พลังงานมั่นใจกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

30 ธ.ค. 2565 – แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือกับตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อทำความเข้าใจถึงราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าเอฟที 154.92 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ต้องจ่ายจริงที่หน่วยละ 5.33 บาทในรอบบิลเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงปัญหาหลักคือ กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ไม่เป็นไปตามเป้าหายไปเกือบ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาที่ต้องผลิตให้ได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากปัจจัยการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานและไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้รับการยืนยันจาก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานรายใหม่ว่าอยู่ระหว่างเร่งกำลังการผลิต

“กระทรวงพลังงานระบุว่ากลางปีหน้าจะเร่งกำลังผลิตให้ได้ราว 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และช่วงปลายปี 2567 จะสามารถอัปกำลังการผลิตได้ตามสัญญา ดังนั้น รองนายกฯ จึงอยากให้เอกชนเข้าใจและขอความร่วมมือให้ประหยัดพลังงานและฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปด้วยกัน พร้อมกับขอบคุณภาคธุรกิจที่ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจให้กับประเทศ” แหล่งข่าว กล่าว

รายงานข่าว ระบุว่า ในการหารือระหว่าง นายสุพัฒนพงษ์ กับ กกร. ในครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าร่วมหารือทั้ง ๆ ที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกรรมให้กับประเทศไทย โดยสื่อมวลชนได้สอบถามไปยัง นาย เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. ได้รับคำยืนยันว่า ติดภาระกิจของครอบครัวที่ได้มีการกำหนดวันเดินทางไว้ล่วงหน้าแล้ว และสอบถามไปยังตัวแทน ส.อ.ท. ก็ไม่มีใครสามารถเข้าร่วมหารือได้ เพราะติดภาระกิจและวางวันหยุดปีใหม่ 2566 เหมือนกันทุกคน

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับกำลังใจและข้อมูลสนับสนุนจากส.อ.ท. ในการผลักดันให้รัฐบาลช่วยทบทวนค่าไฟฟ้าของภาคเอกชน ส่วนตัวมองว่า จากนี้ต่อไปภาคเอกชน โดย ส.อ.ท. และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ควรผลักดัน แก้ไข โครงสร้างค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าพลังงานของประเทศ ในระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาวต่อไป ตามแนวทางที่เคยเสนอมาโดยตลอด

สำหรับมติ สำนักงาน กกพ. วันที่ 29 ธ.ค. 2565 พิจารณาค่าเอฟที งวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2566 นั้น ต้องยอมรับว่า เอกชนมีเวลาให้ผลักดันต่อสู้น้อยไปนิดนึงเมื่อเทียบกับ Deadline แต่การที่ภาครัฐ ยอมทบทวนค่าเอฟที ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการตื่นตัวของทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน ทั้งประชาชน และวงการสื่อมวลชน ก็น่าจะถือว่า ส.อ.ท. มาถูกทางในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งค่าไฟฟ้าที่ลดลงถือเป็นการบรรเทาปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหา

ทั้งนี้ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 มาที่ 17% และรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ขยับมาที่ 13% หากรวมกันก็ 30 % เข้าไปแล้ว ถือว่าหนักหนาสาหัสแล้วสำหรับธุรกิจ แต่เอกชนก็ต้องขอบคุณที่ภาครัฐยอมถอย ครึ่งก้าว รับฟังสิ่งที่ภาคธุรกิจนำเสนอ เพียงแต่ยังไม่ได้แก้ต้นเหตุของปัญหา ดังนั้น เอกชนก็จะเดินหน้าในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป

“ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนคณะทำงานข้อร้องเรียนค่าไฟฟ้า และค่าพลังงาน ภายใต้ นโยบายม One FTI ของนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. ในการขอขอบคุณ ทุกแรงใจ และคำแนะนำ ข้อเสนอแนะดีๆ ของทุกคน และเราจะเดินหน้าต่อไปในภารกิจนี้ ซึ่งในปี 2566 และต่อ ๆ ไป ด้วยความมุ่งมั่นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของเรา ตลอดจนความยั่งยืนของสังคม”อิศเรศ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอกต่อ 5 ข้อดีของการจ่ายบิลค่าไฟฟ้าผ่านทางออนไลน์

ในยุคดิจิทัลการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม การจ่ายบิลค่าไฟฟ้า ก็เช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันสามารถจ่ายบิลไฟฟ้าทางออนไลน์ได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันขอการไฟฟ้าเองก็ตาม นั่นจึงทำให้การจ่ายบิลค่าไฟฟ้าออนไลน์สะดวก

“กรมเจ้าท่า ร่วมกับ ปตท.สผ.” จัดฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เป็นประธานฯ เปิดการอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ครั้งที่ ๒ ณ ห้องประชุม ลากูนาคิงเอ โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา