'จุลพันธ์' ปักหมุดสางหนี้ทั้งระบบเร่งพิจารณารายละเอียดอุ้มสหกรณ์เกษตร

“จุลพันธ์” การันตีรัฐบาลปักหมุกสางหนี้ทั้งระบบ งัดทุกกลไกช่วยเหลือเต็มพิกัด รับห่วงเกิด Moral Hazard แจงเร่ง พิจารณารายละเอียดพักหนี้สหกรณ์เกษตร เดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี พร้อมคาด 2 สัปดาห์ลุยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท

20 พ.ย. 2566 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เตรียมแถลงใหญ่ถึงมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 ว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดทั้งหมด จึงอยากให้รอความชัดเจนก่อน แต่เบื้องต้นยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นคนละส่วนกับโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ครั้งนี้รัฐบาลจะใช้กลไกในการแก้ไขโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอฟังจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจจะทำให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) แต่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ต่อประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กมันสูงมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องยกเอาแรงกดดันเหล่านี้ออกจากประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นการต่อลมหายใจ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าการพักหนี้ครั้งนี้ จะไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เพราะรัฐบาลมีกลไกประกอบหลายอย่างในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าการพักหนี้ในครั้งนี้ประกอบกับกลไกอื่น ๆ ที่รัฐลงไปจะสามารถทำให้ประชาชนพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้อย่างแข็งแรง

สำหรับกรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมในส่วนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นได้ส่งเรื่องให้คณะทำงานเรื่องการพักหนี้เรียบร้อย และส่วนงานกำลังดูในรายละเอียดอยู่ เพราะต้องยอมรับว่าหนี้สหกรณ์ค่อนข้างซับซ้อน และสหกรณ์มีหลายประเภท จึงต้องมาดูว่านิยามในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้จะรวมถึงสหกรณ์อะไรบ้าง เพราะหากรวมไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย สเกลการให้ความช่วยเหลือจะใหญ่มาก

“เท่าที่ทราบเบื้องต้นข้อมูลที่มีการส่งเข้ามาเป็นกลุ่มค่อนข้างจำเพาะ แต่เมื่อเป็นกลุ่มจำเพาะก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าเป็นกลุ่มสหกรณ์ใดที่ส่งมา คงไม่ใช่สหกรณ์ทั้งหมด และจะต้องมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนว่า ทำไมสหกรณ์นี้จึงสามารถเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือได้ ส่วนสหกรณ์อื่น ๆ ถึงจะไม่เข้า เราจะต้องดำเนินการโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถตอบสังคมได้ว่าทำไม! ตรงนี้กำลังให้ส่วนงานราชการดูเอกสารที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งมา เบื้องต้นเป็นอาจจะเฉพาะสหกรณ์เกษตร ซึ่งเราจะยึดตามข้อมูลที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเข้ามาเป็นหลัก” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เป็นโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน โดยหากมุ่งเน้นการช่วยเหลือไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ก็จะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่อยู่นอกกรอบไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ดังนั้นตอนนี้จึงพยายามหารือและพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบภาระที่รัฐบาลรับไหว เพราะต้องยอมรับว่ามูลหนี้ของเอสเอ็มอีต่อรายค่อนข้างสูงไม่ใช่หลักแสนบาทแบบหนี้เกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการหากลไกเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน ซึ่งยืนยันว่าอาจจะไม่ใช่การพักหนี้ และการเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะต้องดูแล และต้องไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความคืบหน้ามาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมดำเนินการจ่ายเงินให้ชาวนาไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนี้ โดยยืนยันว่า ธ.ก.ส. ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแต่อย่างใด แต่ต้องมีการนำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. ในช่วงปลายเดือนนี้ก่อน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายภายในกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีเพียงพอดำเนินการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ดิจิทัลวอลเล็ต เดิมพันสำคัญ รัฐบาลเพื่อไทย

หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้า”ดิจิทัลวอลเล็ต”ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่เคยวางไว้คือ จะแจกเงินประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2567

จับตา10เมษาดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเลื่อน(แจก)อีก เสียคน!

พอพรรคเพื่อไทยหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งหลังสุด บอกว่าจะแจกเงิน 1 หมื่นบาท ประชาชนหูผึ่งทันที แต่ผ่านมานับเป็นเวลา 7 เดือนที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ก็ยังไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แบบนี้เสียเครดิต เพราะถือว่าเบี้ยวหนี้

'จุลพันธ์' เมินก้าวไกลฟาดเพื่อไทยปัดฝุ่นโครงการยุคลุงตู่ ชี้มุ่งเน้นประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมธนารักษ์ กล่าวชี้แจงในโครงการหนองวัวซอโมเดล จังหวัดอุดรธานี ถึงข้อกังวลของนายวิโรจน์ ลักขณาดิศร

ธ.ก.ส. โชว์ผลงาน 66 กดหนี้เสียเหลือ 5.5% แถมปล่อยกู้ทะลุ 8 แสนล้าน

ธ.ก.ส. เผยผลงานปีบัญชี 2566 เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบท 8.6 แสนล้านบาท ด้านการบริหาร NPLs ภาคการเกษตร ลดลงต่ำสู่ระดับร้อยละ 5.5 ทำให้ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ