'คมนาคม' สั่งปรับปรุงสะพานรถไฟทั่วประเทศรองรับน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา

“ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท.เตรียมแผนรองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา เล็งตั้งงบปี 67-69 ปรับปรุงสะพานรถไฟทั่วประเทศ ลุยตรวจสอบและประสานรถไฟลาว-จีน พ่วงหารูปแบบการลงทุน พร้อมกางแผนจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง

24 ธ.ค.2564-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่อง การเตรียมการรองรับการเดินรถไฟขนส่งสินค้า น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา ว่า ปัจจุบันเส้นทางรถไฟซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟให้สามารถรองรับรถจักรบรรทุกสินค้าขนาด 20 ตัน/เพลาแล้ว เช่น เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ-หนองคาย), สายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ระยอง) และสายเหนือ (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่)

ทั้งนี้ ยังมีสะพานรถไฟในบางสายทางยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้รองรับน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา โดยเฉพาะในเส้นทางสายใต้ ซึ่งสะพานรถไฟส่วนใหญ่รองรับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 16 ตัน/เพลา และมีสะพานรถไฟซึ่งถึงกำหนดต้องบำรุงรักษาตามระยะเวลา เช่น สะพานหอในสายเหนือ 2 แห่งที่ จ.ลำปาง, สะพานรถไฟสายใต้ที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวน 8 แห่ง สะพานรถไฟช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย จำนวน 19 แห่ง และสะพานรถไฟช่วงหนองปลาดุก – สุพรรณบุรี จำนวน 23 แห่ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงสะพานรถไฟโดยใช้งบประมาณปี 2566 ที่เสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟได้รับความปลอดภัยสูงสุดและลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งสินค้า ให้รองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จากเดิมรถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 16 ตัน/ เพลา รองรับการขนส่งสินค้าได้ ขบวนละ 2,100 ตัน หากปรับปรุงสะพานรถไฟให้รองรับการใช้รถจักรน้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลาจะรองรับเพิ่มขึ้นเป็นขบวนละ 2,500 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 20% และสามารถใช้ความเร็วผ่านสะพานได้สูงสุดถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่รถจักรจะผ่านสะพานรถไฟด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สำหรับสะพานรถไฟในส่วนที่เหลือ กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2567-2569 ตามลำดับความจำเป็นในการปรับปรุง เพื่อปรับปรุงสะพานรถไฟทั่วประเทศให้รองรับน้ำหนักบรรทุก 20 ตัน/เพลา ส่วนสะพานที่อยู่ในเส้นทางที่มีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จะดำเนินการปรับปรุงสะพานให้รองรับน้ำ 20 ตัน/เพลา ไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตามส่วนสถานะรถจักรดีเซลไฟฟ้าของ รฟท. นั้น ปัจจุบันมีรถจักรดีเซลไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานจำนวน 219 คัน แบ่งเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า (CSR) รุ่นใหม่ น้ำหนักกดลงเพลา 20 ตัน/เพลา จำนวน 20 คัน ใช้สำหรับขนส่งสินค้า ส่วนรถจักรที่มีน้ำหนักกดลงเพลา 15-16 ตัน/เพลา ได้แก่ รถจักรดีเซลไฟฟ้า (GEA) จำนวน 36 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Hitachi) จำนวน 21 คัน รถจักรดีเซลไฟฟ้า (Alsthom) จำนวน 97 คัน และรถจักรดีเซลไฟฟ้า (GE) จำนวน 45 คัน

โดย รฟท.ได้ดำเนินการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่เพิ่มเติมอีก 50 คัน เพื่อทดแทนรถจักร GE เดิม ที่มีอายุการใช้งานกว่า 55 ปื โดยรถจักรดีเซลไฟฟ้า 20 คันแรกจะมาถึงไทยกลาง ม.ค.2565 ก่อนนำมาทดสอบ และจะนำมาวิ่งให้บริการได้ประมาณกลางปี 2565 และอีก 30 คันจะได้รับมาในปี 2566 นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างติดตั้งระบบป้องกันการชนอัตโนมัติ หรือ ATP (Automatic Train Protection) ให้กับรถจักร CSR และ Alsthom จำนวน 70 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

ทั้งนี้ระบบป้องกันการชนอัตโนมัติจะช่วยควบคุมระยะห่างของขบวนรถแต่ละคันให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รถจักรจะทำการเบรกอัตโนมัติ เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในทางรถไฟร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ รฟท.อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาการปรับปรุงรถจักรให้มีสภาพใหม่ (Refurbish) รวมทั้งติดตั้งระบบ ATP ให้กับรถจักร GEA และ Hitachi อีก 57 คัน เพื่อยกระดับการให้บริการและเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้โดยสารระบบรางต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้ รฟท. ไปพิจารณาสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ จ.หนองคาย โดยให้ตรวจสอบข้อมูลว่า สะพานที่จะออกแบบใหม่รองรับ 20 ตัน/เพลา เพียงพอหรือไม่ โดยประสานตรวจสอบว่า สะพานในโครงการรถไฟลาว-จีน ออกแบบรองรับกี่ตัน/เพลา เพื่อให้มีความสอดคล้องและรองรับปริมาณการขนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ให้ รฟท. พิจารณาตรวจสอบว่า สะพานรถไฟในประเทศไทยมีจุดใดที่ต้องดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม และบำรุงรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถเดินรถได้อย่างปลอดภัย โดยให้พิจารณาขอรับการจัดสรรงบกลาง หรืองบประมาณเหลือจ่ายของ รฟท. และให้ดำเนินการภายในปี 2565
ขณะที่การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพิ่มเติม ให้ รฟท. จัดทำข้อมูลโดยพิจารณาแนวทางการลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น งบประมาณ เงินกู้ การ Outsource ให้กับเอกชน หรือการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)

อย่างไรก็ตามในการจัดหาหัวรถจักรให้พิจารณาเป็นหัวรถจักรไฟฟ้าหรือระบบไฮบริด (hybrid) โดยเฉพาะในย่านสถานีกลางบางซื่อ และให้ รฟท. จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการดำเนินงานรองรับการใช้งานสถานีกลางบางซื่อให้ชัดเจน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินหน้า ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงินค่าทดแทน เวนคืนอสังหาริมทรัพย์

'รัดเกล้า' เผย คค. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน