เอกชนวอนรัฐลดหย่อนภาษี-พักหนี้ช่วยโรงงานน้ำท่วม

2 พ.ย. 2565 – นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจส.อ.ท.โพล(FTI Poll) ครั้งที่ 22 เดือนต.ค.2565 หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่าผลกระทบของปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ 53.4% มีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและผลกระทบจากอุทกภัยในระดับปานกลาง ส่วนผู้บริหาร 28.4% กังวลมาก และผู้บริหาร 18.2% กังวลน้อย
“ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. 67.6% อยากให้ภาครัฐออกมาตรการให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 100% อีก 65.9% อยากให้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการจากอุทกภัย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” นายมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. 48.3% มีข้อเสนอให้รัฐตั้งกองทุนรับประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ ส่วน 43.8% เสนอให้สำนักงานประกันสังคมช่วยชดเชยค่าจ้างแรงงาน 50% ให้แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

โดยปี 2566 ผู้บริหาร ส.อ.ท. 47.7% มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุทกภัยมากกว่าผู้บริหาร 39.2% มีความกังวลต่อความเสี่ยงในการเกิดปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหา เป็นการบ้านที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและน้ำแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าการที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ไม่เพียงพอ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฟลัดเวย์ ประตูระบายน้ำ เป็นต้น ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและทำให้ภาคธุรกิจได้รับความเสียหาย

ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยขอให้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ เช่น ฟลัดเวย์ โครงการแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เป็นต้น รวมทั้งบูรณาการปรับปรุงผังเมือง ผังน้ำทั่วประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำอย่างเป็นระบบ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลูกจ้างโรงแรมเฮ 13 เม.ย เริ่มรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เตือนนายจ้างไม่จ่ายผิดกฎหมาย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานในประเภท

ผงะ! ผลตรวจพบ 8 คนงาน มีสารแคดเมียมสูงเกินมาตรฐาน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม กรณีพบกากแคดเมียมและกากสังกะสีผลการเก็บตัวอย่างแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน