สนค.ขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจสีม่วง' เพิ่มบทบาทสตรี ทำงาน มีรายได้

สนค.เผย “เศรษฐกิจสีม่วง” ที่มุ่งเน้นงานบริการดูแลผู้อื่น และความเท่าเทียมทางเพศ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น เนื่องจากหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงให้มีงานทำและมีรายได้ ส่วนไทยดัชนีความเสมอภาคดีขึ้นต่อเนื่อง ด้าน “พาณิชย์” หนุนผู้หญิงทำมาค้าขาย พร้อมโครงการสนับสนุน

13 ส.ค. 2566 – นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทั่วโลกได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การขยายตัวของสังคมเมืองและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานมีภาระต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น ซึ่งการดูแลผู้อื่นจัดเป็นงานบริการที่ไม่ได้ค่าจ้าง และส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้หญิง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้รายงานว่า ในปี 2018 ทั่วโลกมีแรงงานที่ต้องทำงานพร้อมกับดูแลผู้อื่น โดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงต้องดูแลคนในครอบครัวพร้อมกับทำงานนอกบ้านควบคู่กัน สะท้อนถึงภาระของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของเศรษฐกิจสีม่วง (Purple Economy) หรือเศรษฐกิจแห่งการดูแล ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำนิยามของ เศรษฐกิจสีม่วง ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของงานบริการดูแลผู้อื่น (care work) ความเท่าเทียมทางเพศ และการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้หลายภาคส่วนได้นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีม่วงเข้ามาช่วยวัยแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง ให้มีงานทำและมีรายได้ และดึงศักยภาพของผู้หญิงที่สามารถสร้างประโยชน์ในมิติเชิงเศรษฐกิจและสังคม และยังช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จากรายงานของ McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่าถ้าตลาดแรงงานมีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น จะทำให้ทั่วโลกมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ภายในปี 2025 และจะส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีม่วงและการจ้างงานผู้หญิง อาทิ รวันดามีนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สิงคโปร์ให้การสนับสนุนทางการเงินและพัฒนาทักษะให้กับผู้หญิง และไอซ์แลนด์ออกกฎหมายแรงงานให้มีความเท่าเทียม สำหรับไทย สถานการณ์ความเสมอภาคระหว่างเพศชายและหญิงของไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ (Gender Inequality Index : GII) ในปี 2021 ไทยมีคะแนน 0.333 ดีขึ้นจาก 0.419 ในปี 2016 แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการเรื่องความเสมอภาคทางเพศที่ดีขึ้นของสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานทำและมีรายได้

กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งให้มีความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยได้มุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ท้องถิ่นในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัว และมีรายได้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งได้ดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ โครงการสร้างชุมชนสู่ออนไลน์สร้างรายได้ธุรกิจ (Digital Village by DBD) ที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถวางแผนจัดจำหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในชุมชน ท้องถิ่นสามารถหารายได้และยังมีเวลาดูแลครอบครัว และตลาดเที่ยวได้สไตล์ไทย ๆ (Village to Town) ที่ส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จาก “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนำร่องที่เป็นแรงงานผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคลองบ่อแสน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านโพธิ์เมือง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

บ้านนาป่าหนาด กระทรวงพาณิชย์ยังตระหนักถึงความสำคัญและมองเห็นศักยภาพของผู้หญิงที่ต้องทำงานและดูแลครอบครัว จึงมีนโยบาย กิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้หญิงมีความภาคภูมิใจในการทำงาน มีรายได้ และสามารถดูแลคนในครอบครัวควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจสีม่วงเศรษฐกิจแห่งการดูแล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สนค. ชี้ทุกหน่วยงานนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เร่งทุกหน่วยงานเชื่อมข้อมูล

นโยบายรัฐบาลดิจิทัลจะประสบความสำเร็จต้องช่วยกันอย่างจริงจัง แนะเร่งหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินเชื่อมข้อมูลระหว่างกัน

สนค. เผยอาเซียนเนื้อหอม แนะเร่งเตรียมพร้อมทุกมิติ ดึงลงทุนในไทย

สนค. เผยว่า FDI ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยปี 2565 ไทยมีมูลค่า FDI เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคอาเซียน หดตัวร้อยละ 31.5 ขณะที่มูลค่า FDI ของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในไทยยังมีทิศทางที่ดีจากการขยายตัวถึงร้อยละ 72 ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2566 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมแนะให้เร่งส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก ลดอุปสรรค ขยายคู่ FTA