รมช.พาณิชย์ เปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ประกาศเดินหน้าสืบสานภูมิปัญญา รักษา และต่อยอดหัตถศิลป์ไทย ดันเป็นจุดแข็งบนเวทีระดับสากล โชว์ไฮไลท์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” จัดแสดง 50 ผลงานล้ำค่าของครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ หวังสร้างไอเดียต่อยอดแก่คนรุ่นใหม่
18 ก.ย. 2567 – นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับประชาชนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการผนึกกำลังของกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ร่วมกับภาคเอกชนและพันธมิตร เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในคุณค่าและภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไทย ให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้วัฒนธรรมในอดีตในรูปแบบศิลปหัตถกรรมและรักษาให้คงอยู่ตลอดไป ภายใต้แนวคิด “สืบสานตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft)” อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการส่งออก การจัดจำหน่ายให้กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย นำจุดแข็งด้านภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างเหล่านี้ ให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับสากล
ขณะเดียวกันในปีนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้สร้างสรรค์หัตถศิลป์ไทยได้เกิดความภาคภูมิใจในการอนุรักษ์ คุณค่าภูมิปัญญาทักษะฝีมือเชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่ง ต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน สศท. ได้คัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์ และสร้างสรรค์ผลงานแห่งปีเพื่อมอบโล่ รางวัลเชิดชูเกียรติครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2567 รวม 31 ราย แบ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 4 ราย , ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 11 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 16 ราย
นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า งาน อัตลักษณ์แห่งสยาม ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 เพื่อสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย รักษาภูมิปัญญาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีอัตลักษณ์ และสะท้อนความตั้งใจในการสร้างสรรค์ และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดิน สู่การเป็น Craft Power สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างเงินสะพัดภายในงานไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ ออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง , พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการวางรากฐานสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมบนผืนแผ่นดิน ส่งเสริมอาชีพด้วยภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิด “คือพระหัตถ์สร้างงาน รากฐานงานหัตถศิลป์ไทย” รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวมไปถึงส่วนสาธิต อาทิ ทอผ้าจก , จักสานย่านลิเภา , จักสานไม้ไผ่ลายขิด ฯลฯ โดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
อีกทั้ง ยังมีไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” พื้นที่จัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ล้ำค่าของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย กว่า 50 ผลงาน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย อาทิ ขันลงหิน-บ้านบุ ครูเมตตา เสลานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552 , มีดเหล็กลาย ครูพชร พงศกรรังศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 , หัตถกรรมทองเหลืองสาน ครูวนิตย์ ธรรมประทีป ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโซนสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นงานหัตถกรรม โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ เครื่องประดับมุกโบราณ , งานต้องลายปานซอย (งานฉลุลายโลหะแบบศิลปะไทใหญ่) , ลายรดน้ำ , เครื่องเขิน , พวงมโหตร , แกะสลักไม้ , ว่าวเบอร์ฮามัส ฯลฯ และนิทรรศการ “ตำนานบทใหม่ของช่างฝีมือคนไทย” เชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2567
ขณะที่กิจกรรมส่วนที่สอง ภายในงานได้จัดพื้นที่เพื่อส่งเสริมคุณค่างานหัตถศิลป์ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อสนับสนุนการจำหน่าย รวมไปถึงเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมให้กับกลุ่มผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ (Workshop) กว่า 20 กิจกรรม ถ่ายทอดโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม อาทิ หุ่นกระบอกไทยจิ๋ว , สลักดุนโลหะ , ทำหัวโขนแม่เหล็ก และการลงรักปิดทอง เป็นต้น
นางพรรณวิลาส กล่าวทิ้งท้ายว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 เป็นงานจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้น บรมครู และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทยที่ยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมภายในงานที่หลากหลายให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัส พร้อมนำเทคนิคในการผลิตชิ้นงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นผลงานชิ้นงานใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาไทย โดย สศท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งนี้ จะเป็นอีกงานที่ทำให้ทั่วโลกได้เห็น ว่างานหัตถศิลป์ฝีมือของคนไทยมีมูลค่าและคุณค่าทางความคิด
สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสัมผัสเสน่ห์ และสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ยังคงอยู่ รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจให้กับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ได้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าให้ยังคงอยู่คู่ประเทศชาติต่อไป ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” สืบสาน ตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft) นับว่าเป็นงานที่รวบรวมมรดกของชาติที่หาชมได้ยากไว้ในที่เดียว จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์