ธนาคารกลางญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี มาอยู่ที่ 0.0-0.1%

ในการประชุมวันที่ 19 มี.ค. 2567 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (7-2) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2550 จากระดับ -0.1% มาอยู่ที่ระดับ 0-0.1% พร้อมทั้งประกาศยุติมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve control) และยุติการเข้าซื้อกองทุน ETFs และ REITs แต่ยังคงรักษาระดับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ในปริมาณใกล้เคียงเดิม

20 มี.ค. 2567 – การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นการกลับทิศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Ultra loose monetary policy) ที่ดำเนินมายาวนาน อย่างไรก็ดี จากถ้อยแถลงของ BOJ สะท้อนว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ และจะไม่ได้ปรับทิศนโยบายการเงินมาเป็นแบบตึงตัวดังเช่นในสหรัฐฯ และยุโรป

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี 2567 ที่ 5.28% สูงสุดในรอบกว่า 30 ปี เป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจของธนาคารญี่ปุ่น ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นจะสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% ของ BOJ มานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ BOJ ก็ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในช่วงที่ผ่านมา โดยย้ำว่าผลของการเจรจาค่าจ้างในปีนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจของ BOJ ซึ่งหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร้องขอให้ภาคเอกชนปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุด การเจรจาอัตราค่าจ้างประจำปีของสภาสหภาพการค้าญี่ปุ่น (Rengo) ซึ่งเป็นองค์กรด้านแรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีผลทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉลี่ยที่ 5.28% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ส่งผลให้คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นในปี 2567 จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.3%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับทิศนโยบายการเงินของญี่ปุ่นรอบนี้เป็นการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ และเป็นจุดตั้งต้นให้การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเดินหน้าอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องมีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Ultra loose monetary policy) คอยประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน ทั้งประชากรสูงวัย การต่อยอดอุตสาหกรรมในเทคโนโลยีในอนาคต บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรทั้งในปัจจุบันและอนาคต (Zombie firms) ที่มีอยู่มาก ซึ่งยังเป็นประเด็นที่มีผลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า ประกอบกับหนี้สาธารณะที่อยู่สูงกว่า 260% ของ GDP ทำให้ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นข้อจำกัดของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ดังนั้น ทิศทางนโยบายการเงินของญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มผ่อนคลายอยู่ แม้มีความเป็นไปได้ที่ BOJ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้

ทั้งนี้ จากถ้อยแถลงของ BOJ ที่ยังค่อนข้างผ่อนคลาย (Dovish) โดยระบุว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ ส่งผลให้หลังจากการประชุม ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงราว 0.5% เทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ โดยอยู่ที่ระดับ 149.9 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ เข้าใกล้ระดับ 150 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ จากราคาเปิดตลาดที่ระดับ 149.15 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับลดลงราว -3 bps มาอยู่ที่ 0.74% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้น Nikkei ตอบรับในเชิงบวกหลังการประกาศผลการประชุม โดยปรับเพิ่มขึ้น 285.59 จุด หรือ 0.72% สู่ระดับ 39,908.17 จุด เทียบกับเปิดตลาดที่ 39,622.58 จุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดดิจิทัลวอลเล็ต ดันยอดขายค้าปลีกโต 1%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ โครงการ Digital Wallet โดยชี้ จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดพื้นที่ และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบใช้งานของแอปพลิเคชัน ที่ยังต้องรอติดตามว่า จะใช้ที่ไหน อย่างไร? ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีก และพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน ดังนี้