300 ปี "อดัม สมิธ" 247 ปีระบบทุนนิยม

17 ก.ค. 2566 – ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์ คงคุ้นชื่อ อดัม สมิธ (Adam Smith) นักปรัชญา นักจริยศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ ชาวสก็อตแลนด์ในฐานะผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์และให้กําเนิดระบบทุนนิยม

อดัม สมิธ เป็นหนึ่งในนักคิดไม่กี่คนที่โลกมีที่ความคิดของเขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญให้กับมนุษย์ชาติยาวนานมาถึงปัจจุบัน คือจากสังคมเศรษฐกิจในโลกที่เต็มไปด้วยความยากจนทั่วหน้าเมื่อสามร้อยปีก่อน มาเป็นสังคมเศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่เติบโต มั่งคั่ง และประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยกลไกระบบทุนนิยมที่ อดัม สมิธ เป็นผู้บุกเบิก ถือเป็นมรดกทางความคิดชิ้นสำคัญที่เขาได้ให้ไว้กับมนุษย์ชาติ

ตรงกับที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลกอีกท่านหนึ่งที่กล่าวว่า Ideas can shape the course of history ความคิดสามารถเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ได้

บทความ “เขียนให้คิด” วันนี้จะพูดถึงความเป็นอมตะของแนวคิดของอดัม สมิธ และระบบทุนนิยม เฉลิมฉลองวาระครบรอบ300ปีวันเกิดของเขา

อดัม สมิธ เกิดที่หมู่บ้าน Kirkcaldy สก็อตแลนด์ (ปัจจุบันเป็นเมืองชื่อเดียวกัน) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 1723 (นับจากวันรับศีล) ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ อาณาจักรอยุธยา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัย กลาสโกว์ (Glasgow) สกอตแลนด์ และมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอด (Oxford) อังกฤษ เริ่มสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย เอดินบะระ (Edinburgh) สกอตแลนด์ ก่อนมาเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาจริยศาสตร์ (Moral Philosophy) มหาวิทยาลัยกลาสโกว์นาน13ปี จากนั้นก็เดินทางหาความรู้และพบปะนักคิดต่างๆทั้งที่อังกฤษและฝรั่งเศส

เขาเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญของขบวนการความรุ่งเรืองทางปัญญาในสก๊อตแลนด์ (Scottish Enlightenment) ที่วิพากษ์ค่านิยมของสังคมและความเชื่อของผู้คนในสมัยนั้นด้วยแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์และความมีเหตุมีผล เป็นยุคสมัยที่นำไปสู่การเติบโตของวิชาสังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ในบั้นปลายชีวิต อดัม สมิธ รับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และเสียชีวิตวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1790 สิริอายุ 67ปี

ทั้งชีวิตอดัม สมิธ เขียนหนังสือเพียงสองเล่ม คือ ทฤษฎีจริยศาสตร์ (The Theory of Moral Sentiments) ตีพิมพ์ปี 1759 สมัยเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ และ An Inquiry into the Nature and the Causes of the Wealth of Nations หรือที่รู้จักกันสั้น ๆ ว่า ความมั่งคั่งของชาติ หรือ The Wealth of Nations ตีพิมพ์ปี 1776 ตรงกับปลายรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หนังสือสองเล่มนี้พูดได้ว่าปฏิวัติความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมสังคมและการตัดสินใจของมนุษย์ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ และวางรากฐานให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระบบทุนนิยม และวิชาเศรษฐศาสตร์

หนังสือเล่มแรกขายดีมากในช่วงอดัม สมิธ มีชีวิตอยู่ เสนอแนวคิดว่าการตัดสินใจของมนุษย์

เป็นไปตามธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่แม้ทุกคนจะนึกถึงประโยชน์ส่วนตนก่อนในการตัดสินใจ แต่ลึก ๆ แล้วในใจมนุษย์ก็มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นํามาสู่การยับยั้งชั่งใจในการตัดสินใจและพฤติกรรมของตนในสังคม ทําให้สังคมอยู่ได้ มั่งคั่งได้ และมีความสุข

แนวคิดนี้หักล้างความเชื่อเดิมที่ว่า การคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนของมนุษย์หรือ Self interest จะ ทำให้สังคมวุ่นวาย เกิดพฤติกรรมป่าเถื่อนเพื่อแย่งชิงความมั่งคั่ง แย่งชิงทรัพยากร ทําให้จำเป็นต้องมีบทบาทของรัฐที่เข็มแข็งเข้ามาควบคุม

แต่หนังสือที่ดัง ที่รู้จักกันกว้างขวาง และถือเป็นจุดกำเนิดของระบบทุนนิยมคือ เล่มสอง ความมั่งคั่งของชาติ The Wealth of Nations ที่บุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และเสนอข้อคิด ทําอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต ให้ประเทศมั่งคั่ง

ก่อนหน้า อดัม สมิธ แนวคิดหลักเกี่ยวกับความมั่งคั่งของประเทศมาจากแนวคิดพานิชย์นิยม ที่มองว่าความมั่งคั่งของประเทศมาจากความร่ำรวยทางการค้าคือ ประเทศมีรายได้จากการส่งออก มากกว่าการนำเข้า การเกินดุลการค้าทําให้ประเทศร่ำรวย แต่เพราะสินค้าที่ประเทศผลิตได้เองค่อนข้างจํากัดเพราะส่วนใหญ่มาจากที่ดิน จึงสนับสนุนการแพร่ลัทธิจักรวรรดินิยมเพื่อขยายรายได้ ขยายการส่งออกพร้อมตั้งกําแพงภาษีเพื่อลดการนำเข้า โดยรัฐส่งเสริมให้บริษัทของประเทศตนล่าดินแดนและหาประโยชน์จากต่างแดน มองว่าความมั่งคั่งของประเทศจะเพิ่มได้ด้วยการเอาผลผลิตจากประเทศอื่นมาใช้ประโยชน์ หารายได้ นำไปสู่การเติบโตของจักรวรรดินิยม พร้อมการปล้นสะดมประเทศที่เป็นอาณานิคมโดยบริษัทการค้าที่ตนจัดตั้งขึ้น เช่นกรณีอินเดีย นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากรเพื่อสร้างความร่ำรวย

ตรงกันข้าม อดัม สมิธ มองว่า ผลผลิตหรือสินค้าที่ประเทศผลิตสามารถขยายตัวได้ นำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ การเติบโตของรายได้ และความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งผลผลิตของประเทศก็มาจากที่ดินคือการผลิตในภาคเกษตร และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และกลไกที่จะขับเคลื่อนให้การผลิตของประเทศเติบโตก็มาจากแนวคิดห้าเรื่องที่ อดัม สมิธ เป็นผู้บุกเบิก

หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตน หรือ Self Interest ที่จะขับเคลื่อนให้คนในสังคมเข้าร่วมและมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้และความสุขให้กับตนเอง ซึ่ง อดัม สมิธ เชื่อว่า ประโยชน์ส่วนตนในระดับปัจเจกบุคคล ผ่านการตัดสินใจที่ยับยั้งชั่งใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมคือ ความมั่งคั่งของประเทศและความสุขของสังคม

สอง การแบ่งงาน หรือ Division of labour ที่กระบวนการผลิตสินค้าถูกแบ่งเป็นงานย่อยๆ และแรงงานทํางานในส่วนย่อยของตนจนเกิดความชำนาญ ทําให้การผลิตทั้งกระบวนการมีประสิทธิภาพและจะสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น อดัม สมิธ ยกตัวอย่างโรงงานทําเข็มที่คนงาน 10คน แบ่งหน้าที่กันทํา จะผลิตเข็มได้มากถึง 48,000 เล่มต่อวัน แต่ถ้าทุกคนต้องทําทุกอย่างด้วยตัวเองในการผลิตเข็ม ผลผลิตรวมแต่ละวันจะไม่เกิน  200 เล่มต่อวัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยเท่า ทําให้ต้นทุนการผลิตลดลง นี่คือประโยชน์ที่ได้คือสามารถเพิ่มการผลิตและรายได้

สาม กลไกตลาด หรือมือที่มองไม่เห็น ที่จะเป็นศูนย์รวมการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตนของทุกคน นำไปสู่อุปสงค์หรือความต้องการสินค้า อุปทานหรือการผลิตสินค้า ราคาซื้อขายที่ทุกคนพอใจ นั้นคือการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ ในเรื่องนี้ประโยคเด็ดของอดัม สมิธ ในหนังสือความมั่งคั่งของชาติ บทที่สอง เขียนว่า “ไม่ใช่จากความเมตตาของคนขายเนื้อ คนขายเหล้า คนขายขนมปัง ที่เรามีสิ่งเหล่านี้ให้รับประทานบนโต๊ะอาหาร แต่มาจากประโยชน์ส่วนตนที่คนเหล่านี้แสวงหา”

สี่ บทบาทภาครัฐ อดัม สมิธ มองว่า รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกลไกตลาด แต่ควรปล่อยให้การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจเกิดขึ้นตามการตัดสินใจของพ่อค้าและประชาชนตามธรรมชาติ ที่มีเสรีภาพในการตัดสินใจ ทําให้การทํางานของกลไกตลาดมีประสิทธิภาพ

อดัม สมิธ มองบทบาทภาครัฐควรจํากัดอยู่ที่การทําในสิ่งที่ประชาชนคนธรรมดาไม่มีพลังที่จะทําได้ แต่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเงินที่จะนํามาสร้างสิ่งเหล่านี้ ควรมาจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่รัฐบาลจัดหาให้ เช่น เก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ประโยชน์ และจากการเก็บภาษี ซึ่ง อดัม สมิธ มองว่า ภาษีควรเก็บในอัตราที่ต่ำเท่าที่จำเป็น ไม่ควรเป็นภาระต่อประชาชน เก็บตามรายได้ที่มี คือ มีรายได้มากจ่ายมาก ควรเป็นระบบที่มีความชัดเจนคือใครต้องเสียอะไรในอัตราเท่าไร และเป็นระบบที่ปฏิบัติได้ง่าย

ห้า การค้าระหว่างประเทศที่เสรี อดัม สมิธ มองว่าการแบ่งงานสามารถใช้ได้ในระดับประเทศ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ นำไปสู่ความสามารถพิเศษของแต่ละประเทศ (Specialization) ที่จะผลิตสินค้าบางประเภทได้ดีกว่าและในต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เกิดเป็นความได้เปรียบที่จะนําไปสู่การค้าขายระหว่างประเทศที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ และรัฐไม่ควรแทรกแซงด้วยการเก็บภาษีหรือจำกัดการนําเข้า เพราะทำให้คนในประเทศต้องจ่ายแพงในการบริโภคสินค้า

นี่คือ แนวคิดห้าเรื่องที่ อดัม สมิธ เป็นผู้บุกเบิก ที่อดัม สมิธ เรียกรวมกันว่า ระบบเสรีภาพตามธรรมชาติ (System of Natural Liberty) เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามความเชื่อสมัยนั้นในเรื่องการเติบโตและความมั่งคั่งของประเทศ เป็นเเนวคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมทั่วโลกในเวลาต่อมา รวมทั้งต่อการวางบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจและการทํานโยบายเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น อังกฤษ ที่แนวคิดของอดัม สมิธ เจ็ดสิบปีต่อมาได้นำไปสู่นโยบายการค้าเสรี ยกเลิกมาตรการควบคุมและปกป้องทางการค้า สนับสนุนการแข่งขันและความมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ นําไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการสร้างความมั่งคั่งผ่านการค้าเสรี ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจอังกฤษและระบบทุนนิยมมาถึงปัจจุบัน

สหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ซึ่งในช่วงที่หนังสือเล่มสองของอดัม สมิธตีพิมพ์ เป็นช่วงของการสร้างประเทศหลังประกาศอิสระภาพจากการปกครองของอังกฤษ ผู้นำสหรัฐรุ่นก่อตั้งได้ใช้แนวคิดและหลักการของ อดัม สมิธ ในการวางรากฐานเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศทุนนิยมระดับแนวหน้าของโลก อีกตัวอย่างคือ ฮ่องกง ที่ตั้งใจลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจตามแนวคิด อดัม สมิธ จนฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก ภายในเวลาไม่ถึง 100ปี

กล่าวได้ว่า แนวคิด อดัม สมิธ ตั้งแต่หนังสือความมั่งคั่งของชาติตีพิมพ์ในปี 1 776 ระบบทุนนิยมได้ถือกําเนิดและได้เติบโตมาเป็นรูปแบบหลักของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจต่อเนื่องถึง 247ปี นำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในโลก ความยากจนที่เคยมีลดลง นี่คือตัวอย่างของพลังของความคิดที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

แต่แม้สิ่งที่ดีหลายอย่างเกิดขึ้น ในหนังสือความมั่งคั่งของชาติ อดัม สมิธ ก็ได้เตือนให้ระวังสองเรื่องที่อาจสร้างปัญหาต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งก็คือระบบทุนนิยม

เรื่องแรกคือ the prejudices of the public คือแรงต้านในสังคมที่ไม่เชื่อว่ากลไกตลาดและเสรีภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่มีบทบาทภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจจะสามารถทําให้เศรษฐกิจเติบโตและความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ไม่เชื่อว่าทำไมบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจจะไม่ดีต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นปัญหาของการไม่เชื่อว่าเสรีภาพทางเศรษฐกิจคือคําตอบที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น

เรื่องที่สอง คือ the power of the interests คือ พลังของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการมีบทบาทภาครัฐหรือการแทรกแซงของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ที่จะเสียประโยชน์ที่เคยได้ถ้าระบบเศรษฐกิจมีบทบาทภาครัฐน้อยลง เปลี่ยนมาเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีที่มีการแข่งขันมีเสรีภาพ ผู้ที่ได้ประโยชน์เหล่านี้จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจเสรีและปลอดการแทรกแซงของภาครัฐเกิดขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในทุกระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบทุนนิยมเป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ ข้อถกเถียงระหว่างกลไกตลาดและบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจมีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การต่อต้านการแข่งขันและเศรษฐกิจเสรีจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาครัฐก็มีให้เห็นในทุกประเทศ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฐจักรความมีเสถียรภาพและการเกิดวิกฤติในระบบทุนนิยม รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากับระบบทุนนิยมที่เป็นผลจากที่สังคมขาดจิตสํานึกในเรื่องความยับยั้งชั่งใจอย่างที่อดัม สมิธหวัง ทำให้สังคมไม่มีความสุขแม้ความมั่งคั่งจะมีมากขึ้น

นี่คือความเป็นอมตะของแนวคิด อดัม สมิธ ที่ชี้ให้เห็นถึงทางออกและปัญหาในการสร้างการเติบโตและความมั่งคั่งให้กับประเทศ เป็นข้อเท็จจริงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีให้เห็นต่อเนื่องมาแล้ว 247 ปี และคงจะเกิดขึ้นต่อไปอีกในอนาคต

เขียนให้คิด

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน