สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

สำหรับปฏิทินการได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ กรอบกว้างๆ ก็คือ หลังพ้นจากวันที่ 10 พ.ค. ก็จะต้องรอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือก สว.ภายใน 15 วัน ที่ก็คือไม่เกิน 25 พ.ค. และจากนั้นจะเปิดรับผู้สมัคร สว.ภายใน 5 วัน ที่ก็จะอยู่ในช่วง 25-30 พ.ค.

และตามด้วยการประกาศรายชื่อผู้สมัคร ในช่วง 31 พ.ค.-4 มิ.ย. และเข้าสู่การเลือก สว.ในระดับอำเภอ ตามด้วยระดับจังหวัดและระดับประเทศต่อไป

ซึ่งกรอบกว้างๆ ก็คือ แนวโน้มน่าจะได้รายชื่อ สว.ชุดใหม่ 200 คน ภายในเดือน ก.ค.นี้ แต่เชื่อว่าหลังจากนั้นคงมีกระบวนการร้องเรียน-ยื่นฟ้องอะไรต่างๆ ตามมาอีกเพียบจากคนที่พลาดหวัง เพื่อร้องเรียนกระบวนการคัดเลือก สว.ทั้งระดับอำเภอ-จังหวัดและระดับประเทศ ว่ามีการทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบตามมามากมาย โดยเฉพาะการร้องเรียนผู้สมัครที่เข้ารอบ 200 คนสุดท้ายว่า ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

ที่ก็อาจทำให้ สว.ชุดปัจจุบันอาจต้องรักษาการไปสักระยะ เพื่อรอให้ กกต.ประกาศรับรองผลการคัดเลือก สว. และทันทีเมื่อ กกต.รับรอง แล้ว สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็จะทำให้ สว.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากการเป็น สว.ไปทันที

สำหรับ เงินเดือน-รายได้ค่าตอบแทน ของ สว.ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ หลักๆ ก็มีเช่น หากเป็น ประธานวุฒิสภา ก็จะได้ค่าตอบแทนคือ เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 45,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 119,920 บาท

รองประธานวุฒิสภา จะได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท             ส่วนคนที่เป็น สว.ธรรมดา ก็จะได้เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท

โดย สว. 1 คนจะมีผู้ช่วยทำงานได้ 8 คน โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท, ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 30,000 บาท ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว 5 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 75,000 บาท

ขณะเดียวกัน การเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ก็เริ่มมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นหลากหลายมากมาย

โดยหลายคนแสดงความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการเลือก สว.ที่จะมีขึ้น และการประเมินโฉมหน้า สว.ชุดใหม่ที่จะเข้าไปทำหน้าที่

เช่น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต สว.กรุงเทพมหานคร ปี 2543 ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้เมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้ง สว.ครั้งนี้เป็นการเลือกให้ได้ตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีในประเทศไทย แต่ปรากฏว่ากติกากำหนดให้มีการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม แต่ละกลุ่มอาชีพจะได้รับเลือกตัวแทนไปเป็น สว.กลุ่มละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 200 คน

หากพิจารณาในหลักการที่ว่า อาชีพใดมีประชากรจำนวนมาก ก็ควรมีสัดส่วนของ สว.ที่เป็นตัวแทนของอาชีพนั้นจำนวนมาก 

ผู้มีอาชีพเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน เป็นคนส่วนมากผู้มีสัดส่วนประชากรที่สูงกว่าอาชีพอื่นรวมกัน แต่ด้วยวิธีการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็น 20 กลุ่ม ได้ สว.กลุ่มละ 10 คนเท่าๆ กัน แบบที่กฎหมายกำหนด ทำให้ตัวแทนของเกษตรกรไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ ทำสวน ทำปศุสัตว์ หรือทำประมง และผู้ใช้แรงงานทุกประเภทรวมกัน จะมีตัวแทนเพียงไม่เกิน 5 กลุ่มอาชีพ ซึ่งหมายถึงมีจำนวน สว.ที่เป็นตัวแทนอาชีพของคนส่วนมากน้อยกว่า 50 คน จากจำนวนทั้งหมด 200 คน

กติกาที่กำหนดจำนวน สว. ในแต่ละอาชีพจึงไม่เป็นธรรม และเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้เห็นภาพของ สว.ที่จะได้รับว่าเป็นตัวแทนของคนกลุ่มอาชีพชนชั้นสูงในสังคมไทย

นอกจากนี้ เจิมศักดิ์-อดีต สว. ยังมองว่า วิธีการการเลือกตั้งได้กำหนดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพของแต่ละอำเภอเลือกกันเอง ผู้สมัครคนหนึ่งจะลงคะแนนได้ 2 คะแนน (เลือกตัวเอง 1 คะแนนก็ได้) แล้วนับคะแนนเพื่อนำเอาผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 คนแรกเป็นตัวแทน ที่เหลือตัดทิ้ง ซึ่งมีความหมายว่าผู้สมัครที่เหลือทั้งหมดจะหมดสิทธิ์เป็น สว.และหมดสิทธิ์ที่จะเป็นผู้เลือก สว.อีกต่อไป

...หากผู้มีอิทธิพลหรือที่เรียกว่าบ้านใหญ่หรือพรรคการเมืองใหญ่ ส่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพในจำนวนที่มากพอควร และจัดตั้งให้เลือกผู้สมัคร 5 คนที่กำหนดไว้ ผู้สมัครของตนคงจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ส่วนผู้สมัครรายอื่นๆ ที่เป็นอิสระ เลือกกันเองคะแนนจะแตก โอกาสที่จะได้จะน้อยมากๆ

เมื่อพรรคหรือผู้มีอิทธิพลส่งผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพแล้วดำเนินการเช่นเดียวกัน ก็จะได้คนของตน 5 อันดับแรกทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ ในรอบต่อไปจะให้เลือกไขว้กลุ่มอาชีพอย่างไรก็จะได้ผู้สมัครของตนทั้งสิ้น และเมื่อส่งผู้สมัครครบทุกอำเภอ ซึ่งจังหวัดหนึ่งอาจจะมี 4-5 อำเภอ เมื่อเลือกกันเองในระดับจังหวัด ก็จะได้คนของตนทั้งสิ้น จะมีหลุดรอดไปบ้างคงเป็นจำนวนน้อย หากผู้มีอิทธิพล พรรคการเมืองแบ่งงานกัน เพื่อแยกดำเนินการในแต่ละจังหวัด เมื่อนำตัวแทนที่ได้จากแต่ละจังหวัดมารวมกัน แล้วเลือกกันเองในระดับประเทศ ก็จะได้คนของพวกเดียวกันมาเป็น สว. และจะได้จำนวน สว.ของตนเป็นส่วนมากใน 200 คน โดยไม่ยาก และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการซื้อเสียงที่เคยปรากฏในอดีต

ซึ่ง เจิมศักดิ์-อดีต สว. มองไว้ว่า ทั้งหมดนี้เรียกว่าการบล็อกโหวต ที่บล็อกจะเอาพวกเดียวกันเท่านั้น คนอื่นถูกตัดทิ้ง การเลือกไขว้กลุ่มอาชีพที่หวังว่าจะทำให้บล็อกโหวตเกิดขึ้นได้ยากนั้น มีจุดอ่อนอยู่ที่ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในรอบแรกในกลุ่มอาชีพของตนจนเหลือ 5 คนแรก ก่อนที่จะให้มีการเลือกไขว้

 “น่าสนใจว่าการเลือกตั้งวิธีพิสดารที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและที่ใดในโลก แต่กำลังจะเกิดกับการเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ เราจะได้ สว. ที่ยึดโยงกับพรรคการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างไม่ต้องสงสัย เจิมศักดิ์ระบุทิ้งท้าย

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดมาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ปี 2543-อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมุมมองว่า การเลือก สว.ที่จะมีขึ้น เชื่อว่าจะมีเครือข่ายพรรคการเมือง-เครือใหญ่บ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด พยายามส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็น สว.ด้วยการสนับสนุนให้ลงสมัคร สว.เพื่อให้ผ่านการคัดเลือกจากอำเภอไปสู่ระดับจังหวัดและไปลุ้นในระดับชาติ

“จะมีคนที่อยู่ในเครือข่ายของบ้านใหญ่แต่ละจังหวัดเยอะ ยิ่งกลุ่มบ้านใหญ่เสียหน้าเสียศักดิ์ศรีไปเยอะจากผลการเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ที่คนของบ้านใหญ่สอบตกล้มระเนระนาด ที่แพ้ในระบบคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงระบบเขตด้วย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเขาต้องเอาแน่ เพราะการจัดการตรงนี้ มันไม่ยากไปกว่าการเลือกตั้ง สส. คราวนี้การเลือก สว. เขาไม่พลาดแน่ นพ.นิรันดร์วิเคราะห์

อีกทั้ง นพ.นิรันดร์ ยังย้ำว่า จากที่กล่าวข้างต้น องค์ประกอบต่างๆ ที่บอกทำให้ผมเชื่อว่า สว.ชุดใหม่ที่จะออกมา ถ้าประชาชนเฉยเมย ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตาม รวมถึงหากสื่อไม่เข้าไปติดตามทำข่าวการเลือก สว. ไม่รณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของ สว.ที่จะเข้าไป ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกลั่นกรองกฎหมาย จะทำให้บรรยากาศการเลือก สว.ก็จะเงียบ พอมันเงียบ ก็มีโอกาสที่ สว.จะถูกครอบงำและถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้

ทัศนะข้างต้นคือความเห็นและแนววิเคราะห์จาก 2 อดีต สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มองโฉมหน้าของวุฒิสภาชุดใหม่ 2567.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567