ส่องเทรนด์การกิน“แมลง”แหล่งโปรตีนทางเลือก

7 มิ.ย.2565 – เทรนด์การบริโภคอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันมีวัตถุดิบหลายชนิดที่ถูกนำมาผลิตหรือแปรรูปเป็นอาหารรูปแบบใหม่ รวมถึงวัตถุดิบที่เดิมนั้นเราอาจจะมองว่ามันไม่ใช่อาหารหลักของมนุษย์สักเท่าไหร่ อย่างที่ตอนนี้คนเริ่มหันไปบริโภคแพลนต์เบสมากขึ้น หรืออาหารที่ผลิตโดยใช้โปรตีนจากพืชและไม่มีเนื้อสัตว์มาเจือปน อาทิ อาหารจากพืชตระกูลถั่ว หรือการใช้โปรตีนจากแหล่งพืชอื่นๆ และยังมีการทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ให้ผู้ที่ยังติดการบริโภคเนื้ออยู่นั้นสามารถหันมาบริโภคอาหารประเภทนี้ได้

ขณะเดียวกันยังมีแหล่งโปรตีนสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่สามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาเป็นอาหารรูปแบบต่างๆ จนสามารถสร้างกระแสการบริโภคได้เช่นเดียวกันกับแพลนต์เบส นั่นคือโปรตีนจากแมลง…

“อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้จึงอาจจะไม่มีการพาไปเที่ยว แต่อยากจะแนะนำให้ไปชิมแหล่งอาหารชนิดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในต่างชาติ และมีสัดส่วนการบริโภคและส่วนแบ่งการตลาดอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับความนิยม และเตรียมขึ้นแท่นเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างแน่นอน

“แมลง” สำหรับคนไทยนั้นอาจจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ จากการที่เห็นร้านแมลงทอด โดยเฉพาะในงานวัดที่จะมีให้เลือกหลากหลายชนิด ทั้งกลุ่มประเภทหนอน หรือสัตว์มีปีก แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาก้าวกระโดดไปอย่างมาก การนำแมลงที่ถูกศึกษามาเป็นอย่างดีแล้วว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีไม่ต่างจากเนื้อสัตว์เลยนั้น ก็เริ่มได้รับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเราจะได้ทานขนมเค้กที่ผลิตจากแมลงเกือบ 100% ได้

ในปัจจุบันแมลงถือเป็นโปรตีนทางเลือกที่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนการตลาดมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ รองลงมาคือ อาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือสัตว์น้ำ ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ผง แป้ง โปรตีนบาร์ และเช็ก (Shake) ขนมขบเคี้ยว ขนมอบ ลูกกวาด แมลงทั้งตัวแปรรูป และเครื่องดื่ม โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ในรูปผงจะขยายตัวมากกว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะการออกกำลังกายมีมากขึ้น ทำให้ต้องการโปรตีนแบบผง ซึ่งผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดจะมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

โดย ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้รับรายงานจาก สุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ถึงเทรนด์การเติบโตของตลาดการบริโภคแมลงในสหรัฐ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและน่าจับตามอง เพราะจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทยสำหรับสินค้าแมลง โปรตีนจากแมลง และอาหารจากแมลง

ซึ่ง สุปรารถนา ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า บริษัทวิจัยตลาด Meticulous Market Research Inc. ของสหรัฐ ได้ให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 2565-2573 ตลาดแมลงที่รับประทานได้จะมีอัตราการเติบโต 28.3% มีมูลค่า 9,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3,139,035 ตัน เติบโต 31.1% เนื่องจากเป็นโปรตีนทางเลือกที่อุดมไปด้วยสารอาหารและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ โดยรูปแบบที่บริโภคจะมีทั้งแบบผง แป้ง ผลิตภัณฑ์ในรูปมื้ออาหาร น้ำมัน และการรับประทานเป็นตัว ส่วนแมลงที่นิยมนำไปผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกได้แก่ จิ้งหรีด หนอน แมลงวันลาย หนอนนก หนอนควาย ตั๊กแตน มด หนอนไหม จักจั่น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จึงเห็นโอกาสในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์แมลงของไทยในสหรัฐ ที่ควรได้รับการพัฒนาด้านการผลิตให้เกิดความหลากหลายในรูปแบบเป็นสินค้าอาหาร เช่น การนำเสนอเป็นอาหารสำเร็จรูป เป็นของทานเล่น หรือโปรตีนบาร์ ควรเลี่ยงการทอดแมลงแต่หันไปใช้วิธีอบแห้ง และรวมไปถึงการพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์ โดยควรเน้นการใส่ซอง ถุง และมีรูปสวยงาม หรือใส่ขวดแก้ว ขวดพลาสติก อีกทั้งให้พิจารณาผลิตแมลงแช่แข็งซึ่งจะยืดอายุของสินค้าให้นานออกไป

ภูสิต กล่าวว่า ช่องทางการทำตลาดควรใช้ธุรกิจบริการอาหาร (ร้านอาหาร) เป็นช่องทางที่สำคัญของการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แมลง เพราะผู้ใช้คือ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ซึ่งจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหาร และการนำเสนอสินค้าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตอาหารสัตว์ และเบเกอรี่ เป็นต้น และควรเจาะตลาดผู้บริโภคฮิสแปนิก โดยเฉพาะชาวเม็กซิกันที่นิยมบริโภคแมลงเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรพิจารณาและประยุกต์สินค้าตามรสนิยมของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ควรใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เช่น amazon.com, ebay หรือ walmart.com จะเป็นตัวช่วยนำเสนอสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค

แสดงให้เห็นว่าภาพการบริโภคอาหารของคนในสังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่เทรนด์การบริโภคแมลงนั้นยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น และเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดและพัฒนาตลาดไปได้อีกกว้างขวาง ซึ่งคอยดูได้เลยว่าในอนาคตคนไทยเองอาจจะหันมาบริโภคแมลงกันมากขึ้นแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พาณิชย์-DITP' ส่งทูตพาณิชย์คุนหมิง ถกผู้บริหารด่าน เปิดทางสะดวกผลไม้ไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ส่งทูตพาณิชย์คุนหมิง หารือผู้บริหารด่านการค้า เปิดทางสะดวกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ตั้งแต่ เม.ย.นี้ พร้อมดันร้านอาหาร Thai SELECT เป็นจุดขายสินค้าและโชว์วัฒนธรรมไทย

'พาณิชย์-DITP' ชี้เป้าส่งออกอาหารทางเลือกขายตลาดเกาหลีใต้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยตลาดอาหารทางเลือก ทั้งอาหารจากพืชอาหารจากเซลล์เพาะเลี้ยงอาหารหมักจุลินทรีย์ และอาหารจากแมลงในตลาดเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ และรักษาสุขภาพสัตว์ชี้เป็นโอกาสอาหารทางเลือกของไทยที่จะเข้าไปเจาะตลาด โดยเฉพาะอาหารที่ผลิตจากถั่ว สาหร่าย หรือแมลง รวมถึงเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง

'พาณิชย์' ชี้เป้าผู้ประกอบการไทยใช้ TikTok Shop ขายสินค้าในเวียดนาม

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย ใช้ TikTok Shop ขยายตลาดสินค้าไทยในเวียดนาม หลังพบขยายตัวต่อเนื่อง แซงแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง จนขึ้นมาอยู่อันดับ 2 รองจาก Shopee และคนรุ่นใหม่นิยมใช้ เผยสินค้าขายดี แฟชั่น สุขภาพและการดูแลส่วนบุคคล อิเล็กทรอนิกส์ บ้านและไลฟ์สไตล์ และความงาม

'พาณิชย์' แนะผู้ประกอบการศึกษา 7 เทรนด์ธุรกิจอาหารเกาหลีใต้ ปี 67

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยแนวโน้มธุรกิจอาหารของเกาหลีใต้ปี 67 มี 7 เทรนด์ที่น่าจับตา ทั้งการบริโภคแบบระมัดระวังการใช้จ่าย การทดลองสินค้าใหม่และแชร์ออนไลน์ อาหารในอดีตกลับมานิยม การสนับสนุนการบริโภคสินค้าท้องถิ่น อาหารและเครื่องดื่มเฉพาะคนการบริโภคอาหารแคลอรีต่ำ และการให้บริการไร้พนักงานแนะผู้ประกอบการไทยศึกษาและนำมาปรับใช้ในการทำตลาด

'พาณิชย์' ชี้เป้าขายอาหารสัตว์วีแกน ออร์แกนิก เสื้อผ้าสัตว์ เจาะตลาดเยอรมนี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ศึกษาการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในเยอรมนี พบบูมทั้งอาหารสัตว์ บริการเพื่อสัตว์เลี้ยง และการรักษาสัตว์เลี้ยง หลังคนยอมจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยง เผยอาหารสัตว์วีแกน ออร์แกนิก และเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงมีโอกาสสูง

‘พาณิชย์’ เผยธุรกิจเครื่องสำอาง ร้านอาหาร มีโอกาสขยายตลาดในไต้หวัน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันในปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 พบนิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน ชินชากับเงินเฟ้อ ยอมจ่ายเพื่อซื้อความสุข มีความต้องการ ซื้อเครื่องสำอาง และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบรนด์ไทย รวมถึงร้านอาหาร