
พาณิชย์ส่งสัญญาณ สถานการณ์เงินเฟ้อไทยคลี่คลาย หลังเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
6 มิ.ย. 2566 – นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2566 สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.53 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน และต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง นอกจากนี้ มาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม ชะลอตัวค่อนข้างมาก
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า การชะลอตัวอย่างชัดเจนของเงินเฟ้อเป็นไปตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.83 (YoY) โดยเฉพาะราคาพลังงาน ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แม้จะสูงขึ้นร้อยละ 3.99 (YoY) แต่เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง ขณะที่สินค้าบางรายการราคาเริ่มปรับลดลง อาทิ เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.55 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนเมษายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.66 (YoY) ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.96 (AoA)
ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2566) ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ทั้ง สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ปี 2566 คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือมีโอกาสหดตัวได้ ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
นายบุณย์ธีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพ และการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ปริมาณสินค้ามีเพียงพอ ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ราคาอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ต่ำกว่าเกณฑ์โครงสร้างราคา ปัจจุบันมีเพียงบางสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้สินค้ามีน้อยซึ่งคาดว่าราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเมืองในประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อราคาสินค้าและบริการ และค่าครองชีพของประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุสรณ์' คาด กนง. คงมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
'แบงก์ชาติ' เตรียมปรับจีดีพีปี 66 ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงฉุดบริโภค
“แบงก์ชาติ” เคาะ ก.ย. นี้ เตรียมปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 66 ใหม่ รับหนี้ครัวเรือนสูงฉุดบริโภค หวังท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมปรับนโยบายการเงินให้เข้ากับบริบทเพื่อใช้ในระยะกลางและยาว
‘แบงก์ชาติ’ ชี้ตั้งรัฐบาลช้าบีบเชื่อมั่นต่างชาติสะดุด ห่วงเร่งกู้กระตุ้นบริโภคไม่คุ้ม
“แบงก์ชาติ” หวั่นตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าบีบเชื่อมั่นต่างชาติสะดุด แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ ห่วงเร่งเครื่องกู้ทำนโยบายกระตุ้นบริโภคอาจไม่คุ้ม ยันขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้เงินเฟ้อลดเร็วเกินคาด ชี้แค่ชั่วคราวมีโอกาสกลับมาพุ่งต่อ
โฆษกรัฐบาลเผย อัตราเงินเฟ้อของไทย เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของเขตเศรษฐกิจต่างๆ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการจัดอันดับ
'บิ๊กตู่' ปลื้มเงินเฟ้อไทยคลี่คลาย พ.ค.ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน!
นายกฯ พอใจสัญญาณเงินเฟ้อไทยคลี่คลาย อัตราต่ำที่สุดในอาเซียน โดยเงินเฟ้อ พ.ค.66 เพิ่มเพียง 0.53% ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
กรุงไทยคาดกนง .ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งปลายปี 66
Krungthai COMPASS ออกบทวิเคราะห์เรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทย ในอนาคต หลังจาก กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาดังนี้