ตีปี๊บ โครงการแลนด์บริดจ์ เปิดทางกฎหมายพิเศษเหมือนอีอีซี เอื้อนักลงทุน

“ปลัดคมนาคม” เชื่อ ต่างชาติสนใจ “โครงการแลนด์บริดจ์” พร้อมออกกฎหมายพิเศษ ลักษณะเดียวกับอีอีซี เอื้อนักลงทุน ยันไทยได้ประโยชน์

13 พ.ย.2566 –  เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 12 พ.ย. 2566 (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช้ากว่ากรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง ) นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวระหว่างร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงการเตรียมโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ ว่า ไม่ใช่โครงการที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นนานพอสมควรและมีการพูดคุยตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลที่แล้วให้ศึกษาเรื่องแลนด์บริดจ์ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ หรือโลเคชั่นที่ได้เปรียบ เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่าง 2 ฝั่งทะเล ได้แก่ ฝั่งทะเลจีนใต้ และฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะมีการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ไปยังโรงงานในผลิตใน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เมื่อผลิตเสร็จสินค้าส่วนหนึ่งจะข้ามไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก

นายชยธรรม์ กล่าวว่า อีกส่วนจะวกกลับผ่านช่องแคบมะละกาไปทางยุโรป เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ตรงกลางจึงมีโลเคชั่นที่ได้เปรียบ อีกทั้งสินค้าที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกามีจำนวนมากขึ้นและในอนาคตอาจจะมีปัญหาการส่งสินค้าได้ จึงเป็นจังหวะที่ประเทศไทยได้เปรียบ หากสามารถดึงสิ่งที่อยู่ในเส้นทางเดินเรือโลกมาผ่านประเทศไทยได้ โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้เส้นทางการขนส่งสินค้าสั้นลงประมาณ 5 -​ 10 วัน และหากได้ทำโรดโชว์โครงการนี้ให้คนเห็น และมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยก็มีโอกาสที่โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้และประเทศไทยจะได้ประโยชน์

นายชยธรรม์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่นายกฯ พูดในหลายๆเวที ก็มีหลายประเทศให้ความสนใจ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลที่มาโรดโชว์ในสหรัฐอเมริกา สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ เพื่อต้องการมารับฟังความเห็นของนักลงทุนว่า ถ้าต้องการมาลงทุนในประเทศไทย มีปัจจัยอะไรที่ต้องการ และให้เราเตรียมให้ โดยมุมหนึ่งในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ คือเรื่องกฎหมาย จะต้องมีกฎหมายพิเศษที่เป็นลักษณะเดียวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี ) จากนั้นจะนำความเห็นจากการโรดโชว์ไปประมวลว่าสิ่งใดสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน หรือมีอะไรที่จะต้องเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจด้วยหรือไม่ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จะต้องคุยกันว่าเขามีความประสงค์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม โครงการแลนด์บริดจ์ นอกจากจะนำเรือเดินสินค้ามายังประเทศไทยแล้ว ส่วนที่นายกฯ มองคือให้เขามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์แล้วส่งออก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่างๆถูกลง อีกทั้งลดระยะเวลาการเดินทาง และสิ่งนี้จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์น่าสนใจมากขึ้น

เมื่อถามถึง เป้าหมายของนักลงทุนจะเป็นต่างชาติ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่เรามอง โดยเรามองว่าเมื่อสร้างเสร็จต้องมีคนมาใช้ ดังนั้นคนที่จะมาลงทุนจะต้องเป็นคนที่อยู่ในธุรกิจนี้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่า โครงการนี้จะเกิดได้เมื่อไหร่ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังโรดโชว์เสร็จสิ้น ก็จะกลับไปประมวลว่า จะต้องทำกฎหมายพิเศษอย่างไร เมื่อทำเสร็จแล้วจะเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ปีจะมีความชัดเจน โดยในกรอบของกฎหมายจะมีการตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการที่จะมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องหลายกระทรวง โดยจะมีการรายงานนายกฯโดยตรง สำหรับเป้าหมายประเทศที่อยากให้มาลงทุนในโครงการดังกล่าวมีทั้งตะวันออกกลาง จีน ยุโรป อเมริกา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟื้นคุ้ยแลนด์บริดจ์!เครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนองบุกสภาร้อง 4 กมธ.

เครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนองบุกสภา ร้อง ปธ.กมธ. 4 คณะตรวจสอบ โครงการแลนด์บริดจ์ ในทุกมิติ เหตุมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ- รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาคนในพื้นที่

“อนุทิน” ปลุก "ชาวระนอง" หนุนโครงการแลนด์บริดจ์ มั่นใจ บูมเศรษฐกิจ ไม่กระเทือนท่องเที่ยว

29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงเรียนชาติเฉลิม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายกฯ หนุนอุตสาหกรรมโรงแรม ผ่านงาน THAIFEX – HOREC ASIA 2024

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนับสนุนการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรม HoReCa (Hotels Restaurants & Catering)