‘คมนาคม’ลุยตรวจด่านชั่งน้ำหนักอยุธยาพบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน 2 ราย

‘คมนาคม’ลงพื้นที่ตรวจด่านชั่งน้ำหนักอยุธยา พบทำผิดน้ำหนักเกินมาตรฐาน 2 ราย ย้ำขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง วันที่ 8 มิ.ย.นี้เตรียมนำข้อมูลถกรวมสหพันธ์การขนส่ง-สส.พรรคก้าวไกล-ตำรวจทางหลวง

7 มิ.ย.2566-นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระกรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้น ด่านชั่งน้ำหนักอยุธยา  (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี เจ้าหน้าที่ติดสินบนด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ว่าต้องการให้สื่อมวลชนมาตรวจสอบว่าระบบมีความสมบูรณ์ และโปร่งใสหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบและการคัดกรองรถบรรทุก ณ ด่านชั่งน้ำหนัก มีการควบคุมการทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการติดตั้ง ระบบชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ หรือ (WIM) เข้ามาช่วยคัดกรองรถบรรทุกในเบื้องต้น เพื่อแจ้งเตือนผู้ขับขี่รถบรรทุก ให้ทราบและนำรถเข้าชั่งน้ำหนัก ณ ด่านชั่งถาวร เพื่อตรวจสอบน้ำหนักว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

นายมนตรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เมื่อเวลาประมาณ 8.00น. บริเวณด่านชั่งน้ำหนักอยุธยาได้จับกุมรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ได้จำนวน 2 คัน ซึ่งคณะทำงานฯ จะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปประมวลผลกับด่านชั่งของกรมทางหลวงจำนวน 97 แห่งทั่วประเทศ ทำการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้มากขึ้น โดยพิจารณานำระบบ (WIM) เข้ามาใช้เพราะปัจจุบันมีเพียง 37 แห่งเท่านั้น

“ขณะนี้คณะทำงานยังอยู่ระหว่างตรวจสอบเจ้าหน้าที่และบุคลากรกรมทางหลวงเพิ่มเติม ว่ามีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกหรือไม่ แต่เบื้องต้นได้รับรายงานจาก ผอ.ด่าน ว่ามีนโยบาย สับเปลี่ยน หมุนเวียนเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำภายในระยะเวลา 1 ปีเพื่อช่วยลดปัญหาการทุจริต ขณะเดียวกันจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางมาสุ่มตรวจเช็กเพื่อป้องการปัญหาการทุจริตของด่าน”นายมนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตามส่วนกรณีที่ตำรวจทางหลวงได้ตรวจสอบและพิจารณาเอาผิด กับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดแล้วมากกว่า  15 รายนั้น ในส่วนคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและทำให้เกิดความล่าช้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลด่านชั่งน้ำหนัก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมฯมีการโยกย้าย หมุนเวียนเจ้าหน้าทุกด่านทุกพื้นที่ ไม่ได้มีการปล่อยปะละเลย ส่วนกรณีที่มีการออกมาเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ทางหลวงสถานีตรวจสอบน้ำหนักสุวินทวงศ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก โดยมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของหรือทำสติ๊กเกอร์แจกจ่ายให้กับรถบรรทุก ขณะนี้ได้สั่งการให้โยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จ.สระแก้ว ตลอดจนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบผู้บังคับบัญชาเกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ระดับใดก็ตาม จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้น

นายมนตรี กล่าวว่าในวันที่ 8 มิ.ย.2566 ผู้แทนจากกรมทางหลวงจะเข้าร่วมประชุมพร้อมกับ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ณ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบของกระทรวงฯ ก็จะนำชุดข้อมูลที่กรมทางหลวง ร่วมประชุมในวันนั้น นำมาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเข้าข่าวการกระทำความผิดจริง ก็จะสั่งย้ายทันที และหากสอบสวนแล้วมีมูลเหตุน่าเชื่อถือว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยแล้วทำตามขั้นตอนตามกฏหมายต่อไป

ด้าน นายอลงกรณ์ พรหมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง(ทล.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย อาจได้รับข้อสั่งการ จากข้าราชการระดับสูงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมีการรวบรวมข้อมูลและเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน หากพบหลักฐานว่าผิดจริงก็จะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด แต่ย้ำว่า การทำงานของด่านชั่งน้ำหนัก มีการเก็บข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และทางส่วนกลางก็มีหน้าที่กำกับดูแลในการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในพื้นที่ รวมถึงประเมินผลติดตามการทำงานอยู่ตลอด

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขณะที่กรมทางหลวงโดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกรมฯ ส่วนสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ในฐานะที่กำกับดูแลด่านชั่ง หากมีประเด็นร้องเรียน จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนฯและมีมาตรการต่างในการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น หากประชาชนพบเห็น สามมารถร้องเรียนเรื่องรถบรรทุกกระทำความผิด สามารถร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1586 กด 5” นายอลงกรณ์ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน