ศึกอภิปรายรัฐบาล3-4เม.ย. บทพิสูจน์ฝีมือฝ่ายค้าน แตะทักษิณ สภาระอุ!

หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

กลางสัปดาห์นี้ วันที่ 3-4 เม.ย. ไฮไลต์สำคัญทางการเมืองก็คือ การประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152

ที่จะเป็นเวทีแรกอย่างเป็นทางการของฝ่ายค้านชุดปัจจุบัน ที่มี พรรคก้าวไกล เป็นหัวหอกหลัก พร้อมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย ที่จะร่วมกันทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่บริหารประเทศมาร่วม 7 เดือน

แน่นอนว่าเมื่อเป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ดีกรีความเข้มข้นก็จะลดโทนลงมา จะออกมาในแนวตรวจสอบ-ให้คำแนะนำ แต่ยังคงเป็นเวทีซักฟอกอยู่ เพียงแต่ความเข้มข้นไม่ถึงกับขั้น

ลากไส้-ถลกหนัง-เอาให้ตายกันไปข้าง

แบบการซักฟอกไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อเป็นเวทีแรกในการตรวจสอบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มันก็ทำให้ฝ่ายค้านต้องทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อใช้เวทีนี้แสดงฝีมือการทำงานออกมาให้ประชาชนเห็น

จะว่าไป หลายคนเชื่อว่าแม้จะไม่ใช่เวทีซักฟอกรัฐบาล แต่ด้วยผลงานที่พรรคก้าวไกลเคยทำให้เห็นมาแล้วสมัยเป็นฝ่ายค้านในสภาสมัยที่แล้ว อีกทั้งกับสภาชุดปัจจุบัน สส.ก้าวไกลก็แจ้งเกิดได้หลายคน และทำหน้าที่ในการอภิปรายเวทีต่างๆ เช่น เวทีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในวาระหนึ่งและวาระสาม หรือเวทีรัฐบาลเศรษฐาแถลงผลงานต่อรัฐสภาได้ดีระดับหนึ่ง

เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ สส.ในการ ตั้งกระทู้สด ถามรัฐมนตรี-ฝ่ายบริหารแต่ละสัปดาห์ ก็ถือว่าทำหน้าที่ใช้ได้

อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาก็กรณี รังสิมันต์ โรม ที่ตั้งกระทู้สดถาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กรณี นักโทษเทวดา ทักษิณ ชินวัตร

ที่แม้จะถูกขวางจาก "องครักษ์พิทักษ์ทักษิณ จาก สส.เพื่อไทยไม่ให้ตั้งกระทู้-อภิปรายพาดพิงทักษิณ จนถูกเบรกตลอด แต่มันก็เป็นสัญญาณการเมืองที่ทำให้เห็นได้ว่า การอภิปรายรัฐบาลรอบนี้ ฝ่ายเพื่อไทยคงต้องมีการเซตทีมองครักษ์พิทักษ์ทักษิณกลางสภา เพื่อคอยเบรกเกมไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิงถึงทักษิณ

เหตุเพราะหากดูจากญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาฯ ก็จะพบว่า ยังไงฝ่ายค้านล่อเป้ารอถล่มทักษิณแน่นอน เพราะมีการระบุไว้ในญัตติตอนหนึ่งว่า "มีการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมายและการเมือง”

สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติครั้งนี้ มีเนื้อหาใจความโดยสรุปดังนี้

...ด้วยคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมานตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว แต่มิได้ดำเนินการหรือปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน ไม่จริงใจ ไม่ตั้งใจ เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายของตนที่ได้ให้ไว้ต่อรัฐสภา ขาดประสิทธิภาพหรือความชัดเจนแน่นอน ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายหรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายเร่งด่วนสวนทางกับความเป็นจริง

ญัตติดังกล่าวระบุตอนหนึ่งด้วยว่า การดำเนินการของรัฐบาลตามนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ล้วนขาดยุทธศาสตร์และการปฏิบัติที่ตรงเป้าหมาย

...นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังมีพฤติกรรมที่ทำลายความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเอารัดเอาเปรียบประชาชน ระบบราชการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย แทนที่จะเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรม กลับเกิดการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมายและการเมือง...ไร้ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายต่างประเทศยังไม่สามารถฟื้นฟูบทบาทสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลกได้

“หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมตามที่พี่น้องประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย จะได้นำเสนอสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะ และซักถามข้อเท็จจริงต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน” ญัตติของฝ่ายค้านระบุ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น

ในส่วนของพรรคหลักคือ พรรคก้าวไกล มีข่าวว่าทางแกนนำพรรคจะมีการพิจารณารายชื่อ สส.ที่จะลุกขึ้นอภิปรายและการจัดเรียงประเด็นการอภิปรายกันในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และจะมีการนัดคุยกันรอบสุดท้าย วันอังคารที่ 2 เมษายน

โดยขณะนี้มี สส.ก้าวไกลแจ้งความจำนงจะขออภิปรายและประเด็นที่จะอภิปรายต่อแกนนำพรรคไว้แล้วร่วม 34 คน

ซึ่งรายชื่อและประเด็นที่จะอภิปราย คนที่จะสกรีนรอบสุดท้าย ข่าวบอกว่าคือ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน

 เบื้องต้นทางพรรคจะแบ่งการอภิปรายออกเป็นประเด็นต่างๆ เพื่อให้การอภิปรายร้อยเรียงไปทางเดียวกัน เป็น part-part จะได้ทำให้การอภิปรายมีการรับลูก-ส่งลูกกันเป็นทอดๆ ประเด็นจะได้ไม่ตกหล่น เรียงกันไปแบบซีรีส์แอ็กชันของ Netflix ที่แต่ละประเด็นในการอภิปรายต้องมี

ฉากบู๊-ซีนเดือด-ข้อมูลเด็ด

เช่น เมื่ออภิปรายเรื่อง การเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะให้ สส.ของพรรคอภิปรายให้จบประเด็น แล้วก็เป็นประเด็นต่อไป เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ก็จะมีการอภิปรายให้จบประเด็นไป จากนั้นก็เป็นประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องความมั่นคง ทหาร กองทัพ และการจัดซื้ออาวุธ ก็ให้อภิปรายจบหมวดไปเลย แล้วก็ตามด้วยประเด็นอื่น เช่น ปัญหาข้อกล่าวหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน พอมาประเด็นนี้ สส.ของก้าวไกลก็จะอภิปรายไปในทางเดียวกัน เพียงแต่อาจจะแยกกระทรวงกันออกไปตามข้อมูลที่แต่ละคนมีและพรรคจัดกลุ่มหัวข้อไว้ โดยจะมีประเด็นอื่นๆ เสริมเข้าไป เช่น ปัญหาเรื่องนโยบาย ส.ป.ก.เป็นโฉนด หรือ ส.ป.ก.โฉนดทองคำ ก็จะมีการอภิปรายเช่นกัน ที่จะนำการอภิปรายโดย อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่มีข้อมูลเรื่องนี้พอสมควร เพราะเคยเป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ ของสภาสมัยที่แล้ว เป็นต้น

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทีเด็ดในการอภิปรายของก้าวไกล คาดว่ายังน่าจะอยู่ที่ สส.ตัวหลักของพรรค เช่น รังสิมันต์ โรม ที่อาจจะอภิปรายเรื่องทักษิณ ชินวัตร รวมถึงไม่แน่อาจจะมีการอภิปรายเรื่อง ปัญหาวงการสีกากี ที่เกิดขึ้นระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จากปมปัญหาเรื่องการรับผลประโยชน์จากเว็บพนันเถื่อน

ที่ก็น่าจับตาเช่นกันว่า ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลจะอภิปรายเรื่องนี้หรือไม่ และจะอภิปรายอย่างไร

เพราะเป็นที่รู้กันในแวดวงการเมืองว่า คนของก้าวไกลบางคนที่เป็นหัวหอกการอภิปรายของก้าวไกลมาตลอด มีความสัมพันธ์อันดีกับบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล จนได้ข้อมูลไปอภิปรายเรื่อง "ตั๋วช้าง” ที่ทิ่มไปที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ โดยตรง

ทำให้มีการจับตากันว่า หากก้าวไกลจะอภิปรายเรื่องปัญหาในวงการสีกากี ข้อมูลและประเด็นที่จะอภิปรายจะเป็นบวกกับฝ่ายบิ๊กโจ๊ก แต่เป็นลบกับฝ่ายบิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ใช่หรือไม่?

สำหรับการอภิปรายก็จะเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ คือพอเริ่มประชุม ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา จะเป็นคนอ่านญัตติของฝ่ายค้าน แล้วจากนั้นก็อภิปรายเติมเต็มญัตติแบบลงลึกเพื่อทำให้แต่ละข้อกล่าวหาตามญัตติมีน้ำหนัก ทะลุทะลวง เข้าเป้าทางการเมือง ตามที่แกนนำพรรคก้าวไกลคุยกันไว้

ข่าวหลายสายอ้างว่า ตัวหลักที่พรรคก้าวไกลล็อกเป้าไว้รออภิปรายหนักๆ รอบนี้ ก็คือ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ในฐานะผู้นำรัฐบาล

สำหรับเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ข่าวบางกระแสบอกว่าฝ่ายค้านอาจอภิปรายด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะนายกฯ ในฐานะประธานบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต บอกว่าให้รอความชัดเจนวันที่ 10 เม.ย.

พอเป็นแบบนี้ ทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้าน หากจะอภิปรายเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตจะกลายเป็นประเด็นที่เบาลงไปทันที เพราะทุกอย่างยังลอยๆ อยู่ อภิปรายไปก็จะเหมือนเดิม เพราะคาดหมายได้ว่าตัวเศรษฐา หรือจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ก็จะชี้แจงแบบตีกรรเชียงได้ว่า ให้รอคำตอบจากบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 10 เม.ย. ทำให้ประเด็นดิจิทัลวอลเล็ตอาจแค่มีติดไว้ แต่ไม่ใช่ประเด็นใหญ่

ขณะเดียวกัน ในส่วนของฝ่ายค้านพรรคการเมืองอื่น เช่น ประชาธิปัตย์ ก็น่าจับตาเช่นกัน เพราะพรรคคงส่งขุนพลตัวหลักและ สส.รุ่นใหม่ขึ้นเวที เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ก็ใช่ย่อย โดยตัวหลักที่จะนำทีมคาดว่าจะเป็นจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ก.ตร. ไฟเขียวแต่งตั้ง 43 นายพลสีกากี 'สุรพงษ์ ชัยจันทร์' ผงาดที่ปรึกษาพิเศษตร.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นประธานเพื่อประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 3/2567 โดยมีวาระการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ

นายกฯ เผย ก.ตร. มีมติส่งคำร้อง 'บิ๊กโจ๊ก' ให้ฝ่ายวินัยพิจารณาอีกรอบ ปมสั่งช่วยราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 3/2567 ว่า วันนี้วาระสำคัญของการประชุมนอกจากแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ยังมีเรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร้องขอความเป็นธรรมทั้งหมด ทั้งที่มีต่อตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และประธาน ก.ตร.

นายกฯ มั่นใจคุณสมบัติ 'พิชิต' ถามกฤษฎีกาแล้ว อุบ 'มาริษ' แทน 'ปานปรีย์'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเตรียมร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

'หมอวรงค์' ฟันธง! เพื่อไทยกำลังตกต่ำ ทำลาย 'หมอชลน่าน' จนหมดราคาเป็นเพียงลูกจ้างบริษัท

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำ โดยส่วนตัว ผมกับหมอชลน่าน