ช่วยเต็มที่ 'ธปท.' เปิดช่อง 'รวมหนี้' หวังช่วยกดดอกเบี้ยลดลงช่วยประชาชนสู้โควิด

“ธปท.” ไฟเขียวหอบหนี้บ้านค้ำหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลข้ามแบงก์ สั่งกดดอกเบี้ยถูกอุ้มลูกค้าสู่โควิด-19 พร้อมเว้นค่าปรับรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล-ประกอบอาชีพก่อนกำหนด

23 พ.ย. 2564 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้กำหนดให้มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว

ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้ เปิดให้รวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินและ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น โดยในกรณีที่สถาบันการเงินมีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม ส่วนในกรณีที่รับโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (refinance) มาจากสถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ด้วย ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไปอย่างมีนัย

“ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนาโนอยู่ 33% สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 25% บัตรเครดิต 16% เมื่อเข้ามาตรการรวมหนี้ จะคิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย เดิมหากคิดที่ 6% ก็จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น หรือหากเป็นการรวมหนี้ไปสถาบันการเงินอื่น ก็จะคิดดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยเช่น ปีที่ 4 เป็นต้นไป บวกเพิ่มได้ไม่เกิน 2% ซึ่งก็ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเมื่อเทียบกับก่อนรวมหนี้” นางสาวสุวรรณี กล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง การดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำณวนสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต เหลือ 35% อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เนื่องจากเป็นการนำ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเข้ามาเป็นหลักประกันแล้ว สำหรับรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรงเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการ ส่วนลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น อาจจะต้องรอให้กระทรวงการคลังอนุมัติหลักเกณฑ์ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

“มาตรการรวมหนี้ดังกล่าว จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตได้ดีขึ้น คุณภาพพอร์ตสินเชื่อดีขึ้น ลูกหนี้มั่นคงมากขึ้น และได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลจาก ธปท. แต่แนวโน้มรายได้จากดอกเบี้ยก็จะมีแนวโน้มปรับลดลงด้วย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกหนี้ โดยมองว่าแม้มาตรการรวมหนี้ที่ออกมาจะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงินอยู่บ้าง แต่ก็จะอยู่ในระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการตั้งสำรองไว้ในระดับที่สูงมาก” นางสาวสุวรรณี กล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์ (refinance) หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย โดยห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566

สำหรับภาพรวมความคืบหน้ามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พบว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 มีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 6.69 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 3.82 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 2.72 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.24 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3.97 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.58 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 2564 พบว่า มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนทั้งสิ้น 2.51 หมื่นล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 178 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน สปา ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 1.26 แสนล้านบาท คิดเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ 3.97 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อ Digital P-loan ปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต 7 ราย แต่มีการปล่อยจริง 4 ราย โดยมีผู้ได้รับสินเชื่อจำนวน 4.16 แสนราย ยอดคงค้าง 2.08 พันล้านบาท เป็นยอดหนี้เฉลี่ย 5 พันบาทต่อราย

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวนั้น พบว่า ตั้งแต่ มี.ค. 2563- ต.ค. 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวได้รับสินเชื่อใหม่ทั้งสิ้น 1.25 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นสินเชื่อซอฟท์โลน และสินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการช่วยเหลือของทางการ คิดเป็นวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือ 9 พันราย ส่วนการแก้ไขหนี้เดิม ผ่านสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พักของธนาคารพาณิชย์ไทย วงเงิน 4.56 แสนล้านบาท

“ธปท. ดูแลให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ โดยจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นั้น พบว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงโตได้ดี และโตได้มากกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ขยายตัวเป็นบวกหลังจากติดลบมาหลายปี ด้วยผลของมาตรการซอฟท์โลนและสินเชื่อฟื้นฟู ส่วนคุณภาพสินเชื่อแม้จะด้อยลงเล็กน้อย แต่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพของลูกหนี้ได้ และลูกหนี้รายย่อยในระบบธนาคารพาณิชย์มีจำนวนการถูกฟ้องร้องลดลงในช่วงที่ผ่านมา”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ แขวะ 'ธปท.' ชมคนพูดลดดอกเบี้ยจิตใต้สำนึกดี

'เศรษฐา' แขวะ 'แบงก์ชาติ' ไม่ยอมหั่นดอกเบี้ย ชมเปาะเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐ มีจิตสำนึกดีอยากให้ลด ขอบคุณเห็นความลำบากประชาชน ย้ำเรื่องหนี้สารตั้งต้นหายนะประเทศ

'กุนซือนายกฯ' กระทุ้งอีก! 'ธปท.' ต้องเร่งลดดอกเบี้ย

'พิชัย' ห่วงเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ หลังเงินเฟ้อติดลบ 5 เดือนซ้อนสวนทางโลก จี้ ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย ลดช่วงห่างเงินกู้เงินฝาก ตามสภาพัฒน์ฯ แนะนำ

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ วันหยุดเพิ่มเป็นกรณีพิเศษของสถาบันการเงิน

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส. 84/2567 เรื่อง การกำหนดวันหยุดทำการของสถาบันการเงินและสถาบันการ

‘อดีตเลขาฯรมว.ตท.’ เตือน กดดันลดดอกเบี้ย อาจเสี่ยงซ้ำรอยวิกฤตค่าเงินบาทปี’40

อย่าทำลายความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง อย่าทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารชาติ จะกระทบต่อฐานะเงินบาทในภูมิภาค