ไม่อยากให้เศรษฐกิจโลกเดินกลับสู่อดีต

22 ม.ค. 2567 – เรากําลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของเศรษฐกิจโลก ที่การเปลี่ยนแปลงสำคัญได้เกิดขึ้นและกําลังเกิดขึ้นแบบที่น้อยคนจะตระหนัก คือในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในเวลาไม่ถึงหนึ่งพันวัน เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนเร็วมาก เปลี่ยนโดยไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้นได้

หนึ่ง เรามีการระบาดของโควิดที่เป็นเรื่องใหม่ นำไปสู่มหันตภัยทางสาธารณสุขและวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกว้างขวางและรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เป็นภัยที่ทุกคนตั้งตัวไม่ทันเพราะไม่มีใครคาดมาก่อน ชี้ถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่จะต่อสู้กับภัยที่คาดไม่ถึง

สอง เราเห็นการประทุขึ้นของสงคราม คือการสู้รบระหว่างประเทศที่ได้กลับมาให้เห็นอีกถึงสองสงครามในเวลาไล่เลี่ยกันคือไม่ถึงสิบแปดเดือน หลังโลกได้อยู่ในความสงบมานาน คือสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกต่อปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง และความเป็นไปได้ที่สันติภาพในโลกอาจกําลังกลายเป็นอดีต

สาม เราเห็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจคือ สหรัฐกับจีนที่เร่งตัวขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกทางเศรษฐกิจ มาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน นโยบายอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยเหตุผลทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาและลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น เป็นความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทําให้เศรษฐกิจโลกและการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะแยกกันไม่ออก และเป็นบริบทที่จะมีอิทธิพลต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทําให้เศรษฐกิจโลกที่เราคุ้นเคยกําลังเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบอย่างไรจบเมื่อไร และสิ่งสำคัญมากที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงได้ทำลายปัจจัยที่สนับสนุนให้โลกาภิวัตน์พัฒนาขึ้นมาเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบทุนนิยมโลกในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา ทําลายลงเกือบสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อที่ตํ่า ความเป็นเสรีของการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน และทรัพยากรบุคคลระหว่างประเทศ และกลไกพหุภาคีที่ดูแลการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ถูกกระทบหรือถูกทำให้หายไป พร้อมบทบาทที่ลดลงของโลกาภิวัตน์ในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจโลก สิ่งที่เข้ามาแทนคือ ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ บทบาทที่สูงขึ้นของภาครัฐ และความไม่แน่นอน ซึ่งท้าทายมากสำหรับภาคธุรกิจ

ในการประชุมฟอรัมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อาทิตย์ที่แล้ว ผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจทั่วโลกรวบรวมเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่แล้วชี้ชัดในประเด็นนี้ กล่าวคือ นอกเหนือจากความห่วงใยว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอจากผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูง ประเด็นภูมิศาสตร์การเมืองได้ถูกยกมาเป็นความเสี่ยงที่นักธุรกิจมองว่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างสําคัญปีนี้ โดยร้อยละ 70 มองความแตกแยกทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวมากขึ้น ร้อยละ 87 มองว่า ความแตกแยกทางเศรษฐกิจจะทําให้ความผันผวนในเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ร้อยละ 80 มองว่าความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 80 มองภูมิศาสตร์การเมืองว่าจะทําให้การค้าขายระหว่างประเทศในกลุ่มการเมืองหรือค่ายการเมืองเดียวกันเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ร้อยละ 86 คาดว่าสื่งที่เกิดขึ้นในภูมิศาสตร์การเมืองโลกจะทําให้ประเทศต่างๆหันมาพึ่งตนเองมากขึ้นคือ ผลิตเองใช้เองมากกว่าจะค้าขายกับต่างประเทศ ทําให้การค้าระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์จะถูกลดความสำคัญลง

ในเรื่องนี้ ผมมีความเป็นห่วงว่าสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นเหมือนกําลังผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเดินถอยหลังกลับสู่สถานการณ์คล้ายยุคปี 70 ที่จะไม่ดีเลยต่อเศรษฐกิจโลก สมัยนั้นคือยุคปี70 การเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีน้อย ไม่มีการขยายการค้าและห่วงโช่การผลิตอย่างในปัจจุบัน และไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบโลกาภิวัตน์ เป็นเศรษฐกิจโลกแบบต่างคนต่างอยู่และทุกประเทศต้องพึ่งตนเองเอาตัวให้รอดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและความแตกแยกของการเมืองระหว่างประเทศใหญ่ที่มีในตอนนั้น ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกตอนนี้ก็กําลังมีหลายเรื่องที่คล้ายกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกตอนนั้น

หนึ่ง ช่วงปี70 เป็นช่วงที่โลกไม่สงบ เป็นยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต ที่การแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจมีทั้งการเมือง คือระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย การทหารผ่านสงครามตัวแทนในหลายประเทศ ทางเทคโนโลยีคือแข่งกันเป็นที่หนึ่งในอวกาศ ทางเศรษฐกิจระหว่างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมกับทุนนิยม ทําให้เศรษฐกิจโลกใช้ทรัพยากรด้านการทหารมาก การพัฒนาของภาคเอกชนไปได้ช้า และทุกอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมือง

ซึ่งขณะนี้กําลังดูคล้ายกัน คือโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ระบบการปกครองต่างกันคือคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย ความไม่สงบในโลกเริ่มมีมากขึ้น และการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอํานาจมีในทุกมิติ ต่างกันเพียงจีนมีระบบทุนนิยมแบบจีน

สอง ช่วงปี 70 เป็นยุคที่ราคานํ้ามันแพงเพราะมีวิกฤติการณ์นํ้ามัน อัตราเงินเฟ้อสูงเพราะธนาคารกลางเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสูงเพราะไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบโลกาภิวัตน์ เป็นสามสูงทั้งราคานํ้ามัน อัตราดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ ซึ่งเศรษฐกิจโลกปัจจุบันก็กําลังไปทางนั้น คืออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และ ราคานํ้ามันก็สูง คล้ายกับเศรษฐกิจโลกช่วงปี 70 ซึ่งจะสร้างข้อจำกัดมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

สาม อีกประเด็นที่คล้ายกันคือ ไม่มีความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆที่จะร่วมกันแก้ปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งสมัยยุคปี 70 ความร่วมมือยังไม่มีหรือจํากัดมาก เพราะเป็นโลกของสองประเทศมหาอำนาจที่แข่งกันและไม่มีฟอรัมหรือเวทีที่จะให้ร่วมมือกัน ทำให้เศรษฐกิจโลกตอนนั้นไม่มีภาวะผู้นําที่จะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ก็คล้ายกัน ต่างกันเพียงความร่วมมือในอดีตเคยมีแต่การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนปัจจุบันได้ทําให้ความร่วมมืออ่อนแอลง ผลคือโลกขาดภาวะผู้นำที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญๆ เช่นภาวะโลกร้อน

นี่คือความเหมือนที่ปฏิเสธไม่ได้ และถ้าสถานการณ์ข้างหน้าแย่ลงและเศรษฐกิจการเมืองโลกกลับไปคล้ายปี 70 จริง การแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีโดยความร่วมมือของประเทศต่างๆก็คงเกิดขึ้นยากมาก เป็นต่างคนต่างอยู่ และเศรษฐกิจโลกก็จะขยายตัวหรือเติบโตไม่ได้มากถ้าปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองไม่คลี่คลาย บทเรียนสำคัญจากช่วงปี70 คือ การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ใช้เวลาในการหาทางออก แต่เมื่อทางออกมีแล้ว ความสงบกลับมา เศรษฐกิจโลกก็เติบโตได้อย่างพุ่งทะยานเพราะโลกจะกลับมาค้าขายกันอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ทุกประเทศจะเติบโตและได้ประโยชน์

ด้วยเหตุนี้จึงหวังอย่างลมๆแล้งๆว่าการเมืองโลกจะมีข้อยุติทําให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการเดินกลับสู่อดีตของเศรษฐกิจโลกได้เพื่อประโยชน์ของทุกประเทศ

เขียนให้คิด

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน