Digital Walletไปต่อ-พอแค่นี้?!?! รบ.ฝ่ามรสุมยก“วิกฤต”เป็นกับดักเศรษฐกิจปูพรมกู้5แสนล.

4 ก.พ. 2567 –โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ยังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่หลายฝ่ายยังคงจับตา และตลอดระยะเวลาตั้งแต่การแถลงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ก็ดูเหมือนจะมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้าของโครงการล่าสุด แม้ว่ากฤษฎีกาจะส่งความเห็นมาแล้วแต่ก็ยังทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะยังรอความเห็นจากคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

โดยก่อนหน้านี้จะมีเอกสารที่หลุดออกมาและอ้างว่าเป็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าวของ ป.ป.ช. ที่ระบุถึงข้อพิจารณาความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของโครงการ Digital Wallet จำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้องวิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง บุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ 2.กกต.ควรตรวจสอบการหาเสียงนโยบาย Digital Wallet ของพรรคเพื่อไทย (พท.) และนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เพราะพบว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งข้อแตกต่างนี้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 หรือไม่ 3.อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่เข้าข่ายประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแต่ประการใด เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น

4.การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐบาลต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต ซึ่งโครงการนี้มีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะการกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 เป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นเวลา 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ 5.คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างรอบคอบ

6.ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน ด้วยการกำหนดแนวทางมาตรการบริหารความเสี่ยง ป้องกันการทุจริต การตรวจสอบก่อน-ระหว่างและหลังโครงการ 7.การดำเนินนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด และ 8.แอปพลิเคชันเป๋าตังเหมาะสมกว่าการใช้บล็อกเชน

woman hand counting money Thai baht paper currency , can be used for saving ,debt, payment concept

ทำให้ขณะนี้รัฐบาลทำได้แค่ร้องเพลง “รอ” และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง รัฐบาลได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าโครงการดังกล่าวจำเป็นจะต้องดีเลย์ออกไปจากกำหนดการในเดือน พ.ค.2567 และยังไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาใหม่ที่ชัดเจนได้ เพราะรัฐบาลเองก็ยังอยู่ในกระบวนการ “รอ” เช่นเดียวกัน

แต่หนึ่งในประเด็นที่ยังเป็นข้อสงสัย และชวนขบคิดไม่หยุดเกี่ยวกับโครงการ Digital Wallet ของรัฐบาล นั่นคือนิยามของคำว่า “วิกฤต” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตจากกฤษฎีกาที่ตอบได้มุมของกฎหมายว่า การออกกฎหมายเพื่อกู้เงินนั้น เงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ และที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างพยายามตั้งคำถามเพื่อรอคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่า ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้วหรือไม่?!?!

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า คำว่า “วิกฤต” นั้น ไม่มีใครเป็นคนกำหนดได้ หากถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ คงเป็นเรื่องปัจเจกของบุคคล หากถามคนนี้อาจจะบอกว่าใช่ แต่ถามอีกคนอาจจะบอกว่าไม่ใช่ แต่มองว่าเรื่องนี้ “รัฐบาล” มีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการ ดังนั้น ณ ขณะนี้หากรัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤตและถูกกรอบกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลก็จะเดินหน้าต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับเป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่เกิดจากภาวะที่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนสูง ภาระหนี้ประชาชนสูง และภาระหนี้ของภาคเอกชนก็สูง ถามว่าใครคิดในเรื่องการลงทุนบ้าง คงไม่มีใครที่มีความพร้อมจะไปคิดเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าเป็นประชาชนก็จะคิดแต่เรื่องการประทังชีวิต คิดในเรื่องการลดหนี้สิน ภาคเอกชนก็โฟกัสเรื่องการลดโครงสร้างหนี้ของตัวเอง ตรงนี้ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก จึงได้เห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจตกต่ำมาโดยตลอด!

จังหวะเหมาะพอดีกับที่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.8% พร้อมยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการหารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ต่างก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ถามว่าทำไม นั่นเพราะที่ผ่านมาอาจจะไม่ค่อยได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ conservative ขนาดนี้จากกระทรวงการคลัง

แต่ก็เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังมีเหตุผลมาหักล้างถึงความเป็นไปได้ เพราะว่าหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้มากกว่า 2% นั้น การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2566 จะต้องเติบโตได้ 4-5% เพราะเมื่อเทียบข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ที่โต 2.6%, ไตรมาส 2/2566 ที่โต 1.8% และไตรมาส 3/2566 ที่โต 1.5% แล้ว ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนว่าในไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ระดับดังกล่าว โดยคาดว่าไตรมาส 4 นั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้น และในมุมกลับกัน กลับมองเห็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีมากกว่าด้วย

ด้าน ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวในงาน BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ว่า เศรษฐกิจปัจจุบันวิกฤตหรือไม่ คำว่าวิกฤตที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือ มองในภาพรวม ดังนั้นจะต้องมีเครื่องชี้จากภาพรวม จีดีพีหดแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวิกฤตนั้นเป็นวิกฤตแบบไหน ซึ่งก็มีหลายแบบ โดยถ้ามองตอนนี้ก็ไม่ได้เติบโตช้ามาก หรือสะดุด แต่หากมองภาพย่อย รายคน รายธุรกิจ ก็มีความเดือดร้อนที่เราก็เห็นกัน บางจุดมีความเดือดร้อนจริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับว่าวัดตรงไหน ใช้ตรงไหน การจะตอบคำถามว่า “วิกฤต” ว่าใช่หรือไม่ใช่ คงไม่ได้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์ เองก็เคยออกมาระบุว่าปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศใด เพราะการจะนับว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจนั้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต้องติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีภาวะการชะลอตัวของหลายๆ ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนีก็ยังติดลบเพียงไตรมาสเดียว หรือในสหรัฐที่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาส 3/2566

หากมองในมุมความตั้งใจของรัฐบาลในการพยายามผลักดันมาตรการออกมาเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในมุมมองของหลายฝ่ายก็เข้าใจได้ถึง “ความเป็นห่วง” ที่สะท้อนออกมา อย่างกรณีเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ถึงความจำเป็นและความเหมาะสมว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ จนจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาดำเนินโครงการ ซึ่งรัฐบาลพยายามการันตีมาตลอดว่าโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% แล้วจริงๆ หรือ?!?!

เพราะในหลายมิติที่จะเกิดตามมาจากการกู้เงินก้อนมหาศาล หากเศรษฐกิจยังไม่ได้เข้าขั้น “วิกฤต” จริงๆ แต่เป็นเพียงความพยายามอย่างที่อาจจะเรียกได้ว่า “ดันทุรัง” ของรัฐบาลนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะมากและมีประสิทธิภาพมากกว่าตัวเลขจีดีพีเฉลี่ย 5% ที่รัฐบาลพยายามการันตีก็ได้

ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วง และรัฐบาลเองก็คงปฏิเสธที่จะต้องออกมาแสดงความเชื่อมั่นไม่ได้ นั่นคือเรื่อง “เสถียรภาพของประเทศ” และ “การป้องปรามไม่ให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ” เพราะการกู้เงินจำนวนมากถึง 500,000 ล้านบาท ถือเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ที่จะต้องมีการตั้งงบประมาณมาชำระหนี้ก้อนนี้ ขณะที่เมื่อเทียบกับผลวิจัยของ ธปท.ที่ระบุว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการโอนเงินนั้นจะมีค่าตัวคูณทางการคลังที่ 0.4 ไม่ใช่ 4-6 เท่าแต่อย่างใด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีความห่วงใยในเรื่องนี้จนกลายเป็นการตั้งคำถามว่า จะได้ไม่คุ้มเสีย!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

'เพื่อไทย' จ่อเคลียร์ใจ 'ปานปรีย์' ชวนนั่งกุนซือพรรค ไม่รู้ 'นพดล' เสียบแทน

'เลขาฯ เพื่อไทย' รับต้องคุย 'ปานปรีย์' หลังไขก๊อกพ้น รมว.ต่างประเทศ แย้มชงนั่งที่ปรึกษาพรรค มั่นใจไม่เกิดแรงกระเพื่อม ปัดวางตัว 'นพดล' เสียบแทน ชี้ 'ชลน่าน-ไชยา' หน้าที่หลักยังเป็น สส.

พท. จัดใหญ่! '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' ตีปี๊บผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา'

'เพื่อไทย' เตรียมจัดงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' สรุปผลงาน 'รัฐบาลเศรษฐา' 3 พ.ค.นี้ เดินหน้าเติมนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.

‘เศรษฐา’ แจงยิบปรับครม. ขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ทำให้ไม่สบายใจ บอกมีคนแทนในใจแล้ว

‘เศรษฐา’ เผย ส่งข้อความผ่านกลุ่มงานต่างประเทศขอโทษ ‘ปานปรีย์’ ถ้าทำให้ไม่สบายใจ บอกได้คุยกันก่อนปรับ ครม.แล้ว ชี้มีทั้งคนสมหวัง-ผิดหวัง พร้อมรับผิดชอบ แย้มมองหาคนใหม่ตั้งแต่เมื่อคืน ดีกรี การทูต-การเมือง ทำงานเบื้องหลัง’เพื่อไทย’ มานาน