เคลื่อนต่อเอาผิด เครือข่ายช่วยเหลือ "ทักษิณ"

จับทิศทางกระแสสังคมได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนในสังคมมองว่า การที่ทักษิณได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ ทั่วประเทศ จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมถูกวิจารณ์ว่าอยู่ในยุคเสื่อมถอย ผู้คนในหลายภาคส่วนจึงเริ่มคิดว่า อาจถึงเวลาที่สังคมต้องเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คือ "ตำรวจและดีเอสไอ-อัยการ-ศาล-กรมราชทัณฑ์-กรมคุมประพฤติ" ก่อนที่ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยจะเสื่อมถอย ประชาชนสิ้นศรัทธาไปมากกว่านี้!

ไม่ได้ผิดความคาดหมายมากนักกับการนัดชุมนุมเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 12-14 ม.ค. ของ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่มี 2 แกนนำคือ พิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ เป็นหัวหอกหลักในการเคลื่อนไหวเรื่องนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้นัดชุมนุม บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสายวันอาทิตย์ที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

ภาพรวมการเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องยอมรับว่า ยังไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองให้กับ

ทักษิณ ชินวัตร-รัฐบาล-กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจ

 ได้มากนัก เพราะจำนวนคนมาร่วมกิจกรรมไม่มากเท่าใด

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า ขณะนี้ผู้คนในสังคมเกิดกระแสความรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมองว่ากรณีของทักษิณทำให้กระบวนการยุติธรรม-การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยไม่มีความหมาย ขาดความศักดิ์สิทธิ์ 

จากความจริงเชิงประจักษ์ที่ก็เห็นชัด กรมราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจเลือกปฏิบัติกับทักษิณจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า

ความยุติธรรมสีดำ

จนคนในสังคมเห็นไปในทางเดียวกันว่า การบังคับใช้กฎหมายมีการเลือกปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือคนบางคนที่มีอำนาจทางการเมืองและการเงิน จนทำให้ระบบราชทัณฑ์ของประเทศไทยกลายเป็นเรื่องตลก และคนในสังคมเห็นว่า ถ้อยคำสวยหรูของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และกระทรวงยุติธรรมที่เคยเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะยึดหลักและฟื้นฟู หลักนิติธรรม สุดท้ายเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูในหน้ากระดาษ ที่ไปแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะสุดท้ายไม่เกิดขึ้นจริง หลังเกิดกรณีทักษิณ

อย่างไรก็ตาม การที่ความเคลื่อนไหวของ คปท.เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจยังไม่ถึงจุดพีก คนยังมาไม่มาก ที่ก็คงย่อมทำให้ทักษิณมั่นใจมากขึ้นว่า การที่ตัวเขาและเครือข่ายมีการช่วยเหลือกัน จนทำให้ทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่คืนเดียว นับแต่กลับมาเมื่อ 22 ส.ค.2566 สุดท้ายแล้วความไม่พอใจที่เกิดขึ้น ก็แค่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย หรือวงสนทนาตามวงกาแฟ วงสุราและวงข้าวเท่านั้น ยังไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง จนทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องรีบพาตัวทักษิณออกจาก รพ.ตำรวจ กลับไปนอนคุกที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด 

พูดง่ายๆ ฝ่าย ทักษิณ-เพื่อไทย คงมองว่าม็อบกดดันนักโทษทักษิณยัง ปลุกไม่ขึ้น-จุดไม่ติด

ดังนั้นหลังจากนี้เชื่อว่าทักษิณจะยื้ออยู่ รพ.ตำรวจต่อไป จนครบกำหนดไปถึงช่วงประมาณวันที่ 22 ก.พ. ที่ทักษิณถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ การพักการลงโทษ เพราะถือว่าเข้ารับการรับโทษมาแล้ว 6 เดือน หลังมีการพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี อันจะทำให้ทักษิณได้รับการพักการลงโทษ แต่ขณะนี้ก็จะยื้ออยู่ รพ.ตำรวจต่อไปเรื่อยๆ แม้ต่อให้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ ก็ตาม ก็จะไม่สนใจ

ขณะเดียวกันต้องจับตาว่า ในช่วงระหว่างนี้ไปจนถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทักษิณและทีมทนายความอาจจะใช้อีกวิธีหนึ่ง คือใช้ช่องทางตาม ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค.2566

โดยจะรอให้ คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ที่ตั้งขึ้นมาตามระเบียบดังกล่าว ที่มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน มีการประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาว่านักโทษคนใดที่จะได้รับการพิจารณาให้ออกจากเรือนจำไปถูกคุมขังนอกเรือนจำ

วิเคราะห์ไว้ว่า หากทักษิณเลือกไปเข้าช่องทางตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามระเบียบข้างต้น ก็อาจมีการประกาศให้ รพ.ตำรวจเป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ เพื่อควบคุมตัวทักษิณอย่างเป็นทางการ หรือจะประกาศให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นพื้นที่คุมขังนอกเรือนจำก็ได้ แต่แนวโน้มก็น่าจะเป็น รพ.ตำรวจมากกว่า

ซึ่งหากกระบวนการต่างๆ ออกมาตามนี้ ก็จะทำให้การอยู่ รพ.ตำรวจของทักษิณ จะปลดล็อกเรื่องต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ เช่น ความเห็นแพทย์ในการตรวจรักษา-ใบรับรองแพทย์ต่างๆ เพื่อหาเหตุผลให้ทักษิณได้อยู่ รพ.ตำรวจต่อ เรื่องทางการแพทย์ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

จากนั้นทักษิณก็อยู่ รพ.ตำรวจไปเรื่อยๆ จนถึง 22 ก.พ.2567 ที่ถึงตอนนั้นก็จะครบประมาณ 6 เดือน เพื่อไปเข้าหลักเกณฑ์การพักการลงโทษ ที่สุดท้ายก็ทำให้ทักษิณไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวตามที่เคยประกาศไว้มาตลอด

โดยถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นทักษิณไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวเกิดขึ้นจริง!!!

สำหรับท่าทีของ คปท.ที่เป็นหัวหอกหลักในการตรวจสอบและเคลื่อนไหวนอกสภาฯ เรื่อง ทักษิณจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อจากนี้

พิชิต-แกนนำ คปท. เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 16 ม.ค. จะเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อขอพบกับเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ก่อนหน้านี้ คปท.ได้เคยไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการพานายทักษิณออกจากเรือนจำมาที่ รพ.ตำรวจ เช่น ผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์-นายแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับโทษมีคดี เพราะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งจะมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกา ในกรณีที่หากการไปพบกับเลขาธิการ ป.ป.ช.แล้วพบว่าเรื่องที่ยื่นไปไม่มีความคืบหน้า โดยหากออกมาแบบนี้ คปท.ก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้ศาลฎีกามีการตั้งองค์คณะมาไต่สวนเอาผิด ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236

ส่วนเรื่องที่มีการมองกันว่า การเคลื่อนไหวของ คปท.กระแสสังคมยังไม่เอาด้วย หรือม็อบจุดไม่ติดนั้น  2 แกนนำ คปท.คือ  พิชิต และนัสเซอร์ ยีหมะ มีทัศนะต่อเรื่องนี้

โดย นัสเซอร์ มองว่า ช่วง 100 กว่าวันที่ คปท.เคลื่อนไหวและพูดเรื่องทักษิณ เหมือนกับการปลุกพื้นจิตใจ ปลุกฟื้นกระบวนการขึ้นมาใหม่ ให้คนที่เคยต่อสู้ได้เห็นว่า ภารกิจหน้าที่การงานในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของผู้บริหารบ้านเมืองมันยังไม่จบ ปรากฏการณ์ของนักโทษชายทักษิณ คือปรากฏการณ์ของการจัดการปัญหาเหล่านี้ของภาคประชาชนมันไม่สะเด็ดน้ำ ส่วนคำถามว่า ทำไมถึงปลุกไม่ขึ้น คิดว่าอย่าไปมองปรากฏการณ์ กปปส.แล้วมาอธิบายการพูดถึงนักโทษชายทักษิณ มันคนละปัจจัย เพราะรอบนี้ไม่ใช่การปลุกประชาชน แต่เป็นการออกมายืนหยัดในหลักของบ้านเมือง ปลุกกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรม ที่ต้องใช้เวลา

“การชุมนุมไม่จำเป็นต้องเริ่มจากปริมาณ การชุมนุมที่สำคัญ มีน้ำหนักและแหลมคมที่สุดก็คือ เหตุและผล และประเด็นในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นแล้ว สังคมไทยต้องเรียนรู้ใหม่กับการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า ปริมาณไม่ใช่ตัวชี้วัด แต่อยู่ที่ประเด็นและเหตุผลต่างหาก หากคนที่เขาอยู่บ้าน แต่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ก็สามารถแอกชันอยู่ที่บ้านก็ได้”

ขณะที่ พิชิต ไชยมงคล ให้มุมมองในประเด็นนี้ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า ถึงตอนนี้กรณีของทักษิณคิดว่าปลุกขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลด้อยค่าพลังของพี่น้องประชาชนเกินไป ต้องบอกว่าการปลุกขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่ได้วัดจากจำนวนคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุม แต่อยู่ที่สังคมคิดแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราพูดหรือไม่

“วันนี้คนในสังคม ผมคิดว่าเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คิดตรงกับพวกเรา คปท. แค่นี้ผมก็คิดว่ามันปลุกขึ้นแล้ว”

หลังจากนี้รอดูต่อไปว่า กรณีของนักโทษชายทักษิณ ภาคส่วนต่างๆ จะมีท่าทีและการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป

กระนั้นจับทิศทางกระแสสังคมได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนในสังคมมองว่า การที่ทักษิณได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ ทั่วประเทศ จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมถูกวิจารณ์ว่าอยู่ในยุคเสื่อมถอย

ผู้คนในหลายภาคส่วนจึงเริ่มคิดว่า อาจถึงเวลาที่สังคมต้องเรียกร้องให้มีการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คือ

ตำรวจและดีเอสไอ-อัยการ-ศาล-กรมราชทัณฑ์-กรมคุมประพฤติ

ก่อนที่ระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยจะเสื่อมถอย ประชาชนสิ้นศรัทธาไปมากกว่านี้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’เป้าหลัก‘พิชิต’เป้ารอง ‘อำนาจเก่า’เขย่า‘แม้ว’แรง

สถิตินายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคพลังประชาชนจนมาถึงปัจจุบัน กับศาลรัฐธรรมนูญ ลงเอยไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

ฟันธง 'เศรษฐา' ไม่รอด ถึงเวลาทบทวน 'ดีลลับการเมือง'

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ฟันธงล่วงหน้า เศรษฐารอดยาก ไม่เกี่ยวกับดีลการเมือง

เศรษฐาหลุดนายกฯคนที่4..? ศาลรธน.เปิดห้องไต่สวนคดี

การทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นับจากนี้เชื่อได้ว่าจะขาดสมาธิในการทำงาน และต้องคอยพะวงกับการสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ในคดี 40 สว.ร้องกรณีทูลเกล้าฯ พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีแน่นอน

ถึงบางอ้อ! 'เพื่อไทย' ดูงานกัมพูชา 'ทักษิณ' ดัน 'อุ๊งอิ๊ง' นั่งนายกฯ 'สมชาย' เป็นปธ.สว.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยินดีล่วงหน้า คุณทักษิณ ออกจากรพ.ตำรวจ คนที่มาเยี่ยมคนแรกคือ ฮุนเซ็น อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

'พิชิต' ลาออกก็ไม่จบ 'เศรษฐา' ตกที่นั่งลำบาก ส่งสัญญาณถึง 'ทักษิณ' รอรับผลคดี 112

'พิชิต' เด็กปั้นจันทร์ส่องหล้า ลาออกก็ไม่จบ 'จตุพร' คาด 'เศรษฐา' ตกที่นั่งลำบาก ส่อถูกสั่งหยุดทำหน้าที่นายกฯ เชื่อส่งสัญญาณถึง 'ทักษิณ' รอรับผลคดี 112 เย้ยจะสู้หรือมอบตัว ฟาดเกมอภิสิทธิ์ชนเปิดศึกเผชิญหน้า ส่วน ปชช.หดหู่ไม่ได้ประโยชน์อะไร