พลังงานยอมรับ ‘ก๊าซหุงต้ม-ไฟฟ้า’ ต้องขึ้นแน่ ชี้อุ้มดีเซลได้ถึงแค่ พ.ค.

พลังงานวุ่นเตรียมรับมือน้ำมัน-ไฟฟ้าราคาพุ่ง รับยังดูแลดีเซลต่อเนื่อง ลากราคา 30 บาทต่อลิตร ได้ถึง พ.ค. 65 ภายใต้น้ำมันดิบ 115 เหรียญ/บาร์เรล ก่อนเงินกู้งวดแรกเข้า แจงประชาชนรับมือก๊าซหุงต้มขยับ 1 บาทต่อกก. ด้าน ธพ. หารือผู้ค้าสำรองน้ำมันเพิ่ม 1% ยอมรับหนุนราคาขายปลีกเพิ่ม 60 สตางค์ แต่สร้างความมั่นคง 

11 มี.ค. 2565 – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าจากสถานการณ์พลังงานที่ผันผวน ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับราคาขายปลีกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ หรือสศช.) ศึกษาแนวทางรับมือวิกฤตราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนยืดเยื้อรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ ส่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร โดยจะใช้ความสามารถของกองทุนฯเข้ามาดูแล โดยปัจจุบันกองทุนยังมีกระแสเงินสดและเงินไหลเข้าอยู่เกินกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูแลได้จนถึงเดือนพ.ค. 2565 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่หลังจากนั้นจะมีเงินกู้ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ได้อีก 40,000 ล้านบาท เข้ามาดูแลในช่วงต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้เงินก้อนแรกในช่วงเดือนพ.ค. 65 เช่นเดียวกัน  

 ทั้งนี้เบื้องต้นรัฐจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ภาคครัวเรือน 15 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม(กก.) หรือขึ้นกก.ละ 1 บาท มาอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งจะหมดนโยบายดูแลในช่วง 31 มี.ค. 65 แต่ยังคงช่วยเหลือกลุ่มเปราะผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ที่ 45 บาท/ถัง 15 กก./3 เดือน  

“ซึ่งถ้าถามว่าถ้าเงิน 40,000 ล้านบาทหมด แล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องรอหลังจากนั้น ระหว่างนี้ต้องประหยัด ซึ่งรัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ถ้าราคาลดลงปกติ ยิ่งตรึงได้นานขึ้นอีก ซึ่งกระทรวงก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ที่ผันผวน จะเอาคำตอบเป๊ะ กลับบ้านไปนอนหลับสบาย ผมคิดว่าไม่ได้เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน ซึ่งตอนนี้ก็ต้องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินและโฟกัสไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยกระทรวงพลังงานพยายามหารือกับกระทรวงการคลัง โดยจะช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.5 ล้านคน รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้รถจักยานยนต์ที่ถือบัตรฯด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่าประชาชนที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกมีอยู่ 21 ล้านคัน จึงจะต้องดูจำนวนรถกับจำนวนผู้ถือบัตรเพื่อให้ข้อมูลนิ่ง ซึ่งจะเร่งให้ออกมาเร็วที่สุด  

ขณะที่ราคาไฟฟ้าต้องยอมรับว่าจะต้องปรับขึ้นแน่นอน ตามอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) แต่จะพยายามบริหารจัดการไม่ให้ขึ้นสูงมาก โดย กกพ.ได้ทำการบ้าน และพยายามทำให้อยู่ในกรอบเดิม ซึ่งมีแนวคิดจะช่วยประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าระดับไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,200 บาทต่อเดือนให้อยู่ในราคาเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมหางบประมาณว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่ายอมรับว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ขึ้นตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกินกว่าสมมติฐานที่ประมาณการราคาน้ำมันดิบไว้ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่สะท้อนต้นทุนจริงเพิ่มขึ้นไปเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได 16.71 สตางค์/หน่วย อย่างไรก็ตาม กกพ. จะพยายามบริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เพื่อประคองค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด 

ด้าน น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่ากรมได้มีการประสานไปยังโรงกลั่นทุกแห่ง ยืนยันมีแผนบริหารจัดหาปริมาณก๊าซธรรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือน แบ่งเป็นปริมาณน้ำม้นดิบสำรอง 5,686.44 ล้านลิตร และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูป 1,703.61 ล้านลิตร รวมกับปริมาณนำเข้าน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) 636 ล้านลิตร ขณะที่ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ย 123.25 ล้านบาร์เรล/วัน ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 119.88 ล้านลิตร/วัน 

“กรมได้เตรียมมาตรการรองรับวิกฤตพลังงาน โดยได้ประสานผู้ค้าน้ำมัน เพื่อเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย ให้ปริมาณน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปสำรองเพิ่มเป็น 2% จาก 1% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าน้ำมัน คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ โดยยอมรับว่าการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันทุก 1% ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 60 สตางค์/ลิตร”น.ส.นันธิกา กล่าว 

ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่าปัจจุบันกองทุนมีสถานะติดลบประมาณ 23,000 ล้านบาท ขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุน 2,700-3,000 ล้านบาท/เดือน แต่มีเงินไหลออกประมาณ 30,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งล่าสุดกองทุนชดเชยราคาดีเซลไปแล้วรวม 14 บาทต่อลิตร  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่รวมแล้ว 16 วัน ส่งผลกระทบให้เกิดความวิตกกังวลโดยตรงกับความผันผวนราคาพลังงาน ซึ่งราคาพลังงานผันผวนรุนแรงทั้งน้ำมันและก๊าซแอลเอ็นจีที่อยู่ในระดับสูง โดยเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นไปที่ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่าสูงสุดในรอบ 14 ปี ตั้งแต่ปี 2551 ส่วนก๊าซแอลเอ็นจี เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 84.37 เหรียญต่อล้านบีทียู 

ซึ่งรัสเซียหยุดการส่งออกทั้งน้ำมันและก๊าซทำให้ซัพพลายในตลาดตรึงตัว ความผันผวนหลายประเทศมีนโยบายการเก็บสำรองในประเทศมากขึ้น เช่น จีนมีการเก็บสำรองไม่ส่งออก ทำให้ราคาทั้ง 2 ปรับเพิ่มรุนแรง อีกทั้งโอเปกพลัส ยังคงปรับเพิ่มแค่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับการบริหารจัดการในประเทศไทยยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีผลกระทบ เนื่องจากมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียแค่ 3% ไม่กระทบสัญญาจัดหาในปัจจุบัน 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โออาร์-บางจากขึ้นราคาเบนซิน 40 สตางค์/ลิตร

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) และ บมจ.บางจาก ได้มีการประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันราคาเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 40 สตางค์/ลิตร