รายงานความคืบหน้าถวายงานวัดเรื่องธรรมาภิบาล

20 พ.ย. 2566 – เมื่อเดือนเมษายน มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ร่วมกับมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) ได้เริ่มโครงการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อช่วยให้วัดมีระบบการบริหารจัดการที่ดี ภายใต้แนวปฏิบัติเก้าข้อในการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาล ที่มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลจัดทำขึ้น เป้าหมายคือถวายงานวัดโดยวางระบบการบริหารเพื่อลดภาระพระสงฆ์ในการบริหารวัด ให้วัดมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ได้มาตรฐาน โปร่งใส และตรวจสอบได้

โครงการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนธรรมาภิบาลไทย หรือ Thai CG Fund โดยมี 16 วัดทั่วประเทศสมัครใจเข้าร่วมโครงการ เป็นวัดนําร่องที่จะนําแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารวัดไปปฏิบัติใช้ โดยแต่ละวัดจะมีทีมอาสาสมัครหรือจิตอาสาในพื้นที่จากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคมหาวิทยาลัย เข้าร่วมช่วยเหลือในการวางระบบและนําแนวปฏิบัติที่ดีไปปฏิบัติใช้ จนวัดสามารถบริหารจัดการตามระบบงานใหม่ได้ด้วยตนเอง เป็นความร่วมมือที่น่าชื่นชมของทุกภาคส่วนในสังคมที่พร้อมใจถวายงานวัดเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา

ถึงวันนี้โครงการได้ดําเนินการมาแล้วหกเดือน มีความก้าวหน้าดีพอควร จึงขอรายงานสาธารณะความคืบหน้าของโครงการในบทความวันนี้

บ้าน วัด และโรงเรียน เป็นสามเสาหลักของสังคมไทย เป็นเสาหลักที่สำคัญของสังคมมาช้านาน และความเข้มแข็งของเสาหลักทั้งสามคือความเข้มแข็งของสังคมเรา ปัจจุบันแต่ละเสาหลักต่างมีความท้าทายความอ่อนแอ และปัญหาที่ต้องแก้ไข จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ในฐานะสมาชิกสังคม ที่ต้องช่วยกันร่วมมือกัน ช่วยแก้ปัญหาให้สังคมเราเข้มแข็ง

กรณีวัด ปัญหาสำคัญคือ ความห่าง หรือช่องว่างที่มีมากระหว่างวัดกับประชาชน พูดง่ายๆ ก็คือ คนไทยห่างวัดและไปวัดน้อยลง ซึ่งสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการวัดที่กระทบศรัทธาที่ประชาชนมีต่อวัด ซึ่งสําหรับกรณีหลัง การบริหารวัดที่เป็นระบบ โปร่งใส มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ น่าจะเป็นคําตอบที่จะช่วยรักษาศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวัดและต่อสถาบันพระพุทธศาสนา

มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมธรรมาภิบาลในการดําเนินนโยบายสาธารณะและในการบริหารจัดการองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น สมาคม สหกรณ์ วัด มูลนิธิมหาวิทยาลัย และองค์กรสาธารณะ

ในกรณีวัด มูลนิธิมีความเห็นว่า การบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เพราะวัดเป็นองค์กรที่ต้องมีการบริหารจัดการ แต่การบริหารต้องให้ความสำคัญกับลักษณะพิเศษของวัดคือ พ.ร.บ.สงฆ์ ที่เป็นกฎหมายกำกับดูแลวัด พระธรรมวินัยที่กำกับดูแลสงฆ์ รวมถึงหลักธรรมาภิบาลทั่วไปของการบริหารจัดการ เช่น มีระบบงานที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งระบบการบริหารวัดที่ดีจะช่วยลดภาระพระสงฆ์ในการบริหารวัด ลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด และช่วยให้พระสงฆ์สามารถใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สะท้อนแนวคิดดังกล่าว มูลนิธิร่วมกับผู้มีความรู้ในวงการสงฆ์ได้พัฒนาแนวปฏิบัติเก้าข้อในการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาล โดยเน้นในสามเรื่องที่จะสำคัญต่อการบริหารวัด หนึ่ง การตัดสินใจเป็นหมู่คณะซึ่งเป็นหลักการดั้งเดิมของการบริหารสังฆะ สอง มีระบบงานบริหารวัดที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐาน สาม มีการตรวจสอบจากภายนอก โดยแนวปฏิบัติเก้าข้อ สรุปได้ดังนี้

หนึ่ง วัดบริหารโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด และคฤหัสถ์ที่ได้รับการคัดเลือก มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน ในกรณีวัดขนาดใหญ่ วัดบริหารโดยคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการกำกับดูแลที่มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารที่เจ้าอาวาสแต่งตั้ง

สอง กำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งคฤหัสถ์ที่เข้ามาทําหน้าที่กรรมการและไวยาวัจกรกรรมการและไวยาวัจกรเสนอชื่อได้โดยชุมชน

สาม เจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด และคฤหัสถ์ที่ทําหน้าที่กรรมการควรเพิ่มพูนความรู้เรื่องการบริหารกฎหมาย และธรรมาภิบาล แล้วแต่กรณี

สี่ วัดควรกำหนดนโยบายและระเบียบที่สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ทราบทั่วกัน

ห้า วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบควบคุมภายใน และระบบบริหารศาสนสมบัติ ที่เป็นมาตรฐาน มีบุคลากรที่มีความรู้จัดทํารายงานทางการเงินและดูแลการบัญชีของวัด

หก วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในเพื่อดูแลการปฏิบัติงานของวัดตามระเบียบ แต่งตั้งผู้สอบทานบัญชีจากภายนอกเพื่อสอบทานและยืนยันความถูกต้องทางบัญชี

เจ็ด วัดจัดทํารายงานทางการเงินและรายงานต่างๆ ตามระเบียบที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด

แปด วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจลักษณะทั้งข้อมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน

เก้า คณะกรรมการที่กำกับดูแลและที่ทําหน้าที่บริหารวัด ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล คือ มีการประชุม มีวาระการประชุม มีการจดบันทึก และจัดทํารายงานการประชุม

แนวปฏิบัติทั้งเก้าข้อเป็นพื้นฐานที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับวัดทุกขนาด ทุกประเภท โดยรายละเอียดจะต่างกันไปตามขนาด ความซับซ้อน และบุคลากรที่วัดมี การนําแนวปฏิบัติไปใช้จริงให้เกิดผล จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสิ่งที่สามารถทำได้

เมื่อเริ่มโครงการเดือนเมษายน มี 16 วัดจากทั่วประเทศสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มีทั้งวัดขนาดใหญ่ วัดขนาดกลาง วัดขนาดเล็ก วัดหลวง วัดราษฎร์ วัดในเมือง วัดในชนบท และวัดป่า วัดเหล่านี้สนใจที่จะนำแนวปฏิบัติเก้าข้อไปปฏิบัติใช้ให้เป็นตัวอย่าง ถือเป็นวัดนำร่องของโครงการ ซึ่งถึงเดือนที่แล้ว คือตุลาคมมี 11 วัด จาก 16 วัดที่ได้เริ่มโครงการแล้ว เริ่มวางระบบ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ศรีสะเกษ ยโสธรนครศรีธรรมราช นครปฐม สมุทรปราการ จันทบุรี กรุงเทพมหานคร โดยแต่ละวัดมีทีมจิตอาสาหรืออาสาสมัครเข้าช่วยวัดในการวางระบบ เริ่มจากระบบงานการเงิน บัญชี การบริหารศาสนสมบัติ การควบคุมภายใน ต่อด้วย การทําหน้าที่ของคณะกรรมการ การมีระเบียบต่างๆ ที่วัดควรมี การรายงานและเปิดเผยข้อมูล ซึ่งแต่ละวัดการวางระบบมีความคืบหน้าด้วยดี เป็นการทํางานร่วมกันระหว่างเจ้าอาวาส พระสงฆ์ในวัด ทีมงานคฤหัสถ์ของวัด ประชาชนในพื้นที่ และทีมงานจิตอาสาที่สมัครใจใช้ความรู้ถวายงาน ให้วัดมีการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล

ทีมจิตอาสาทั้งหมดขณะนี้มีกว่า 50 ชีวิต มาจากภาคธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ เช่น กทม. เชียงใหม่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภาคมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้งหมดมาร่วมทํางานด้วยใจเหมือน มฆมานพ ในตำนานพระพุทธศาสนา คือผู้ที่ทําความดีด้วยหัวใจ

ล่าสุด มีบริษัทในภาคธุรกิจที่เห็นประโยชน์ของโครงการ และร่วมสนับสนุนบริจาคปัจจัยช่วยเหลือการจัดซื้ออุปกรณ์ให้วัดที่ขาดแคลนเพื่อการวางระบบงาน เช่น มูลนิธิทองพูล หวั่งหลี บริจาคปัจจัยช่วยเหลือวัดเหล่าอาภรณ์ อําเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร หนึ่งในวัดที่อยู่ในโครงการ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สํานักงานในการทําระบบบัญชีของวัด เป็นตัวอย่างความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการในการทําประโยชน์เพื่อสังคมและพระพุทธศาสนา

โครงการมีระยะดำเนินการ 18 เดือน ถึงธันวาคมปีหน้า ที่จะช่วยทั้ง 16 วัดในการวางระบบการบริหารติดตาม และแนะนำช่วยเหลือจนวัดสามารถบริหารงานตามระบบงานใหม่ได้ด้วยตนเอง โดยหวังว่าวัดนําร่องเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างของวัดที่มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และหลังจบโครงการสิ้นปีหน้า มูลนิธิจะทําการประเมินผลและจัดทํารายงานเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในองค์กรพระพุทธศาสนาต่อไป เพื่อขยายผลการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลในวงกว้าง

ผู้ที่สนใจ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการมีส่วนร่วมในโครงการ ติดต่อมูลนิธิได้ที่ Email: [email protected] หวังว่าจะได้ทํางานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา.

เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน