ประเทศจะอยู่อย่างไรในโลกเศรษฐกิจใหม่

24 ต.ค. 2565 – โลกเศรษฐกิจใหม่ คือสิ่งที่จะมาแทนโลกเศรษฐกิจเก่า โลกเศรษฐกิจเก่า คือโลกเศรษฐกิจที่เรารู้จักเป็นอย่างดีซึ่งจากนี้ไปอาจไม่มีแล้ว ผมหมายถึงโลกเศรษฐกิจช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาที่เราคุ้นเคยที่สงบสุข มีสันติภาพ ไม่มีสงคราม การเมืองโลกมีเสถียรภาพ ประเทศต่างๆร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อเนื่อง ความยากจนลดลง ขับเคลื่อนโดยโลกาภิวัตน์ นวัตกรรม และการเติบโตของระบบทุนนิยม ขณะที่การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยก็กลายเป็นกระแสการเมืองหลักของสังคมโลก สี่งเหล่านี้คือโลกเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคยที่อาจกําลังเป็นอดีตเพราะเศรษฐกิจการเมืองโลกขณะนี้กําลังเปลี่ยนแปลงมากและจะทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

การเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงนี้คือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสามเรื่องที่กําลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก

อย่างเเรกคือภูมิศาสตร์การเมืองที่ประเทศหลัก ๆ ในโลกกําลังขัดแย้งกัน แบ่งได้เป็นสองจุดหรือสองความสัมพันธ์หลัก ความสัมพันธ์แรกคือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับกลุ่มนาโต้และสหรัฐ จุดให้ประทุขึ้นโดยปัญหาความมั่นคงระหว่างรัสเซียกับประเทศในกลุ่มนาโต้ ที่ได้นำไปสู่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันที่จะมีมากขึ้นตามมา ทําให้ความไม่สงบและการขาดสันติภาพในการเมืองระหว่างประเทศจะมีต่อเนื่อง

ความสัมพันธ์ที่สอง คือความขัดแย้งกับระหว่างสหรัฐกับจีนประทุขึ้นโดยการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องความเป็นมหาอํานาจทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่นับวันจะรุนแรง เป็นการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอํานาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลกที่นักการเมืองในทั้งสองประเทศพร้อมที่จะแข่งกันมากกว่าที่จะรอมชอม ทําให้ความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นและลากยาว

การเปลี่ยนแปลงที่สองคือเศรษฐกิจโลก ที่ผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิศาสตร์การเมืองโลกดังกล่าวจะทําให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม สำคัญสุดคือการจบสิ้นของระบบโลกาภิวัตน์หรือความหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกที่ประเทศทั่วโลกค้าขายระหว่างกันอย่างเสรี ภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจโลกที่เน้นการปฏิบัติตามกติกา(Rule-based) ดูแลโดยองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรการค้าโลกและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งหมดคือกลไกที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา

ตรงกันข้าม สิ่งที่จะมาแทนคือโลกที่แตกแยกทางเศรษฐกิจมากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจตามบริบททางการเมือง ประเทศในแต่ละกลุ่มจะค้าขายกันเองเป็นหลัก การค้าขายข้ามกลุ่มจะทำได้ยากขึ้น ผลคือการค้าโลกจะหดตัวขณะที่การลงทุนระหว่างประเทศจะลดบทบาทลง ในภาวะดังกล่าวประเทศต่างๆจะให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจมากกว่าจะพึ่งประเทศอื่นตามความถนัดทางเศรษฐกิจ หรือSpecialization และจะมองหากลุ่มเศรษฐกิจที่จะเป็นพันธมิตรร่วมค้าขายด้วยกัน เป็นลักษณะใหม่ของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่สวนทางกับโลกเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่เราคุ้นเคย

ผลกระทบสําคัญที่จะเกิดขึ้นคือ ต้นทุนการผลิตในเศรษฐกิจโลกจะสูงขึ้น ของทุกอย่างจะแพงขึ้นทั้งจากความขาดแคลนที่เป็นผลของสงคราม ราคาวัตถุดิบและพลังงานที่แพงขึ้น และจากที่สินค้าจะมีให้เลือกน้อยลงจากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อเคยตํ่าต่อเนื่องเป็นเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ของแพงหรือเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจโลกอย่างเช่นขณะนี้ และสร้างข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงที่สามคือ โลกจะไร้ระเบียบและไร้ความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ ทําให้ปัญหาสำคัญต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ประเทศต่างๆจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขจะไม่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาระยะสั้นเช่นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้มีความเสี่ยงที่ภาวะถดถอยจะบานปลายและสามารถเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ง่าย รวมทั้งมีปัญหาระยะยาวเช่นภาวะโลกร้อนที่เป็นความเป็นความตายของมนุษย์ชาติที่การแก้ปัญหาจะไม่คืบหน้า เพราะประเทศไม่พร้อมที่จะร่วมมือแก้ปัญหาอย่างพร้อมเพรียงกัน ที่สำคัญในโลกเศรษฐกิจใหม่ที่อำนาจเป็นใหญ่ ประเทศเล็กจะเสียเปรียบและถูกเอาเปรียบได้ง่ายเพราะประเทศใหญ่อาจไม่เล่นตามกติกา

นี่คือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้น คำถามคือ ประเทศขนาดกลางอย่างเราควรปรับตัวหรือเตรียมพร้อมอย่างไรกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจ

ผมว่าสิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความเป็นจริงก็คือความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง หมายถึง Realityคือ factsที่ไม่หนีไปไหน เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และความจริงก็คือคนในโลก 7.8 พันล้านคนยังต้องมีชีวิต ต้องบริโภคต้องกินต้องใช้ทุกวัน ขณะที่ภาวะโลกร้อนเป็นภัยที่คนทั้งโลกต้องการแก้ไขไม่ว่าจะขั้วการเมืองไหน นี่คือความจริงที่จะขับเคลื่อนการตัดสินใจและการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจในโลกไม่ว่าการเมืองโลกจะเปลี่ยนอย่างไร และที่สำคัญในทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นขณะที่เทคโนโลยีก็จะเป็นคําตอบ คือเป็นกลไก หรือ enabler ที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้สิ่งที่ต้องการทําสามารถทําได้อย่างสำเร็จ เป็นอย่างนี้มาทุกยุคสมัย

ดังนั้น ในคราวนี้การปรับตัวต่อโลกเศรษฐกิจใหม่ก็คือการเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและหาประโยชน์ที่จะมากับการเปลี่ยนแปลง เตรียมความพร้อมโดยสร้างความสามารถให้กับประเทศหรือธุรกิจที่จะหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยการใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์ของทรัพยากรที่ประเทศหรือธุรกิจมี นี่คือคำตอบ

ในระดับประเทศ สิ่งที่ต้องทำคือทําให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองหรือพึ่งสิ่งที่ประเทศมีให้มากสุดในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาต่างประเทศเช่นเรื่องพลังงาน และหาประโยชน์จากโลกเศรษฐกิจใหม่โดยโฟกัสให้ประเทศสามารถผลิตสินค้าที่คนทั่วโลกต้องการที่ประเทศไทยทําได้เก่งสุด ดีสุด มีความสามารถในการแข่งขันมากสุด ไม่มีใครหรือประเทศไหนทําได้ดีเท่า ตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพในทุกด้านที่จะผลิตและส่งออกเพื่อการบริโภคของประชากรทั่วโลก เพราะมีความพร้อมทั้งพื้นที่ภาคเกษตร องค์ความรู้ด้านวิชาการ บุคลากร และความสามารถของบริษัทธุรกิจที่จะทําให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ส่วนที่ขาดคือการบริหารจัดการในระดับนโยบายที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในทุกระดับเพื่อขยายผลผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นสากล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นคือประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำได้ดีสุดในเรื่องอาหาร ดูแลการส่งผ่านประโยชน์และรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรในประเทศอย่างเป็นธรรม (inclusive) เตรียมความพร้อม โดยเพิ่มมทักษะและความรู้ให้กับบุคลากรในภาคเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรไปสู่การเป็นผู้ประกอบกิจการ (Entrepreneurship) และรักษาความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ภาคเกษตรของประเทศ (Ownership) เช่นที่ดินให้อยู่ในมือเกษตรกรคนไทยต่อไป นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่จะทําให้ประเทศอยู่ได้และอยู่ได้ดีในโลกเศรษฐกิจใหม่แม้การเมืองโลกจะเปลี่ยน

สำหรับภาคธุรกิจ ข้อคิดที่อยากฝากไว้สำหรับการอยู่ในโลกเศรษฐกิจใหม่ที่จะประสพความสำเร็จคือ หนึ่ง ลดการพึ่งพาต่างประเทศมากเท่าที่จะลดได้เพื่อลดความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิต โดยหันมาใช้วัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศมากขึ้น และพร้อมลงทุนเพิ่อยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตในประเทศ สอง ลงทุนในดิจิตอลเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูล (data-driven) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สาม ใช้หลัก ESG ในการทําธุรกิจ คือ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

นี่คือโลกเศรษฐกิจใหม่ที่กําลังจะเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คําตอบอยู่ที่ความพร้อมทั้งในระดับนโยบายของประเทศที่ต้องปรับเปลี่ยนและในระดับบริษัทธุรกิจที่ต้องปรับตัว

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน