กสทช. จ่อออกประกาศคนที่มีซิมการ์ดเกิน 5 หมายเลขต้องไปยืนยันตัวตนผู้ครอบครอง

21 พ.ย. 2566 – พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า จากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายต่อประชาชนต่อเนื่อง โดยสถิติคนไทยกว่า 75% เคยโดนกลุ่มมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหา กสทช.จึงเตรียมออกประกาศเพื่อบังคับให้ผู้ครอบครองหมายเลขหรือซิมการ์ด ตั้งแต่ 5 เลขหมายขึ้นไป ต้องมาลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกับผู้ให้บริการ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ในการหลอกลวงออนไลน์ หรือโอนเงินออกจากบัญชี หรือที่เรียกว่าซิมผี โดยจะมีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม หรือ โฟกัสกรุ๊ป อีกครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุง จากนั้นจะนำเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อเห็นชอบภายในเดือน ธ.ค.นี้ และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในเดือน ม.ค. ปีหน้า

พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวอีกว่า แต่เดิม กสทช. มีประกาศในเรื่องจดทะเบียนไม่เกิน 5 ซิมการ์ด หากมีซิมการ์ดที่ 6 ต้องไปยืนยันตัวตน ที่ช็อปของผู้ให้บริการมือถือ แต่ร่างประกาศใหม่ที่จะออกมา เป็นการยืนยันตัวบุคคลผู้ที่ถือครองซิมการ์ดจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 ซิมการ์ด ว่าใครเป็นคนถือครอง ใครเป็นผู้ใช้ หากไม่มารายงานตัวหรือยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ก็จะระงับการโทรออกและสัญญาณอินเทอร์เน็ต และหากอีก 30 วัน ยังไม่มาอีก ก็จะระงับการใช้งานทั้งหมด และทางผู้ประกอบการมือถือก็นำเลขหมายส่งคืนทาง กสทช. ถือเป็นการตัดปัจจัยในการกระทำความผิดของคนร้ายให้ทำงานและหาซิมการ์ดได้ยาก และสามารถตรวจสอบได้ว่าใครครอบครองหากเกิดการกระทำผิด โดยจะบังคับใช้ทั้งคนไทยและต่างชาติ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ถือครองเลขหมายจำนวน 64.8 ล้านคน จำนวน 94.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ผู้ครอบครองซิมการ์ด 1-5 หมายเลข มีจำนวน 64.5 ล้านราย ซิมการ์ดจำนวน 85.1 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครอง 6-100 เลขหมาย จำนวน 2.8 แสนราย จำนวนซิมการ์ด 3.3 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครองมากว่า 101 เลขหมาย จำนวน 7,664 คน ซิมการ์ดจำนวน 6.1 ล้านเลขหมาย

อย่างไรก็ตามจากสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 65-10 พ.ย. 66 มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์สูงถึง 3.9 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4.9 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้ทำงานเชิงรุกโดยการเดินหน้าประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เน้นสร้างการรับรู้กับประชาชนให้รู้เท่าทันกลโกงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ รู้เท่าทันและระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นแต่ก็ยังมีกลุ่มประชากรบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น เยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช. จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรม “สร้างการรับรู้และเท่าทันภัยในโลกดิจิทัล” เน้นสร้างการรับรู้และเตือนภัยประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์และการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ การให้ความรู้เกี่ยวกับ อาชญากรรมออนไลน์, รูปแบบการหลอกลวงทางเทคโนโลยี, การหลอกลวงด้วยเว็บไซต์หน่วยงานราชการปลอม, เพจหรือโฆษณาปลอม Scam Call, False Base Station, Sim Box, เผยแพร่มาตรการของ กสทช. เช่น การเพิ่ม Prefix “+697” “+698” การจัดทำบริการ USSD หมายเลข *138 ให้ประชาชนปฏิเสธสายจากต่างประเทศ *179*เลขบัตรประชาชน# ตรวจสอบเบอร์ที่ลงทะเบียนกับเลขบัตรประชาชน, การใช้งาน App 3ชั้น “ตรวจ แจ้ง ล็อค” รวมถึงการลงทะเบียน SIM Card หมายเลขโทรศัพท์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิสภา' ชงสอบแต่งตั้ง 'เลขาฯ กสทช.' ล่าช้าเกือบ 4 ปี ชี้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย

“กมธ. ไอซีที วุฒิสภา” ชงสำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ หลังพบความผิดปกติ กระบวนการตั้งเลขา กสทช. เกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว จนรักษาการจะครบวาระ ยันไม่ได้ก้าวก่าย แต่ส่งกระทบผลประโยชน์ชาติเสียหาย

ศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง 'พิรงรอง รามสูต' กสทช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ศาลนัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนคดีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดยื่นฟ้อง ศาสตร