นายกฯเพิ่มจุดแข็งส่งออกสินค้าเกษตรใช้ฉายรังสีเพิ่มมูลค่าอาหารพื้นถิ่น

นายกฯเพิ่มจุดแข็งส่งออกสินค้าเกษตร สนับสนุนใช้นวัตกรรมนวัตกรรมฉายรังสีเพิ่มมูลค่าอาหารพื้นถิ่น เร่งเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ งานนี้ “ปลาร้า” ไม่ควรพลาด

31 ต.ค. 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2564  นายกรัฐมนตรี มีความเชื่อมั่นในมูลค่าการส่งออกปีหน้าว่าจะยังคงขยายตัวต่ออีกแน่นอน ด้วยยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต ที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการดำเนินการร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับภาคการผลิต มากไปกว่านั้น 

นายกฯยังได้ติดตามการขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมฉายรังสีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เกษตร ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมากขึ้นนำสินค้าผลไม้ อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง สมุนไพร อาหารสุนัข มารับการฉายรังสี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย (ฆ่าเชื้อโรค พยาธิ แมลง)ในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยยืดเวลาในการเก็บรักษา เช่น ผลไม้บางอย่าง จากปกติ มีอายุแค่3-6 วัน ก็ขยายได้เป็น 1 เดือน หรืออาหารแปรรูป ก็ขยายได้อีก 1 ถึง 2 ปี จึงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค

เพื่อต่อยอดการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลได้ขยายการส่งเสริมไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีมาตรฐานความปลอดภัย และยืดอายุการเก็บรักษา เป็นการเพิ่มโอกาสการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคกลาง จัดกิจกรรม Product Champion  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น อาทิ ปลาร้า ปลาเค็ม ปูเค็ม กบแดดเดียว กะปิ ผัดไทย แกงส้ม กล้วยตาก ผลไม้ดอง เป็นต้น อย่างน้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง เมื่อเชื้อโรคและสารปนเปื้อนในน้ำพริกได้ถูกจัดการผ่านการฉายรังสี จะมีอายุการเก็บรักษาได้นานออกไปอีก 1-2 ปี หรือปลาวงอบแห้งฉายรังสี สามารถยืดอายุการเก็บรักษาเพิ่มได้เป็น 12 – 18 เดือน สำหรับปี 2565  สทน. มีแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏในท้องถิ่นเช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลาง และยังมีแผนการดำเนินงานที่ขยายต่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ เพื่อพัฒนาอาหารพื้นถิ่นให้มีมาตรฐานและความปลอดภัยทั่วทั้งประเทศ  

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ สอดรับกับความต้องการในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย การฉายรังสีเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค พยาธิและแมลง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดในประเทศและการส่งออกได้ ซึ่งในหลายประเทศมีมาตรการชัดเจนที่กำหนดให้สินค้าเกษตรบางชนิดต้องฉายรังสีก่อน จึงจะนำเข้าไปจัดจำหน่ายในประเทศได้  อย่างกรณี “ปลาร้า” เป็นอาหารหมักดองซึ่งผู้บริโภคอาจไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย หากนำมาผ่านกระบวนการฉายรังสีก็จะแก้ข้อกังวลดังกล่าวได้ เป็นโอกาสให้ทำตลาดในลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ได้มากขึ้นอีก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีความสนใจ สามารถติดต่อไปที่ ศูนย์ฉายรังสี เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทร.0-2401-9889

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘รัฐบาล’ โอ่ประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออก ‘อัญมณี–เครื่องประดับ’

โฆษกรัฐบาล เผย รัฐประสบความสำเร็จ ขับคลื่อนการส่งออกอัญมณี – เครื่องประดับ เติบโตต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาถูกทาง เห็นผลเป็นรูปธรรม

นายกฯฟุ้งวางแผนส่งออกทุเรียนสร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท

นายกฯ รับฟังปัญหาเกษตรกรสวนทุเรียนสมุย ตั้งเป้าผลผลิตส่งออกไปไกลกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยันมาช่วยแก้ปัญหาไม่ได้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะมันจบไปแล้ว