ธอส. โชว์ผลงานไตรมาส 1 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 55,212 ล้านบาท กำไร 2,689 ล้านบาท

ธอส. เปิดผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 66 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 55,212 ล้านบาท กำไร 2,689 ล้านบาท ขณะที่ NPL อยู่ที่ 4.12% ชี้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนและโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ยังได้รับความสนใจสูง คาดสิ้นปีปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้า 235,480 ล้านบาท

20 เม.ย. 2566 – นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 42,977 บัญชี วงเงิน 55,212 ล้านบาท คิดเป็น 23.45% ของเป้าหมายในปี 2566 ที่ตั้งไว้ 235,480 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางถึง 23,549 ราย ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส ที่ 1 ปี 2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,617,065 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.17% สินทรัพย์รวม 1,714,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.29% เงินฝากรวม 1,466,535 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.53% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 66,701 ล้านบาท คิดเป็น 4.12% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.38% จากสิ้นปี 2565 ที่มี NPL อยู่ที่ 3.74% มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 134,135 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPLสูงถึง 201.10% และยังคงมีกำไรสุทธิ 2,689 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.93% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5% โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการจัดทำ “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน”

สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ให้ได้รับสิทธิ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 5 ปีแรก เท่ากับ 1.99% ต่อปี โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 2566 มีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อแล้ว 17,361 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติแล้วคิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 16,711 ล้านบาท ซึ่งจากความสนใจที่มีเป็นจำนวนมาก ธอส.จึงเตรียมเปิดให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 ขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนเพิ่มเติมผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB ALL GEN ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เวลา 9.00 น. ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.00 น. โดยผู้ประกันตนที่รับรหัสเรียบร้อยแล้วสามารถนำรหัสดังกล่าว พร้อมหนังสือรับรองสถานะความเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 เอกสารส่วนตัว เอกสารแสดงรายได้ และเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในหลักประกันมายื่นกู้กับ ธอส.ได้ที่สาขาทั่วประเทศ โดยผู้ที่ขอรับรหัสจะได้รับการแจ้งกำหนดการวันที่ให้มาติดต่อยื่นกู้ผ่านช่องทาง Line GHB Buddy หรือ ตรวจสอบลำดับการยื่นกู้ได้ที่ www.ghbank.co.th ทุกวันที่ 10,20,30 ของเดือนและทำนิติกรรมภายในวันที่ 31 มกราคม 2567

นอกจากนี้ ธอส. ยังได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3)” สำหรับลูกค้าที่ต้องการกู้บ้านราคาซื้อ-ขาย/ค่าก่อสร้าง และวงเงินกู้สูงสุดต่อรายต่อหลักประกันไม่เกิน 1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรกเท่ากับ 3.00% ต่อปี โดยล่าสุด ณ วันที่ 16 เมษายน 2566 มีลูกค้าสนใจขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการผ่าน Application : GHB ALL และ GHB ALL GEN จำนวน 12,872 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 19,308 ล้านบาท โดยมีลูกค้าเข้ามายื่นกู้แล้ว จำนวน 2,441 บัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 2,500 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติแล้วคิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1,815 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรหัสเข้าร่วมโครงการได้ ผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN หรือ GHB ALL โดยจะได้รับรหัส 10 หลัก (ตัวอักษร 3 หลัก และตัวเลข 7 หลัก) ทาง Line GHB Buddy เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือปิดก่อนกำหนดหากเต็มกรอบวงเงินโครงการ

“ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เร่งขอสินเชื่อก่อนที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้น โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2566 มียอดนิติกรรมสูงถึง 13,556 ล้านบาท,โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2566 มียอดนิติกรรม 5,759 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อบุคลากรภาครัฐ ปี 2566 มียอดนิติกรรม 3,314 ล้านบาท ดังนั้น ธอส.คาดว่าสิ้นปี 2566 จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมาย 235,480 ล้านบาท” นายกฤษณ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำมาตรการที่ 23 [M23] สำหรับลูกค้าสถานะ NPL หรือลูกค้าที่มีสถานะเป็น NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือ หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้สามารถใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษและเงินงวดผ่อนชำระต่ำเป็นระยะเวลานานสูงสุด 2 ปีโดยปัจจุบันมีลูกค้า อยู่ระหว่างการใช้มาตรการจำนวนถึง 13,634 บัญชี วงเงิน 15,670 ล้านบาท ทั้งนี้ลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วม มาตรการที่ 23 ยังคงสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND และสาขาธนาคารทั่วประเทศ โดยต้องส่งหลักฐานการได้รับผลกระทบ ทางรายได้จากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น หนังสือรับรองการลดวัน/เวลา/เงินเดือน/ค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้างจากหน่วยงานต้นสังกัด/นายจ้าง เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลุยภารกิจเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล และ ก.คลัง จัดทำยุทธศาสตร์ธนาคาร มุ่งสู่ Sustainable Bank สอดรับวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ยกระดับไทยสู่การเป็น Financial Hub

ธอส. เตือนภัย!! ระวังมิจฉาชีพ ใช้ภาพกรรมการผู้จัดการ ปล่อยสินเชื่อบุคคลออนไลน์

ธอส. เตือนภัย!! อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกลวงใช้ภาพกรรมการผู้จัดการ ปล่อยสินเชื่อบุคคลออนไลน์

ธอส. เตรียมวงเงิน 37,500 ล้านบาท ปล่อยกู้บ้านดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนน้อย

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมกรอบวงเงินรวม 37,500 ล้านบาท จัดทำ 4 ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนคนไทยทุกกลุ่มเป้าหมายให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่อนชำระต่ำล้านละ 3,500 บาท/เดือน เท่านั้น

ธอส. โชว์ผลงานปี 66 ปล่อยกู้ทะลุเป้า 253,860 ล้านบาท ยันสถานะแข็งแกร่ง NPL 3.87%

ธอส. ประกาศผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 253,860 ล้านบาทพร้อมสนองนโยบายรัฐบาล เดินหน้าช่วยคนไทยมีบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

วางแผนมี“บ้าน”ฉบับมนุษย์เงินเดือน ธอส.แจงขั้นตอนการขอสินเชื่อให้เหมาะกับความต้องการ

“บ้าน” ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการกิน อยู่ หลับ นอน เป็นพื้นที่แห่งการใช้ชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่ต่างใช้เวลาในชีวิตประจำวันหมดไปกับบ้านค่อนข้างมาก สะท้อนได้ชัดเจนว่า “บ้าน” มีความสำคัญต่อชีวิตคนเราอย่างมาก

ธอส. ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง