เศรษฐกิจโลกปีนี้ มีทั้งผิดหวังและน่าชื่นชม

18 ธ.ค. 2566 – กําลังใกล้หมดปี หลายคนคงอยากรู้ปีหน้าจะเป็นอย่างไรเพื่อจะได้วางแผนและเตรียมตัวให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บทความวันนี้จะย้อนไปดูปีนี้อีกครั้ง ดูในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจโลก เหมือนที่คิดไว้หรือไม่ อะไรที่เปลี่ยนไปและคาดไม่ถึง เพื่อให้เราเข้าใจปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจโลกหรือกําลังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกขณะนี้ได้ดีขึ้น เพื่อการประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องระวัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจโลกปีนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี พูดได้เลยว่ามีทั้งที่ผิดหวังและน่าชื่นชม คือผิดหวังและน่าชื่นชมเมื่อเทียบกับการประเมินและการคาดหวังที่เรามี และได้เคยแสดงความเห็นไว้ บางอย่างผิดไปมาก บางอย่างก็ดีเกินคาด ซึ่งตอกย้ำสิ่งที่เข้าใจอยู่เสมอว่า การเข้าใจเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแม้เราจะรู้การทํางานของเศรษฐกิจอย่างดี แต่สิ่งหรือผลที่ออกมาจริงๆ บางครั้งอาจไม่เหมือนที่คิดไว้ ต่างจากที่คิดไว้ ทําให้ยิ่งอยากเข้าใจมากขึ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์น่าสนใจ เพราะเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ที่บางครั้งเอาแน่เอานอนไม่ได้

สำหรับปีนี้ สิ่งที่ผิดหวังเพราะไม่เหมือนที่คิดไว้หรือวิเคราะห์ไว้ คงมี 3 เรื่อง

หนึ่ง การฟื้นตัวปีนี้ของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดออกมาตํ่ากว่าที่ประเมินไว้ตอนต้นปีมาก แม้จะรวมผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก ล่าสุดไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ตํ่ากว่าปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 คือปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงจากปีก่อนแทนที่จะขยายตัวได้มากขึ้น

จําได้ว่าช่วงต้นปีตลาดการเงินคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะพุ่งทะยาน ขยายตัวถึงร้อยละ 3.8 ขับเคลื่อนโดย 1.การใช้จ่ายของรัฐบาลทั่วโลกที่มุ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลของโควิด 2.เงินที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนเก็บออมไว้ไม่ใช้จ่ายช่วงโควิดที่จะถูกนําใช้จ่ายหลังเปิดประเทศ เรียกว่าเป็นการใช้จ่ายที่จะเอาคืนช่วงโควิดที่ไม่ได้ใช้จ่าย 3.การฟื้นตัวของจีน เศรษฐกิจอันดับสองของโลก ที่จะกลับมาใช้จ่ายหลังเปิดประเทศ ทําให้เศรษฐกิจโลกจะได้ประโยชน์ทั้งจากการค้าและการท่องเที่ยว นี่คือสิ่งที่ตลาดประเมินไว้

สิ่งที่ผิดหวังคือ เศรษฐกิจโลกไม่ได้พุ่งทะยานอย่างคาด ตรงกันข้าม การฟื้นตัวถูกดึงกลับทั้งโดยปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบของสงครามที่ยืดเยื้อ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจที่โยงกับภูมิศาสตร์การเมืองคือ เศรษฐกิจในโลกแบ่งขั้วและค้าขายกันเองระหว่างประเทศในขั้วมากขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองกระทบภาพรวมของการค้าโลกและการลงทุน และโดยปัจจัยนโยบาย ที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับสูงขึ้นทั้งปีเพื่อดูแลเงินเฟ้อ กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการลดการใช้จ่ายของภาครัฐเพราะหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นมาก เช่น กรณีสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้การผลิตในหลายพื้นที่ในโลกก็ถูกกระทบจากภาวะโลกร้อน ทั้งหมดเป็นผลให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ฟื้นตัวช้า ตํ่ากว่าคาด และอัตราการขยายตัวต่างกันมากระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรป และระหว่างประเทศพัฒนาแล้วเมื่อเทียบกับประเทศกําลังพัฒนา

เรื่องที่สองที่ผิดหวังคือ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะพุ่งทะยานหลังการเปิดประเทศที่เริ่มช่วงปลายปีที่แล้ว ที่จะเป็นพระเอกเข้ามาสร้างความแข็งแกร่งให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากการใช้จ่ายของจีนทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเร่งตัวปีนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นตามคาด ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคจีนหลังเปิดประเทศถูกกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจจีนมี และความไม่ชัดเจนด้านนโยบายว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร คือปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งสองปัญหากระทบภาคธุรกิจและครัวเรือนจีนโดยตรง และความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาก็มีต่อเนื่องทั้งปี ทําให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนจีนถูกกระทบ ไม่ออกมาใช้จ่ายอย่างที่อยากเห็น

ที่ต้องตระหนักคือรัฐบาลจีนเข้าใจทั้งสองปัญหาเป็นอย่างดีและต้องการแก้ไข แต่การดําเนินการต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เช่น ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะจะกระทบฐานะของสถาบันการเงินในจีนที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กระทบลูกหนี้ที่กู้เงินซื้ออสังหาฯ ซื้อบ้าน แต่อาจไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านที่ซื้อเพราะบริษัทที่ทำโครงการมีปัญหาหรือล้มไปแล้ว ตรงกันข้าม การเข้าไปอุ้มบริษัทอสังหาฯ ที่มีปัญหาโดยภาครัฐก็จะสร้างปัญหาเพราะเป็นการทํานโยบายที่ขาดวินัย ทำให้ความอ่อนแอจะลากยาวเพราะไม่มีการแก้ไข เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวยาวพร้อมสร้างภาระทางการคลังให้กับภาครัฐ นี่คือความละเอียดอ่อนของปัญหา

เรื่องที่สามที่ผิดหวังคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นผลจากภูมิศาสตร์การเมือง นําไปสู่สงครามและยังไม่สามารถหาข้อยุติหรือหาทางออกได้เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ปีนี้การยุติสงครามเป็นเรื่องที่ทุกคนหวัง แต่ไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม ความขัดแย้งกลับยืดเยื้อและยิ่งบานปลาย ส่งผลกระทบมากขึ้นๆ ต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งวิกฤตอาหาร วิกฤตพลังงาน และความไม่แน่นอนที่กระทบการทําธุรกิจ ล่าสุดก็เกิดการสู้รบในตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ยิ่งวันยิ่งรุนแรง เป็นเหมือนสงครามที่สองต่อจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลกทั้งด้านการผลิต ราคาพลังงานปัญหามนุษยธรรม และความไม่แน่นอนที่กระทบธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในการสํารวจความเห็นกว่า 130 ประเภทธุรกิจเมื่อเร็วๆ นี้ โดยสถาบัน Oxford Economics 2 ใน 5 ของผู้ให้ความเห็นมองความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่จะลากยาวไปในช่วงสองปีข้างหน้า

นี่คือสามเรื่องที่เป็นสิ่งที่ผิดหวังสำหรับเศรษฐกิจโลกปีนี้ ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่นภูมิศาสตร์การเมือง หรือความแตกแยกทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สามารถมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา จึงควรต้องให้ความสำคัญ ไม่ละเลย มองข้าม หรือมองตํ่าเกินไปในแง่ผลกระทบ นี่คือบทเรียนที่ชัดเจนจากเศรษฐกิจโลกปีนี้

แต่ขนานไปกับความผิดหวัง เศรษฐกิจโลกปีนี้ก็มีหลายเรื่องที่ออกมาดีเกินคาด เป็นความแปลกใจที่น่าประทับใจและน่าชื่นชม บางเรื่องเกิดเพราะเราเองประเมินความสามารถทางนโยบายที่จะแก้ปัญหาตํ่าเกินไป หรือมองข้ามความสามารถของเศรษฐกิจที่จะปรับตัวรับแรงกระทบต่างๆ ทําให้สิ่งที่คาดว่าจะร้ายกลับกลายเป็นดี เหนือความคาดหมาย

ในความเห็นของผม เศรษฐกิจโลกปีนี้มีอย่างน้อยสองเรื่องที่น่าชื่นชม เรื่องแรกคือ นโยบายการเงินสหรัฐที่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อลงได้ต่อเนื่องปีนี้ โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่กลับขยายตัวดี อัตราการว่างงานต่ำ และระบบการเงินสหรัฐมีเสถียรภาพ ถือเป็นความสำเร็จที่งดงามของการทํานโยบายที่เกินความคาดหมาย ที่เศรษฐกิจสหรัฐสามารถ Soft landing ได้เทียบกับช่วงต้นปีที่ตลาดการเงินประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยปีนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นเพื่อดูแลเงินเฟ้อความสำเร็จนี้ต้องยกเครดิตให้ธนาคารกลางสหรัฐ โดยเฉพาะประธาน คือ เจอโรม พาวเวลล์ ที่สามารถสื่อสารนโยบายการเงินได้อย่างดี มีเหตุมีผล ทําให้ตลาดการเงินและเศรษฐกิจปรับตัวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชมเชยของนโยบายการเงินและการทําหน้าที่ธนาคารกลาง

เรื่องที่สองที่น่าชื่นชม คือเศรษฐกิจโลกเองที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแกร่งและเข้มแข็งพอควร สามารถรับแรงกระทบและปรับตัวกับปัจจัยลบต่างๆ ที่มีมากมายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อของสงคราม ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่สูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่อง การฟื้นตัวที่ตํ่ากว่าเป้าของเศรษฐกิจจีน และดิสรัปชันที่มากับภาวะโลกร้อน แรงกระทบเหล่านี้ทําให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ฟื้นตัวตํ่ากว่าคาด แต่ก็ยังขยายตัว และไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้ตอนต้นปีว่าเป็นความเสี่ยง ชี้ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโลกที่ซ่อนอยู่

นี่คือสิ่งที่ผิดหวังและน่าชื่นชมสําหรับเศรษฐกิจโลกปีนี้ ดังนั้น สำหรับปีหน้าชัดเจนว่าภูมิศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องไม่มองข้ามเพราะสามารถกระทบเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คิด ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็มีน้ำอดน้ำทนและเข้มแข็งกว่าที่เข้าใจกัน ทั้งสองนัยนี้จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ซึ่งจะเป็นปีที่หลายฝ่ายคาดว่าผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยสูงต่อเศรษฐกิจจะมีให้เห็นมากขึ้น ขณะที่ภูมิศาสตร์การเมืองก็อาจยกระดับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญสุดต่อเศรษฐกิจโลก นี่คือสองเรื่องที่จะเป็นแนวหรือ Theme ของเศรษฐกิจโลกปีหน้า เป็นสองเรื่องที่เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องระวัง.

ดร บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน