“คลัง” แจงขึง 3 เกณฑ์เข้มเร่งสรุปปม “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” เข้าข่ายผิดกฎหมายฉ้อโกง-แชร์ลูกโซ่หรือไม่ หลัง DSI ประสานขอความเห็น ยันพร้อมให้ความร่วมมือเต็มสูบ พร้อมเร่งเดินหน้ายกเครื่องกฎหมาย ชูบทลงโทษร้ายแรงตามความผิดและผลกระทบที่เกิดกับประชาชน ปักธงมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด
31 ต.ค. 2567 -นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า อยู่ระหว่างรอความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อพิจารณาการเอาผิดตามผู้บริหาร บริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกลประชาชน(แชร์ลูกโซ่) ว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังพร้อมให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่
“DSI ขอความเห็นมายังกระทรวงการคลัง เราก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ สศค.ซึ่งเป็นผู้ถือกฎหมาย” รมช.การคลัง ระบุ
นายพรชัย ฐีระเวช. ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ทาง DSI ได้ประสานมายังกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นว่าคดีดังกล่าวเข้าข่ายความผิดคดีฉ้อโกงหรือไม่ รวมถึงขอความร่วมมือให้ทางกระทรวงการคลังส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมอยู่ในคณะสอบสวนคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดทั้งหมดตามข้อมูลต่าง ๆ และต้องอยู่บนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในส่วนของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
ซึ่งในส่วนนี้มีเงื่อนไขสำคัญพร้อมกันในการพิจารณาอยู่ 3 ประการ ประกอบด้วย 1.การโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนเท่าไร 2.การกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือไม่ และ3.ไม่ได้ประกอบอาชีพการซื้อขายจริง แต่นำเงินมาจากที่อื่นมาจ่ายให้กับผู้เสียหาย
“การพิจารณาว่ามีความผิดเข้าข่ายกฎหมายฉ้อโกง หรือพิจารณาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ซึ่งส่วนนี้ สศค.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชียวชาญ น่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ไปช่วย DSI ตรวจสอบด้วย เพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งยืนยันว่า สศค. ยินดีที่จะเข้าไปช่วยดูแลเรื่องนี้ให้กับรัฐบาล” นายพรชัย กล่าว
สำหรับการเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง ไปจนถึงระดับล่างนั้น ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจเป็นรูปแบบที่เกิดใหม่มากขึ้น มีความซ้ำซ้อนมากขึ้น แต่ตัว พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน นั้นออกใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2527 เกือบ 40 ปีแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวน แก้ไขตัวบทกฎหมายกันใหม่เพื่อให้ทันสมับ ครอบคลุม และสอดคล้องทันสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น สามารถปฏิบัติได้จริงอย่างทันถ้วงที ในการดูแลผู้เสียหายได้อย่างสูงที่สุด
นอกจากนี้ จะต้องมีการหารือกับหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฤษฎีกา ตำรวจ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นของประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับอะไรบ้าง หลังจากนั้นต้องมาพิจารณาควบคู่ไปว่าจะเชื่อมโยงกับกฎหมายข้อไหนบ้างที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลง โดยจะต้องเร่งดำเนินการสรุปข้อเสนอต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยยืนยันว่าจะยังออกเป็น พ.ร.ก. เช่นเดิม ซึ่งมองว่ามีความเหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้ทำได้ทันที และเร็วที่สุด ส่วนของการกำหนดบทลงโทษจะขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ 'คุณสู้ เราช่วย' เปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ ลงทะเบียน
รัฐบาล เชิญชวนประชาชน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมเปิด 5 ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อลงทะเบียน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ
พยานฝั่งดิไอคอน ร้อง 'กมธ.ความมั่นคง' หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
ผู้เสียหายและพยานที่ได้รับความเดือดร้อน จากการอายัดทรัพย์โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความผิดที่ถูกกล่าวหา กรณี บริษัท ดิ ไอคอนกรุ๊ป เข้ายื่นหนังสือถึง นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ