แบงก์พาณิชย์โกยกำไรไตรมาสแรกเฉียด5หมื่นล.

“ธปท.” โชว์กำไรแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 1/2565 โกยเต็มสูบ 4.94 หมื่นล้านบาท อานิสงส์สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.9% โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่-เอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคตุ๊บ หลังความเชื่อมั่นทรุดจากโอมิครอนพ่นพิษ พร้อมแจงปัญหาหนี้ครัวเรือนเหมือนโรคเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษา ขอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมก่อนออกมาตรการช่วยเหลือ

18 พ.ค. 2565 – นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2565ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2565จำนวน 4.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 11.8%โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.87%จากไตรมาสก่อนที่ 0.67%ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.45%

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2565 ขยายตัวที่ 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.5%โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่8.8%เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน โดยขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัวจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.3%สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับลดลงจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 3.4% ตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ด้านสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว อยู่ที่ระดับ 0.1% แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ระดับ 2.3% สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.6% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2565 ในภาพรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.31 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.93 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.09% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.39%

นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.01ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8%เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่9.09 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 165.6%และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192.5%

นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ยืนยันว่า ธปท. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด แต่เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลา และต้องดูจังหวะเวลาในการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ต้องทำอย่างรอบคอบและต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

“ปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่ไม่มียาวิเศษไหนออกมาแล้วรักษาได้หายเลย ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องใช้เวลา และทำอย่างรอบคอบ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย เมื่อสิ้นปี 2564 อยู่ที่ราว 90% ของจีดีพี โดย 2 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนปรับสูงขึ้นมาก มาจากมูลค่าจีดีพีที่ลดลงแบบช็อก โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือน 2 ใน 3 ที่เพิ่มขึ้น มาจากมูลค่าจีดีพีที่ลดลง ขณะที่อีก 1 ใน 3 มาจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และที่ผ่านมา ธปท. ได้เน้นมาตรการเพื่อช่วยให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่วนมาตรการที่เน้นแก้หนี้โดยไม่ช่วยให้มีรายได้ จะยิ่งผลักให้ประชาชนออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น ซึ่งการแก้หนี้ครัวเรือนที่จะสำเร็จได้ต้องควบคู่ไปกับการมีรายได้กลับมา ถ้าสถานการณ์นี้เป็นแค่ชั่วคราว เมื่อรายได้กลับมา มูลค่าจีดีพีก็จะกลับมาด้วย ก็น่าจะช่วยให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยดีขึ้น” นางสาวสุวรรณีกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ วันหยุดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษของสถาบันการเงิน

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 84/2567 เรื่อง การกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการ