำได้หรือไม่ ตามที่ขอหารือไปเมื่อปลายปีที่แล้ว 

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งเรื่องมาที่รัฐบาล จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง รวมถึง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง พยายามให้ข่าวตีกินทำนองว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา “ไฟเขียว” และจะจ่ายให้ประชาชนตามกำหนดเดิมในเดือน พ.ค.นี้

กระทั่งความจริงมาปรากฏเมื่อ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า ไฟเขียว พร้อมอธิบายว่า ประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว 

โดยเสนอให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 แม้ก่อนหน้า รมช.จุลพันธ์จะอ้างมีมาตรา 57 ด้วย   

"เลขาฯ ปกรณ์" บอกว่า การให้ความเห็นครั้งนี้ยึดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตอบอย่างนั้นเป๊ะ ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอนครับ และถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. 

 ส่วนจะบอกว่าเศรษฐกิจเข้าวิกฤตหรือไม่... "คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีข้อเสนอแนะใด ผมเป็นนักกฎหมาย ผมชี้ไม่ได้ว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์" เลขาฯ กฤษฎีกากล่าว

สำหรับที่ปรึกษาของรัฐบาลให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561  

โดยมีสาระสำคัญว่า "การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการโดย 'เร่งด่วน' และ 'ต่อเนื่อง' เพื่อ 'แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ' โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน"

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเงื่อนไขของมาตรา 53 พบว่ามี 4  ด่านสกัด ที่รัฐบาลจะต้องปรับบทสถานการณ์ให้เข้ากับข้อกฎหมายเพื่อเข็นผ่านให้ได้ 

ประกอบด้วย ข้อ 1 เร่งด่วน คำถามคือ ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่าน 2 สภา สภาละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอาจต้องใช้เวลานาน

ข้อ 2 ต่อเนื่อง คำถามคือ โครงการนี้ไม่ได้ต้องการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาท แจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน ตามนโยบายที่หาเสียงของพรรคเพื่อไทย และนายกฯ ก็ยืนยันว่าจะไม่ทยอยจ่ายเงิน 

ข้อ 3 แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ คำถามคือ วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤตหรือไม่ มีเพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ยืนยันเรื่องตรงนี้ สวนทางกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติ หรือนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่เห็นด้วยตรงจุดนี้ หากเทียบกับช่วงยุคโควิด-19

ข้อ 4 ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน คำถามคือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 พึ่งเข้าสภาไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค. และรับหลักการในวันที่ 5 ม.ค. แต่กลับไม่ยอมบรรจุงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้ และยังถือว่าย้อนแย้งกับตอนที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับ กกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 ว่าจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และยืนยันตอนหาเสียงว่าจะไม่มีการกู้เงินมาแจกอย่างแน่นอน 

เมื่อดูเงื่อนไข 4 ประการของมาตรา 53 ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะมีด่านสกัดอีกมาก มิพักต้องพิจารณาเงื่อนไขในมาตราอื่นๆ มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 57 ที่อาจทำให้ตกม้าตายได้ทุกเมื่อ 

สำหรับขั้นตอนต่อไป รัฐบาลเตรียมนำข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานต่างๆ อาทิ แบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ จากนั้นก็ให้กระทรวงการคลังไปยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเข้า ครม.ต่อไป  

ซึ่งต้องจับตาว่าจะมี ครม.พรรคร่วมรัฐบาลไม่เข้าประชุม หรืองดออกเสียงหรือไม่ แม้ทุกพรรคจะยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนนโยบายบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่มีสงวนความเห็นไว้ว่าต้องถูกต้องตามกฎหมาย 

สมมุติว่า ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูข้อกฎหมายอีกครั้ง ก็ต้องดูว่ามีอะไรท้วงติงอีกหรือไม่ ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายต่อไป 

ในขั้นของสภา รัฐบาลมี 314 เสียง จาก 500 เสียง ก็จะพยายามเข็นผ่านไปได้ แต่ในขั้นตอนของวุฒิสภาเป็นสิ่งที่น่าห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะมี สว.ตัวตึงหลายคนออกมาส่งเสียงเตือนไว้ล่วงหน้า และบางคนต้องการทิ้งทวนก่อนอำลาตำแหน่งในเดือน พ.ค.นี้

โดยเตือนว่าหากยังดันทุรังก็เสี่ยงคุกทั้ง ครม. หรือถึงขั้นต้องเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ เพื่อสังเวยโครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทย 

อย่างไรก็ตาม แม้ สว.จะปัดตกกฎหมายไม่ได้ แต่ก็มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม หรือยับยั้งร่างกฎหมายได้ ในทางการเมือง หากมีการยับยั้งกฎหมายโดยสภาสูง ก็เรียกว่ารัฐบาลเสียงรังวัดเป็นอย่างมาก และถือเป็นเผือกร้อนที่โยนกลับให้สภาล่างจะกล้ายืนยันร่างกฎหมายหรือไม่ 

หากสุดท้ายสภายืนยันร่างเดิมตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมาถึงด่านสำคัญสุดคือศาลรัฐธรรมนูญ ที่เปิดโอกาสให้ สส.และ สว.ยื่นตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้มีบทเรียนมาแล้วในสมัยพรรคเพื่อไทยยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เคยดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และสุดท้ายถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากบทสรุปเป็นเช่นนั้น อาจมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยนายกฯ ลาออกหรือยุบสภา  

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มองแง่บวกถือเป็นทางลงของพรรคเพื่อไทย พร้อมอ้างกับประชาชนว่าได้พยายามผลักดันเต็มที่แล้ว แต่ถูกสกัดโดยศาลรัฐธรรมนูญ และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับไว้ อีกทั้งก็ไม่ได้ถูกคว่ำกฎหมายตั้งแต่วาระแรกของสภา. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.