คลังชี้เศรษฐกิจ ก.ค. ยังแจ่มท่องเที่ยว-ส่งออก-รายได้เกษตรหนุนเต็มสูบ

“คลัง” ชี้ท่องเที่ยวยังแรง เดือน ก.ค. 65 ต่างชาติตบเท้าเข้าไทย 1.12 ล้านคน ส่งออกแกร่ง โต 4.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นไม่หยุด จับตาความขัดแย้งระหว่างประเทศหวั่นกระทบภาคการผลิต-ส่งออก

30 ส.ค. 2565 – นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย 1.12 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,126.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และเกาหลี ส่วนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 16.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,818.6% รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 10.7% ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.4 จากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น การผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น แต่ยังกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่4.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 โดยสินค้าที่ขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะอินเดีย ตะวันออกกลางอาเซียน และสหรัฐฯ

นายวุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ค. 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่1.1% ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 89.0 จากระดับ 86.3 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 จากความต้องการทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงค่าขนส่งที่ยังเพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การส่งออก และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง