‘ธปท.’ ชี้กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอ! ค่าครองชีพพุ่งต่อเนื่อง

‘ธปท.’ ชี้กำลังซื้อผู้บริโภคยังอ่อนแอ แนวโน้มค่าใช้จ่ายทะยานไม่หยุด หลังค่าครองชีพพุ่ง ราคาสินค้า-ค่าขนส่งขยับเพิ่มต่อเนื่อง แถมมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาครัฐหมดซ้ำเติม กดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก ด้านดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจ เดือน พ.ค. 65 เริ่มฟื้นหลังเปิดประเทศ สวนทางความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 51 ตามราคาพลังงาน-วัตถุดิบที่สูงขึ้น

3 มิ.ย. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentment Index : RSI) ประจำเดือน พ.ค. 2565 ทั้งภาวะปัจจุบันและในระยะ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ปรับลดลงจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนจากกิจกรรมนอกบ้านที่มากขึ้น แต่การปรับขึ้นราคาสินค้าหลายรายการตามต้นทุน และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐหมดลง ซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และกดดันการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก

โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภทห้างสรรพสินค้า ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending per bill) ปรับลดลง เพราะผู้บริโภคคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด จึงเริ่มออกมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ลดการประกอบอาหารในบ้าน ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นนั้น คาดว่าจะยังเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ในส่วนของการประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะราคาสินค้าขั้นพื้นฐานหลายหมวดที่ปรับแพงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าจำเป็น อีกทั้งยังพบว่าผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยว การกลับเข้าทำงานที่บริษัท และการเปิดภาคการศึกษา

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนพ.ค. 2565 ปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ 49.3 จากระดับ 48.2 เดือนเม.ย. 2565 จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยด้านการผลิต ผลประกอบการ และคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นตามนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น

ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับลดลงมาก และต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ตามราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับการประกาศยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในเดือนนี้ จึงทำให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนทยอยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลง และกดดันให้เกิดความเชื่อมั่นโดยรวมของเกือบทุกธุรกิจในภาคที่ไม่ใช่การผลิตปรับดีขึ้นได้ไม่มากนัก ยกเว้นกลุ่มค้าส่ง ที่คำสั่งซื้อและปริมาณการค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าเป็นการซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ราคาถูกลง เพื่อสะสมสต็อกหรือเพื่อล็อกต้นทุน

สำหรับภาคการผลิต ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นจากกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติกเป็นสำคัญ เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ทันที ส่วนความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตอื่นๆ ลดลงหรือทรงตัวโดยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ปรับลดลงจาก 54.1 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 52.4 จากการลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านต้นทุน โดยระดับความเชื่อมั่นลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.คลอดเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุนแก้ไขหนี้เสีย

ธปท.การออกหลักเกณฑ์ส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ