พาณิชย์เอาจริงลงพื้นที่ตรวจสอบต่างด้าวเปิดธุรกิจในไทย

กรมพัฒนาธุรกิจ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ คนต่างด้าวถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย ชี้อาจเข้าข่ายผิดหลายกฎหมาย ของหลายหน่วยงาน ส่วนกรณี “นอมินี” จากการตรวจสอบพบ ปีละ 400-500 ราย ในธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ส่งดำเนินคดีแล้ว 66 ราย พร้อมส่งดีเอสไอตรวจสอบเชิงลึกเส้นทางการเงิน

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีคนต่างชาติที่เข้าประเทศไทยโดยถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่กลับประกอบธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่มในไทยว่า กรมได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายฉบับใด ของหน่วยงานใดบ้าง เช่น ผิดพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ที่กรมกำกับดูแลอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังเป็นกระแสข่าวขณะนี้ อย่าง ย่านเยาวราช

สำหรับการตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรมจะตรวจสอบว่า กรณีคนต่างด้าวที่เป็นนิติบุคคล หากขายอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการอนุญาตก่อนหรือไม่ เพราะตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ นิติบุคคลต่างด้าว จะขายอาหารและเครื่องดื่มได้ ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน หากไม่ขออนุญาตจะถือว่ามีความผิด

นอกจากนี้ จะตรวจสอบด้วยว่า หากนิติบุคคลต่างด้าว ขายอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่ขออนุญาตก่อนนั้น มีคนไทยให้การช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ หากพบว่า มีนอมินี จะมีความผิดอีกเช่นกัน ส่วนกรณีต่างด้าวที่เป็นบุคคลธรรมดา ขายอาหารและเครื่องดื่ม ก็อาจเข้าข่ายมีความผิดกฎหมายแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ที่ห้ามต่างด้าวขายเช่นกัน หรืออาจผิดกฎหมายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีการวางขายบนทางเท้า เป็นต้น

“การตรวจสอบกรณีนอมินี ไม่ง่าย เพราะต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจน หรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพราง ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนต่างด้าว ซึ่งจะมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 – 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน”

นายจิตรกร กล่าวต่อถึงกรณีคนไทยเป็นนอมินีของคนต่างด้าวว่า จากการตรวจสอบของกรม พบว่า มีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์โดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน ซึ่งหากพบกรณีที่อาจเข้าข่ายนอมินี กรมจะส่งหนังสือเชิญให้มาชี้แจง หากไม่สามารถชี้แจงได้ หรือชี้แจงไม่สมเหตุสมผล จะถือว่ามีความผิดตามฐานเป็นนอมินี ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และจะส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในเชิงลึกถึงเส้นทางการเงินด้วย

ทั้งนี้ กรมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีเอสไอ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมที่ดิน ฯลฯ ตรวจสอบกรณีนอมินีในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล หรือคนไทยที่เป็นนอมินีแล้ว 66 ราย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” จัดกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 ส่วนภูมิภาค จังหวัดนครสวรรค์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Roadshow 2024 โดยยกขบวน แฟรนไชส์ชั้นนำกว่า 40 แบรนด์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม บริการ และค้าปลีก มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรตามความสนใจและความถนัด

พาณิชย์ หารือ สตช. ร่วมมือเร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล

“พาณิชย์” เข้าพบ “บิ๊กต่าย” หารือแนวทาง มาตรการ ข้อกฎหมาย และความร่วมมือ 2 หน่วยงาน เร่งปราบปรามนอมินี และบัญชีม้านิติบุคคล เตรียมร่วมมือทุกรูปแบบ ทั้งประสานข้อมูล ตรวจค้น บังคับใช้กฎหมาย นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อกำจัดอาชญากรทางเศรษฐกิจ ลดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการไทย

รัฐบาลตีปี๊บเยียวยาเอกชนใน 8 จังหวัดน้ำท่วมภาคใต้

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยานิติบุคคลใน 8 จังหวัดอุทกภัยภาคใต้ สั่งออกมาตรการขยายระยะเวลาจดทะเบียนนิติบุคคล แจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การนำส่งงบการเงินได้ หลังสถานการณ์สิ้นสุดลง

ผบ.ตร. ขึงขังกำชับห้ามต่างด้าวตั้งแก๊งท้าทายกฎหมาย คาดโทษพื้นที่หย่อนยาน-รับสินบน

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงกรณีปรากฏคลิปในสื่อโซเชียล พบพฤติกรรมของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีลักษณะตั้งเป็นกลุ่มแก๊งท้าท้ายกฎหมายบ้านเมือง ว่า ได้รับทราบการรายงานคลิปที่ปรากฏแล้ว

ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย

พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก