สทนช.เตรียมรับมือเอลนีโญ เร่งขับเคลื่อนแผนสร้างความมั่นคงน้ำตะวันออก

3 ก.ค. 2566 – สถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประเมินว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศสุดขั้ว โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10% ทำให้หลายภาคส่วนต่างมีความกังวลว่าในปี 2566 ไทยเสี่ยงจะเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี จะทำให้หลายพื้นที่ หลายจังหวัดเสี่ยงที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร รวมไปถึงกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า กกร.มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย

และยังมองว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.66 อาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี และภัยแล้งจะขยายเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงและราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ สมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. ระบุว่า แม้ว่าตอนนี้จะมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาเพิ่มเติมแต่มีปริมาณลดลง โดยเฉลี่ยปริมาณฝนปีนี้มีค่าต่ำกว่าปกติ 40% และในพื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าปกติ 60% แต่น้ำต้นทุนยังเพียงพอในการใช้ระหว่างที่ฝนทิ้งช่วง มิ.ย. และฝนจะมาอีกครั้งในช่วง ส.ค. สิ่งที่กังวลคือ ปี 2567 ที่น้ำต้นทุนในภาคตะวันออกอาจจะลดอย่างมาก หากไม่เร่งบริหารจัดการน้ำอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ก็อยากให้ทุกอย่างเดินหน้าโดยเร็ว

ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งบริหารจัดการเพื่อให้น้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับสมาชิกและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการ 3R ประกอบด้วย Reduce Reuse และ Recycle ทั้งภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคเกษตรอัจฉริยะที่เน้นนำนวัตกรรมมาดูแลระบบน้ำเพื่อการประหยัดมากขึ้น

“แผนระยะยาวจำเป็นต้องมองในแง่ของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสังคมเมืองภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่แหล่งน้ำในอนาคตจำเป็นต้องมีให้เพียงพอกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) ก็ได้ทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยระยะเร่งด่วน 3 ปีแล้ว” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับปัญหาภัยแล้งที่ไทยประสบในช่วงที่ผ่านมาเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีแบบมีนัยสำคัญ ซึ่งในเบื้องต้น กกร.ประเมินว่าภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 36,000 ล้านบาท จะเห็นได้จากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมานั้นจีดีพีของไทยเติบโตเพียง 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.4% และภัยแล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบสูงถึง 5.94% เช่นเดียวกับปี 2554 ที่ภัยแล้งรุนแรงฉุดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมติดลบถึง 4.12%

ในเรื่องนี้ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในฐานะคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. เปิดเผยว่า จากการติดตามปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ พบว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 เป็นต้นไป ดังนั้นปริมาณฝนในปีนี้จึงมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าปกติหรือน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย และคาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงประมาณช่วงเดือน มิ.ย.66 เดือน ก.ค.66 และมีฝนน้อยกว่าค่าปกติในช่วงเดือน ก.ย.66

ดังนั้น กอนช.จึงต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์หากมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะต้องเป็นการวางแผนระยะยาว โดยใช้หลักการบริหาร 2 ปี คือ ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้มีปริมาณน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งมากที่สุด

สำหรับในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน 10 มาตรการฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2566 โดยติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำประแสร์ และสรุปภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝน มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จากผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเกษตร พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในทุกมิติ ผ่านรายการ “รู้อยู่กับน้ำ” เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติด้านน้ำและสามารถปรับตัวอยู่กับน้ำได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงมีการพูดคุยร่วมกับนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เพื่อมุ่งเน้นให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของภาคอุตสาหกรรม สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

สุรสีห์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำโดยรวมอยู่ที่ 50% ของความจุเก็บกัก คืออยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่ผ่านมาได้พัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการคาดการณ์การใช้น้ำของอีอีซีในปี 2570 ว่าจะมีมากกว่าเดิมถึง 500-600 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจำเป็นต้องมีแผนในการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับอีอีซี

“อีอีซีเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออก 38 โครงการ ดำเนินการระหว่างปี 2563-2580 ใช้งบประมาณกว่า 53,000 ล้านบาท ได้ขับเคลื่อนโครงการเสร็จไปแล้ว 14 โครงการ ใช้งบลงทุน 6,700 ล้านบาท ได้น้ำมาประมาณ 203 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 8 โครงการ ใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จในปี 67 และจะมีอีก 16 โครงการ วงเงิน 37,000 ล้านบาท โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2575 ภายใต้แผนแม่บทน้ำฉบับปรับปรุง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคตที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สทนช.มีเป้าหมายขับเคลื่อนอีก 16 โครงการ โดยจะเร่งรัดให้เป็นไปตามแผน คือทั้งหมดต้องแล้วเสร็จภายในปี 2580 หากไม่สามารถดำเนินการจะส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำในอนาคตไม่เพียงพออย่างรุนแรง และกระทบกับการอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคอุตสาหกรรมแน่นอน เนื่องจากทั้ง 16 โครงการจะได้น้ำมากถึงกว่า 110 ล้านลูกบาศก์เมตร” สุรสีห์ กล่าว

สุรสีห์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเร่งทั้ง 16 โครงการให้เดินหน้า โดยเฉพาะในเรื่องของการขออนุญาตในการใช้พื้นที่ป่า ซึ่งพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ต้องการข้อมูลเพื่อไปประกอบการขออนุญาต ก็ควรที่จะดำเนินการโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในโครงการที่ได้ขับเคลื่อน และจะแล้วเสร็จในปี 2566 คือ โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 73% ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ประกอบด้วย การก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ขุดลอกคลองชลประทานพานทอง ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 1 แห่ง การก่อสร้างประตูระบายน้ำและท่อระบายน้ำ 5 แห่ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองพานทอง และผันน้ำไปจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำบางพระได้อีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,450 ไร่ รวมทั้งสนับสนุนความมั่นคงของน้ำ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่อีอีซี ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ประเทศต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เ

'อัลฟ่าเซค' จับมือ 'ส.อ.ท.' ทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศของงาน Made in Thailand

อัลฟ่าเซค ร่วมมอบ “ใบรับรองระบบมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO27001:2022” ให้กับ ส.อ.ท. ในฐานะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ MiT และเตรียมรับมือกับ ภูมิทัศน์ไซเบอร์ในปี 2567

ยุคโลกเดือด! 'ดร.ธรณ์' เตือนรับมือ 'เอลนีโญ' ปีนี้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์