ม็อบทวงสัญญามาตามนัดสะท้อนอำนาจรัฐอ่อนแรง

เกือบ 1 ปีภายหลังการชุมนุมครั้งสุดท้ายของ P-move ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสะท้อนถึงปัญหารายกรณีและเชิงนโยบายที่เรื้อรังมาหลายชั่วอายุในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยยังไม่ได้รับการตอบสนอง ตามที่ได้แถลงการณ์ไว้ 12 บวก 3 ข้อ 

“สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล พวกเรา ขปส.ไม่อาจทนรอให้โอกาสรัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยระบบออนไลน์อีกต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

ทำให้เมื่อวานนี้กลุ่มผู้ชุมนุมตัดสินใจเคลื่อนขบวนจากหน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ไปปักหลักชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถ.พิษณุโลก ยอดประมาณ 500 คน โดยประกาศพักค้างคืนจนกว่าจะเป็นที่พอใจ

กลุ่มตัวแทนสลับกันปราศรัยโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประเด็นรับเรื่องไปแล้วไม่ช่วยเหลือแก้ไขความเดือดร้อน 15 ข้อ อาทิ ปัญหาพื้นที่ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย คนชายขอบ แรงงานค่าครองชีพ ราคาสินค้า ระบบสาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล และความเหลื่อมล้ำของประชาชนกับอำนาจรัฐ ยืนยันหากยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแบบลายลักษณ์อักษร จะปักหลักชุมนุมไปจนถึงเดือนหน้า

ขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเข้ารับข้อเรียกร้อง ระบุว่า วันที่ 31 ม.ค. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานการประชุมด้วยระบบซูมด้วยตนเอง

เมื่อพิจารณาดูจากข้อเรียกร้องนับได้ว่าเป็นหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย สะท้อนการยกระดับไปสู่เรื่องหลักการ และแตะที่เรื่องโครงสร้างกฎหมาย

อาทิ 1.ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแล การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) 2.ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ 3.ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

4.กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน 5.รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ....

6.ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ.ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบ ใหม่ๆ 7.ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้

8.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน 9.ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก 10.รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มีแนวทางที่ชัดเจน 11.แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553

12.กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน

ที่ผ่านมามีคนของเครือข่ายเข้าไปร่วมในกระบวนการกลั่นกรอง นั่งในคณะกรรมการบางชุดบ้าง เช่น เรื่องธนาคารที่ดิน แต่ก็เป็นเศษเสี้ยวของการรับข้อเสนอทั้งหมด 

การตัดสินใจจัดการชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลตอบสนองข้อเรียกร้องในช่วงนี้นับเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากรัฐบาลกำลังมีความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ และความไม่ลงรอยระหว่าง 2 ป. และไม่ต้องโยงกับม็อบสามนิ้ว ที่ปัจจุบันแกนนำไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมหรือถือธงนำได้ เนื่องจากเกรงว่าจะขัดเงื่อนไขการให้ประกันตัว

แต่ในพื้นที่จัดกิจกรรมก็ยังพบแนวร่วมหลายคน รวมถึง “ฮาร์ดคอร์” ที่หายหน้าไปพักใหญ่เข้ามาสังเกตการณ์ ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวจะยืดเยื้อและหลีกเลี่ยงการปะทะ สลายการชุมนุมได้นานแค่ไหน!!

ขณะที่ P-move คงประเมินว่าช่วงเวลาที่ “อำนาจรัฐ” อ่อนแอ ผู้มีอำนาจแตกคอ การออกเคลื่อนไหวชิงความได้เปรียบน่าจะบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีเหล่าบรรดา “บิ๊ก” ฉวยโอกาสยอมตามข้อเรียกร้อง เพื่อหาคะแนนนิยมทางการเมือง ในพื้นที่ชายขอบหวังสร้างฐานเสียงในอีสาน-เหนือ ทุกอย่างน่าจะลื่นไหลไม่ติดขัด

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ม็อบที่น่าจะออกมาชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องรายวัน กดดันให้รัฐช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณรอด-ไม่รอด คดี 112 มีผล พท.ดัน กม.นิรโทษฯ

ทักษิณ ชินวัตร มีคิวนัดหมายสำคัญทางการเมือง กลางสัปดาห์นี้ พุธที่ 29 พ.ค. เพราะเป็นวันที่อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งคดี 112 กรณีทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงหนีคดีอยู่ต่างประเทศ เมื่อปี 2548 จนถูกดำเนินคดีและอัยการสูงสุดช่วงปี 2548 คือ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร มีความเห็นสั่งฟ้องทักษิณทำผิด 112

อย่าโทษคนอื่น! ดร.รัชดา ซัดถ้า นายกฯ ไม่เสนอชื่อบุคคลขาดคุณสมบัติ ใครก็ทำอะไรไม่ได้

ถ้านายกฯไม่เสนอชื่อบุคคลที่อาจพิจารณาได้ว่าคุณสมบัติย้อนแย้งกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ใครที่ไหนก็ทำอะไรไม่ได้

อดีตรองอธิการบดี มธ. เชื่อศาล รธน.วินิจฉัยคดี ‘นายกฯ’ เป็นคุณต่อประเทศแน่นอน

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน มีความรู้ ผ่านการทำงานใหญ่มามากมาย มีความเป็นอิสระ ทั้งยังมีความเที่ยงธรรม

‘เศรษฐา’เป้าหลัก‘พิชิต’เป้ารอง ‘อำนาจเก่า’เขย่า‘แม้ว’แรง

สถิตินายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคพลังประชาชนจนมาถึงปัจจุบัน กับศาลรัฐธรรมนูญ ลงเอยไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่