เอกชนกางโจทย์หินรับ "รัฐบาลป้ายแดง" จี้เร่งฟื้นศก.-ดูแลค่าครองชีพ นักวิชาการแนะใช้มาตรการพุ่งเป้า

28 ส.ค. 2566 – ล่วงเลยมากว่า 3 เดือน สำหรับกระบวนการเลือก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ของประเทศไทย ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้ขั้นตอนและวิธีการต่างๆ อาจจะล่าช้าออกไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็ชัดเจนแล้วว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 482 คะแนน โดยจะเร่งเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับพรรคร่วมต่อไป

แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างจับตามอง โดยเฉพาะ “ภาคธุรกิจ” ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นความชัดเจนและหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อมาเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่พร้อมเข้ามากดดันการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจจีนที่ไม่ฟื้นตัวตามคาด ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลกระทบทั้งภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ตลอดจนปัจจัยเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น สถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งการมีรัฐบาลใหม่โดยเร็วเพื่อเข้ามาเร่งวางกลยุทธ์รับมือและแก้ปัญหาจะเป็นเรื่องที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจได้มากกว่า

โดยมุมของนักวิชาการอย่าง เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสารสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หลังจากประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้แล้ว มองว่าควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะขยายตัวไม่ถึง 3% นับว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่ากังวล จากกำลังซื้อของประชาชนชะลอตัว รายได้เพิ่มช้าเกินไป จึงต้องเพิ่มกำลังซื้อเพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ต้องสร้างโมเมนตัมและกระตุ้นการจับจ่าย โดยมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องเป็นแบบพุ่งเป้าและมุ่งไปสู่กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ อาจจะเป็นการช่วยลดค่าครองชีพ อาทิ การลดราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม หรือแม้แต่การใช้เงินเข้ามาช่วยเพื่อให้ผ่านไตรมาสสุดท้ายไปให้ได้ แต่มาตรการที่จะนำมาใช้ต้องมีการกระจายรายได้ที่ดีแบบรัฐบาลก่อนหน้า อาทิ คนละครึ่ง แต่ต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่าจะเป็นการกระตุ้นรอบสุดท้ายหรือในช่วงที่เหลือของปีนี้เท่านั้น

ส่วนในปี 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจควรเป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องสร้างรายได้ให้กับประเทศและต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวทั้งจากไทยเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ แน่นอนว่าการทำตลาดท่องเที่ยวต้องมีความเข้มข้นและเร็ว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง รวมถึงยังต้องมีการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งหัวเมืองใหญ่และเมืองรอง เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดกับประชาชนให้จังหวัดต่างๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีหน้าการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ และต้องเร่งดึงต่างชาติเดินทางเข้ามาช่วงไฮซีซั่น

ขณะเดียวกัน การสร้างความเชื่อมั่นก็มีส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องทำภาพเศรษฐกิจให้ชัดเจนว่าแต่ละไตรมาสจะมีมาตรการและนโยบายด้านไหนที่จะเข้ามาช่วยประชาชนบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพและสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ส่วนในแง่ผู้ประกอบการเองก็ต้องช่วยเหลือ โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือลดภาระดอกเบี้ยโดยมีภาครัฐค้ำประกัน แต่ที่ผ่านมามาตรการเหล่านี้จะเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่นอกระบบและเดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงส่วนนี้ได้ จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ เพราะหากยังไม่เข้าสู่ระบบก็ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือ

“ตอนนี้การเลือกเจ้ากระทรวงเป็นสิ่งสำคัญและต้องทำงานหนัก ต้องดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ แน่นอนว่ากระทรวงต่างๆ อาจจะมาจากหลายพรรคการเมือง แต่การทำงานต้องมองไปทางเดียวกัน ต้องมีโรดแมปร่วมกัน เพื่อจะให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรม และมองโจทย์ว่าประชาชนจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่กินดีอยู่ดี ประสานงานฝ่ายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ปัญหาปากท้องต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ส่วนนโยบายที่หาเสียงไว้หากทำในช่วงที่ประเทศอ่อนแอก็น่ากังวล เพราะเศรษฐกิจยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าจะทำก็ต้องบริหารให้กระทบน้อยที่สุด อย่างเรื่องการขึ้นค่าแรง อาจจะทยอยขึ้นไหม และจะช่วยผู้ประกอบการยังไงหลังจากนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ เป็นโจทย์ที่อยากเห็นในรัฐบาลชุดใหม่” เกียรติอนันต์ ระบุ

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่การเลือกนายกรัฐมนตรีสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เป็นไปตามความต้องการของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่โหมดการเดินหน้าเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่างๆ และหลังจากนี้จะต้องมีการฟอร์มทีม ครม.ชุดใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีบุคคลใดเข้ามาบ้าง โดยภาคเอกชนหวังว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งต่างๆ จะมีการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญและเหมาะสมในแต่ละด้านอย่างแท้จริง

สำหรับ การบ้านเร่งด่วนที่ต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่เพื่อให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรกของการรับตำแหน่ง ได้แก่ เร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพ และลดต้นทุนให้ภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ, เร่งเสริมความโดดเด่นของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว และเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

รวมถึง เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่อ และจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกในอนาคต

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเองมีความน่าเป็นห่วง หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2566 โตเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 3% และครึ่งปีแรกโตเพียง 2.2% โดยเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เชื่อมั่นว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังและตรงจุด รวมถึงดำเนินการตาม 3 ข้อเสนอเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้กลับมาเติบโตได้โดดเด่น และทำให้ภาพรวมทั้งปี 2566 สามารถเติบโตตามเป้าหมายได้เกิน 3%”

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเองก็มีความยินดีที่ได้เห็นความปรองดองเกิดขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ เดินหน้าเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหลากหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ของโลกซึ่งกำลังคุกรุ่น ขณะที่การค้าระหว่างประเทศก็มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ส่วนปัญหาในประเทศก็จะมีเรื่องของหนี้ครัวเรือน ความยากจน ซึ่งทุกประเด็นจะต้องได้รับความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ไทยเกิดความเข้มแข็งและสามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคดังกล่าวเหล่านี้ต่อไปได้

ด้าน สมชาย พรรัตนเจริญ อดีตนายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่ได้มีการศึกษามาตรการเรื่องการแข่งขันด้านสิทธิทางภาษี ให้ร้านโชห่วยขนาดเล็กสามารถเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างเต็มตัว อาทิ เปิดแคมเปญค้าปลีกปลอดภาษีใน 5 ปี ให้สิทธิสำหรับร้านโชห่วยที่เปิดใหม่ โดยอาจจะยกเว้นการจ่ายภาษี 3-5 ปี เพื่อให้ร้านค้าสามารถตั้งตัวได้แล้วเก็บภาษีหลังจากนั้น ซึ่งจะทำให้มีคนอยากเข้าสู่ระบบการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยหลังเกษียณ และมีบั้นปลายชีวิตกลับไปทำการค้าที่บ้านเกิด ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนสูงอายุในการทำกิจการเล็กๆ ที่ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานและงบประมาณของภาครัฐมากเกินไป

ส่วนผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น ส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลใหม่ควรเร่งกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ ตลอดจนมีมาตรการในการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กันไปด้วย พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งฟื้นเศรษฐกิจตามนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้ และขอฝากความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าความเชื่อมั่นกลับมาเศรษฐกิจก็น่าจะดีขึ้น แต่อยากให้ระวังเรื่องหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งไปกว่า 90% แล้ว

ด้าน พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย มองว่า หลังรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ทาง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย จะเข้าพบรัฐบาลขอให้ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โดยสมาคมอาคารชุดไทยมีข้อเสนอ 2 เรื่อง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อตลาดคอนโดมิเนียม

ประกอบด้วย 1.ขอให้ทบทวนเรื่องมาตรการ LTV เนื่องจากปัจจุบันตลาดเก็งกำไรไม่มีแล้ว แต่คนอยากซื้อคอนโดมิเนียมเป็นหลังที่ 2 ใกล้ที่ทำงานหรือโรงเรียนลูก ซึ่งเป็นดีมานด์จริง โดยขอให้ ธปท.กลับมาผ่อนผันเกณฑ์ตรงนี้อีก 2 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น 2.ผ่อนเกณฑ์วีซ่าสำหรับต่างชาติที่ซื้อคอนโดมิเนียม โดยอยากขอให้ปรับลดลงมาเป็นมิดเทอมวีซ่า 3-5 ปีให้ครอบคลุมนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไทย

เรียกว่ามีการบ้านชุดใหญ่ที่เป็นโจทย์หินรอให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการ นอกเหนือจากการเร่งดำเนินการตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ หลายส่วนมองว่าภารกิจครั้งนี้ไม่ง่าย เป็นการบริหารประเทศภายใต้ความเสี่ยงและความท้าทายแบบรอบด้าน เป็นโจทย์วัดฝีมือรัฐบาลจาก “พรรคเพื่อไทย” อีกครั้ง!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' ปัดวงกินข้าวเที่ยงมี 'ทักษิณ' ร่วมจัดโผครม. แจงถก 'นายกฯ-เลขาฯ' เรื่องงาน

'ภูมิธรรม' ยืนยันวงกินข้าวเที่ยงวานนี้ไร้เงา 'ทักษิณ' แจงถก ’นายกฯ-เลขาฯ’ คุยเรื่องงาน ไม่มีคุยปรับ ครม. - ส่อเค้า ปรับโฆษก หลังปรับ ครม.

จวก 'นักโทษ' โชว์กวนโอ๊ยสังคม นายกฯ ยังก้มไหว้ นัดหารือเคาะโผปรับ ครม.

'จตุพร' งง ปชช.ไม่รู้สึกรู้สาเลยเหรอ ที่เห็นภาพนักโทษโชว์กวนโอ๊ยสังคม นายกฯ ยังก้มไหว้ นัดหารือเคาะโผปรับ ครม. ซัดแสดงพฤติกรรมยิ่งใหญ่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ระวังสะสมอารมณ์เดือด ก่อแรงกระเพื่อม ประเทศจะเสียหายนาน 9 ปีโดยเปล่าประโยชน์อีก

'สมาคมธนาคารไทย' ลดดอกเบี้ยตอกย้ำความขัดแย้งนายกฯกับผู้ว่าฯธปท.

'อดีตรมว.คลัง' ชี้สมาคมธนาคารไทยลดดอกเบี้ย ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าฯแบงค์ชาติ กลยุทธ์ที่นายกฯ งัดมาใช้นั้นไม่สำเร็จ ไม่มีผลต่อการลงทุนภาคเอกชนเพราะเป็นเพียงระยะสั้น

'ในหลวง' พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายกฯ บังคลาเทศ เฝ้าฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เชค ฮาซีนา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย