กรมเจรจาการค้า ลุยเจรจา FTA ยุโรป - เอฟตา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกางแผนเจรจา FTA ปี 66 ตั้งเป้านับหนึ่งเปิดเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เคลียร์ FTA คงค้างกับเอฟตา แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ให้จบภายในปี 67 และศึกษาประโยชน์และผลกระทบการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ ทั้งกลุ่ม GCC พันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา

1 ก.พ. 2566 – นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทย ในปี 2566 ว่า กรมฯ มีแผนการเจรจา FTA ทั้งเปิดเจรจา FTA กับคู่ค้ารายใหม่ เร่งสรุปผลการเจรจา FTA ที่คงค้างกับคู่เจรจาเดิม และศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ เพื่อมุ่งหาตลาดใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าให้กับไทย และตั้งเป้าให้ FTA เป็นกลไกเพิ่มสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับคู่ FTA จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 63% เพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2570

โดยการเปิดเจรจา FTA ใหม่ จะให้ความสำคัญกับการเปิดเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเร็ว หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายจะเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ รวมถึงเห็นชอบกรอบเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งผ่านการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ไทยสามารถเปิดเจรจา FTA กับอียู ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับการเจรจา FTA คงค้าง จะเร่งเจรจา 4 ฉบับ คือ เอฟตา (ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ให้จบโดยเร็วภายในปี 2567 โดยวางแผนจัดการประชุมทุก 2-3 เดือน เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าและสรุปผลได้ตามกำหนด

ส่วนการเจรจา FTA กรอบใหม่ ๆ จะเร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC (ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance (ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู) และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนผ่านที่ประชุม กรอ.พาณิชย์

“การเจรจา FTA ไทย-อียู เป็นเป้าหมายอันดับต้นในปีนี้ เพราะอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.9% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนกลุ่ม GCC มีมูลค่ากับไทย 39,618.52 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6.71% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่6,239.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศอยู่ที่ 2,831.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเพิ่มได้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับคู่ FTA ได้เพิ่มขึ้น”นางอรมนกล่าว

ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ในปี 2565 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 359,542.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,542,911.58 ล้านบาท) เพิ่ม 5.1% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 171,789 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,951,350.69 ล้านบาท) และนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 187,753.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,591,560.89 ล้านบาท) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์จ่อบุกดูไบเจรจาFTA กับยูเออี รอบที่ 3

“พาณิชย์” เตรียมนำทีมไทยเข้าร่วมประชุมเจรจา FTA กับยูเออี รอบที่ 3 วันที่ 29 ส.ค-1 ก.ย.นี้ ที่ดูไบ เดินหน้าประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ มั่นใจผลักดันการเจรจาคืบหน้าต่อเนื่อง และสรุปผลได้ภายในสิ้นปีนี้ เผยผลศึกษา ชี้การทำ FTA จะช่วยให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้น การส่งออกขยายตัว มีสินค้าและบริการได้ประโยชน์เพียบ

พาณิชย์ลุยศึกษาทำ FTA FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก ชี้หนุนการค้าโต 16.75%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยแพร่ผลศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) พบช่วยเพิ่มจีดีพี 0.04% ดันมูลค่าการค้าโต 16.75% สินค้าส่งออกที่ไทยจะได้ประโยชน์ มีทั้งธัญพืช พลาสติก ยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ค้าส่งค้าปลีก และก่อสร้าง ระบุกลุ่ม PA ยังจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสินแร่และสัตว์น้ำ

'พาณิชย์' ฟุ้ง 5 เดือนไทยส่งออกกุ้ง ไปตลาดคู่ค้า FTA โต 27%

“พาณิชย์” ฟุ้ง 5 เดือนไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง ไปตลาดคู่ค้า FTA โต 27% กางผลงานปี 65 ติดอันดับ 9 ของโลก ขึ้นอันดับ 3 ของอาเซียน ด้าน “FETCO” ชี้นักลงทุนจับตาตั้งรัฐบาลใหม่เชื่อช่วยหนุนความเชื่อมั่นฟื้น

นายกฯ ยิ้ม FTA หลายฉบับคืบหน้าเป็นรูปธรรม!

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับคืบหน้าเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นไทยใช้ประโยชน์จาก FTA สนับสนุนโอกาสสินค้าไทยไปตลาดโลก ยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่สากล

พาณิชย์เร่งติดตาม FTA ไทย-ชิลี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลการประชุมติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี เห็นพ้องเร่งปรับโอนพิกัดศุลกากรจากระบบ HS2012 เป็น HS2022 การใช้ระบบลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผลักดันร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบุ 8 ปีที่ FTA บังคับใช้ การค้าสองฝ่ายเพิ่มมากกว่า 40%

พาณิชย์บินนำคณะผู้แทนไทยเจรจา FTA ไทย–ยูเออี รอบแรก 16–18 พ.ค.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยเจรจา FTA ไทย–ยูเออี รอบแรก 16–18 พ.ค.นี้ ที่ดูไบ หลังประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เผยคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ จะร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และวางแผนงานการเจรจาแต่ละรอบ พร้อมเริ่มหารือข้อบทความตกลงทันที ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด