เข้าใจวิกฤตศรีลังกา เข้าใจการแก้ปัญหา

18 ก.ค. 2565 – ข่าวประเทศศรีลังกาล่มสลายจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทําให้มีความห่วงใยในบ้านเราว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤตอย่างศรีลังกาได้หรือไม่ และวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ศรีลังกาต่างกับวิกฤตที่ประเทศเราเคยเจอในปี 2540 อย่างไร ทั้งสองเรื่องเป็นคําถามและความห่วงใยที่ดี ในความเห็นของผม วิกฤตที่ศรีลังกากำลังเผชิญขณะนี้ต่างกับวิกฤตปี 2540 ของเราค่อนข้างมาก แต่ก็มีความคล้ายกันในเรื่องหนี้ต่างประเทศที่ตอนนั้นเรามีมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคเอกชน และ ณ จุดนี้โอกาสที่ประเทศเราจะเจอวิกฤตอย่างที่เกิดขึ้นที่ศรีลังกาคงมีความเป็นไปได้น้อย อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ศรีลังกาเกิดวิกฤตคือความผิดพลาดในการทํานโยบายของภาครัฐ ดังนั้น จำเป็นที่เราต้องเข้าใจและเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเราเกิดวิกฤต รวมถึงเข้าใจวิธีแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่ศรีลังกามีสาเหตุหลักมาจากสามเรื่อง

หนึ่ง โครงสร้างเศรษฐกิจศรีลังกาที่พึ่งพาการนําเข้าจากต่างประเทศมาก ซึ่งเป็นผลจากสงครามกลางเมืองในประเทศศรีลังกาที่ยืดเยื้อ กินเวลานานถึง 26 ปี (1983-2009) ทําให้ประเทศไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นฐาน คือ ชา เสื้อผ้า และการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อไม่มีอุตสาหกรรม ทุกอย่างรวมถึงนํ้ามันและอาหารก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอินเดีย ทําให้เศรษฐกิจศรีลังกาอ่อนไหวมากกับการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะมาใช้จ่ายชําระค่าสินค้า

สอง การใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ คือ เมื่อสงครามกลางเมืองจบ นักการเมืองก็มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทําอย่างใหญ่โต หนี้ต่างประเทศของศรีลังกาจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ประมาน 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้เหล่านี้ต้องการรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศมาชำระหนี้ ดังนั้น ถ้าการลงทุนที่รัฐบาลทำไปไม่ทําให้ความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศของประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศก็จะมีปัญหาในการชำระหนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวของศรีลังกามีเพียงปีละ 9-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศต้องใช้เงินตราต่างประเทศมากในการนําเข้าสินค้า ผลคือ ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศขาดดุลต่อเนื่อง

สาม ผลกระทบจากโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ผิดพลาด คือ การระบาดของโควิดในปี 2020 และ 2021 ทําให้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศแย่ลงมาก ประเทศสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากผลกระทบของโควิด ทําให้ประเทศขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะใช้จ่าย ขณะที่การระบาดของโควิดทําให้ศรีลังกาต้องนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะยาและเครื่องมือแพทย์ กดดันให้ประเทศยิ่งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น เงินรูปีจึงอ่อนค่ามาก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น กระทบกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชน

รัฐบาลแก้ปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศโดยเข้าควบคุมการซื้อขายเงินดอลลาร์ ให้ธนาคารพาณิชย์ขายเงินดอลลาร์ในอัตราที่ตํ่ากว่าราคาตลาดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ผลคือการขาดแคลนยิ่งมีมากขึ้นเพราะผู้นำเข้าหาซื้อเงินตราต่างประเทศในราคาควบคุมไม่ได้ และผู้ผลิตหยุดผลิตเพราะขายขาดทุนในราคาควบคุม ภาวะขาดแคลนจึงเกิดขึ้นกว้างขวาง ที่สำคัญ ผลผลิตเกษตรปีที่แล้วลดลงกว่าครึ่งจากนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชผลเกษตรแบบธรรมชาติที่จะขายได้ในราคาสูงในตลาดโลก แต่เกษตรกรปรับตัวไม่ทัน ผลผลิตจึงลดลง กระทบรายได้ การส่งออก และความเพียงพอของอาหารที่จะบริโภคในประเทศ ภาวะขาดแคลนอาหารจึงรุนแรงจนต้องนําเข้าอาหารจากต่างประเทศ

วิกฤตศรีลังกาเป็นกรณีคลาสสิกของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของภาครัฐ ที่สร้างหนี้ต่างประเทศที่สูงเกินความสามารถของเศรษฐกิจที่จะชําระคืน ล่าสุดฐานะการคลังของประเทศขาดดุลสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ เมื่อความสามารถในการหารายได้ของประเทศถูกกระทบ ประเทศก็ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่จะชำระหนี้และซื้อสินค้าที่จําเป็น นำประเทศไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร นํ้ามัน ยารักษาโรคและสินค้าที่จำเป็น พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง

สถานการณ์ของศรีลังกาเข้าสู่จุดวิกฤตในเดือนพฤษภาคม เมื่อประเทศผิดนัดชำระหนี้ คือ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามเวลาที่กําหนด ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ อัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ประเทศไม่มีนํ้ามันและไฟฟ้าใช้ ทุกอย่างต้องจัดสรรแบ่งปันขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงถึงขั้นวิกฤต คือเหลือเพียง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทําให้ศรีลังกาไม่มีเงินตราต่างประเทศที่จะใช้จ่าย เศรษฐกิจจึงหยุดนิ่งไม่สามารถทํางานได้

อย่างที่เป็นข่าว ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายทําให้ประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาล เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน กระจายไปทั่วประเทศแม้รัฐบาลจะเข้าปราบปราม มีคนเสียชีวิต จนในที่สุดทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีต้องหนีออกนอกประเทศ ล่าสุดประธานาธิบดีก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งมีหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่มจี 20 รวมถึงธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พร้อมที่จะช่วยเหลือ รอเพียงให้ศรีลังกามีการจัดตั้งรัฐบาลที่จะบริหารประเทศต่อไป

วิกฤตเศรษฐกิจที่ศรีลังกากําลังเผชิญอยู่ขณะนี้สามารถแก้ไขได้

ส่วนหนึ่งเพราะขนาดของปัญหาไม่ใหญ่ มีประชากรเพียง 22 ล้านคน และมีหนี้ต่างประเทศเพียง 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกส่วนก็เพราะคนศรีลังกาที่มีความรู้มีมากทั้งในศรีลังกาและในต่างประเทศ คนเหล่านี้มีประสบการณ์ที่สามารถช่วยเหลือประเทศได้ และในการแก้วิกฤต วิธีแก้ไขคงไม่พ้นการให้ความช่วยเหลือของประเทศต่างๆ ผ่านโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือสิ่งที่ต้องทำในการแก้ปัญหาคงไม่หนี 4 เรื่องนี้

จัดให้มีเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือระยะสั้นในรูป Bridge loan ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับศรีลังกา เพื่อให้ประเทศมีสภาพคล่องที่สามารถใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่จําเป็นได้ทันทีเพื่อลดการขาดแคลน ลดความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาทํางานได้

จัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันที่จะช่วยศรีลังกาให้มีการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือลดหนี้ เพื่อให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระในอนาคตเหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของศรีลังกาคือจีน

แก้ปัญหาเพื่อลดความไม่สมดุลที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่รัดเข็มขัด เช่น ลดการใช้จ่าย ปรับขึ้นอัตราภาษี และปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อกู้ฐานะการคลังของประเทศ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เพื่อนํามาสู่การลดอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เหล่านี้เป็นการกู้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อปูทางไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ปรับโครงสร้างและปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการผลิตของประเทศในระยะยาว เพื่อเสริมความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศและลดการพึ่งพาต่างประเทศ

นี่คือสิ่งที่ศรีลังกาและเจ้าหนี้ต้องทําเพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น และปูทางไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจศรีลังกาต่อไป

กรณีบทเรียน

ประเด็นสำคัญที่วิกฤตศรีลังกาชี้ให้เห็นคือ หนึ่ง การก่อหนี้ที่เกินตัวคือเกินความสามารถของประเทศที่จะชําระจะนำประเทศไปสู่วิกฤตแน่นอน สอง รัฐบาลต้องระมัดระวังในการก่อหนี้ ไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ทําให้การรักษาวินัยการเงินการคลังจะสําคัญมากในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤต เป็นสิ่งที่ผู้ทำนโยบายจะต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อไม่ให้ประเทศมีปัญหา.

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน