ไม่พร้อม 'สหภาพรถไฟฯ' จี้คมนาคมทบทวนย้ายรถไฟทางไกล มาสถานีกลางวันที่ 19 ม.ค.นี้

“สหภาพรถไฟฯ” บุกกระทรวงคมนาคม ยื่นหนังสือถึง รมว.คมนาคม ตรวจสอบ-ทบทวนย้ายรถไฟทางไกล 52 ขบวน ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 19 ม.ค.นี้ จี้เปิดฟังเสียงประชาชนคนใช้บริการจริง

17 ม.ค. 2566 – นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่าได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อขอให้ตรวจสอบ และทบทวนการดำเนินการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์(รถไฟทางไกล) 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยมีนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทน

นายสราวุธ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สร.รฟท. ได้ยื่นหนังสือต่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ไปแล้ว​ว่า ไม่เห็นด้วยกับการย้ายรถไฟทางไกลจากเดิมสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) มาที่สถานีกลางฯ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในด้านการปฏิบัติการ และให้บริการ​ เช่น รถโดยสารไม่พร้อมบริการ และมีไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนให้บริการ ห้องน้ำรถไฟยังเป็นระบบเปิด อัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอในการให้บริการ 2 แห่ง และงานเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้จากการสอบถามความเห็นของผู้ใช้บริการจริง​พบว่า ประชาชนต้องการให้รถไฟยังคงเข้าถึงสถานีหัวลำโพง ไม่ใช่หยุดแค่สถานีกลางฯ แม้จะมีชัตเติ้ลบัสมาให้บริการ แต่แผนงานดังกล่าวไม่ชัดเจน ประชาชนที่ต้องการลงสถานีสามเสน รพ.รามาธิบดี และยมราช ซึ่งเดิมเป็นสถานีตามเส้นทางรถไฟ ระหว่างบางซื่อ ถึงหัวลำโพง จะใช้บริการไม่ได้ และทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ​ จึงขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังนี้ 1.ขอให้สั่งการตรวจสอบ และทบทวนกำหนดการเปิดสถานีกลางฯ และแผนปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์จากสถานีหัวลำโพง มาสถานีกลางฯ ที่จะดำเนินการในวันที่ 19 ม.ค.66 โดยเร่งด่วน

2.ในระหว่างการตรวจสอบ สำหรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ขอให้ยังคงสถานีต้นทาง-ปลายทางอยู่ที่สถานีหัวลำโพงไว้ก่อน และ 3.ขอให้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเร่งด่วน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้บริโภค และประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ใช้บริการ ตามนโยบายของกระทรวง และข้อเสนอแนะขององค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน

ด้านนางสุขสมรวย​กล่าวว่า​ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงคำถาม และข้อสงสัยไปแล้ว​ ส่วนข้อเรียกร้องของ สร.รฟท.​ จะเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป​ ​แต่อย่างไรก็ตามวันที่ 19 ม.ค.2566​ คาดว่าคงไม่สามารถหยุดการเดินรถที่สถานีกลางฯ ได้ เนื่องจากมีการขายตั๋วโดยสาร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบไปแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สร.ธกส.' ร่อนหนังสือจี้ 'ผจก.ธกส.' ทำตามข้อเสนอต่อนโยบาย Digital wallet 3 ข้อ

นายประหยัด ธรรมขันธ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำหนังสือที่๑๓๕/ ๒๕๖๗ ลงวันที่ 18 เมษายน 2567 ถึง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เรื่อง ข้อเสนอต่อการดำเนินนโยบาย Digital wallet

ทีมทนายบิ๊กโจ๊ก ยื่น ‘รรท.ผบ.ตร.’ ขอส่งสำนวนคดีเว็บพนัน สน.เตาปูน ไปป.ป.ช.

ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

'สุริยะ' ตั้งธงศึกษา 'สถานีขนส่งบขส.' ใหม่เสนอครม.ภายในปี67

“สุริยะ” สั่ง รฟท.ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่พหลโยธินใหม่ แนะเกลี่ยพื้นที่ให้ บขส.สร้างรวมสถานีขนส่งผู้โดยสาร”เหนือ-อีสาน-ใต้”แห่งใหม่ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คาดศึกษา

‘คมนาคม’ เปิดสถานีกลางฯเป็นศูนย์ประสานงานสนับสนุนภารกิจรับแรงงานไทยกลับบ้าน

“สุริยะ” สั่ง “คมนาคม” อำนวยความสะดวกคนไทยกลับจากอิสราเอลสู่ภูมิลำเนา เน้นย้ำ “บขส.-รฟท.” พร้อมช่วยเหลือดูแลจนภารกิจลุล่วง พร้อมเปิดพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวก