
ใครที่ติดตามพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ อาทิตย์ที่แล้ว คงเห็นพ้องต้องกันว่าการกลับมาของทรัมป์คราวนี้ไม่เหมือนครั้งแรก คือ ยิ่งใหญ่ หนักแน่น ไม่เกรงกลัวใคร เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นและความตั้งใจ ขณะที่ผู้ที่เคยวิจารณ์เขาเงียบลง และส่วนหนึ่งกลับอยากเป็นเพื่อนเขามากกว่าเป็นศัตรู เพราะตระหนักดีว่าการเมืองคือเรื่องของอํานาจ และทรัมป์เป็นนักการเมืองที่พร้อมใช้อํานาจเต็มที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ คําถามคือเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
อาทิตย์ที่แล้วตลาดการเงินโลกใจจดใจจ่ออยู่กับสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะพูดและทําในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งว่าจะมีรายละเอียดมากขึ้นหรือไม่ในนโยบายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียง เพื่อประเมินผลกระทบต่างๆ แต่ต้องผิดหวัง เพราะสิ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่พูดคือตอกยํ้าความตั้งใจที่จะนำสหรัฐอเมริกากลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่โลกทั้งโลกจะต้องยอมรับและเคารพสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้นําโลก และปลุกความรู้สึกของคนอเมริกันไปสู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคต ที่ทรัมป์เรียกว่า ”ยุคทอง” ที่คนอเมริกันทุกคนจะภูมิใจในประเทศของตน
เนื้อหาของสิ่งที่ทรัมป์พูดในวันรับตําแหน่ง ถ้าวิเคราะห์เจาะลึก แสดงถึงความเจนจัดของเขาในฐานะนักเมืองที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย เขาบอกประชาชนอเมริกันว่างานการเมืองของเขาคือการเดินทางไกล ที่เขาต้องเจออุปสรรคมากมายแต่ก็ฝ่าฟันมาได้แม้การลอบสังหาร ทั้งหมดก็เพื่อที่เขาจะทํางานที่เขาต้องทําให้สำเร็จ และโยงนโยบายที่จะทำกับสิ่งที่ผู้สนับสนุนแต่ละกลุ่มต้องการ เป็นการตอบแทนและขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผย เช่น จะปกป้องผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐโดยลดการนําเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากภายนอก ส่งกลับผู้เข้าเมืองผิดกฏหมายเพื่อให้คนอเมริกันมีงานทํา ยกเลิกกฏเกณฑ์กองทัพที่จำกัดสิทธิและเอาเปรียบทหารผู้น้อย รวมถึงสนับสนุนการสํารวจดาวอังคารซึ่งตรงกับโครงการอวกาศของมหาเศรษฐีสหรัฐที่สนับสนุนเขา นี่คือตัวอย่างของการใช้อํานาจทางการเมืองเอาใจผู้สนับสนุนและแลกผลประโยชน์
ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทรัมป์ก็ยืนยันที่จะเอาจริงกับปัญหาที่กระทบความเป็นอยู่และความปลอดภัยของคนสหรัฐ เป็นการประกาศที่ได้ใจประชาชน เช่นต้องลดค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อโดยให้หน่วยราชการทําทุกอย่างให้ราคาสินค้าลดลง รื้อฟื้นกฏหมายปี 1798 เพื่อให้รัฐบาลมีอํานาจที่จะขจัดแกงค์ต่างชาติ ยกระดับแกงค์หรือกลุ่มผูกขาดในประเทศเป็นผู้ก่อการร้ายเพื่อการปราบปรามที่จริงจัง ปฏิรูประบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่ทํางานจริงจัง และแก้ปัญหาที่ประเทศมีไม่ได้ จนประชาชนและภาคธุรกิจเอือมระอาและไม่ไว้วางใจภาครัฐ ขึ้นภาษีสินค้านําเข้าเพื่อปกป้องภาคการผลิตและการมีงานทําในสหรัฐ เร่งลงทุนในอุตสาหกรรมนํ้ามันเพื่อความมั่นคงของประเทศเรื่องพลังงาน สร้างรายได้ และลดเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน ลงนามคําสั่งบริหาร 10 คำสั่งในวันแรกล้มล้างคําสั่งของประธานาธิบดีคนก่อนและนโยบายที่มีอยู่เดิมเพื่อเปลี่ยนอเมริกาไปในทางที่เขาต้องการ ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสเรื่องโลกร้อน และล่าสุดให้สหรัฐถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก โดยไม่สนใจบทบาทสหรัฐในฐานะประเทศผู้นําโลกที่ควรสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ

นี่คือ โดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงอาทิตย์ที่มา มาในสไตล์อํานาจเป็นใหญ่ อํานาจคือความถูกต้อง ผลักดันให้การเมืองสหรัฐหันขวาสู่ยุคอํานาจนิยม ชาตินิยม และนโยบายต่างประเทศที่มุ่งแต่ประโยชน์สหรัฐโดยไม่สนใจผลที่จะมีต่อผู้อื่นหรือประชาคมโลก นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่านี่คือการกลับมาของกลุ่มขวาจัดหรืออนุรักษ์นิยมสุดโต่งในสหรัฐ ที่ต้องการรื้อทิ้งนโยบายและทำลายสถาบันที่ส่งเสริมเสรีนิยม คําถามคือประธานาธิบดีทรัมป์จะทําในสิ่งที่เขาอยากทําได้สำเร็จหรือไม่
การกลับมาของทรัมป์คราวนี้ต้องบอกว่าเขาพร้อมกว่าคราวก่อน และกลับมาด้วยพลังสนับสนุนและเงื่อนไขมากมายที่จะทำให้งานหรือสิ่งที่เขาต้องการประสพความสำเร็จง่ายขึ้น หนึ่ง ทรัมป์มาด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชนสหรัฐมากกว่าคู่แข่ง คือชนะ Popular vote ประชาชนจึงพร้อมสนับสนุนและให้โอกาสเขาทํางาน สอง พรรคริพับริกันที่เขาเป็นตัวแทนมีเสียงข้างมากทั้งในสภาล่างและสภาสูง ทําให้การบริหารและการออกกฏหมายจะไม่เป็นอุปรรค สาม คณะรัฐมนตรีคือกลุ่มคนที่ทรัมป์เลือกเองที่พร้อมสนับสนุนและทำในสิ่งที่เขาต้องการ สี่ ศาลสูงสุดสหรัฐอาจเป็นเพียงตรายางมากกว่าที่จะ check และ balance การใช้อํานาจของประธานาธิบดี เพราะมีผู้พิพากษาที่ทรัมป์แต่งตั้งเองถึงสามคน ห้า พรรคเดโมแครต ฝ่ายค้าน ขณะนี้วุ่นวายสับสนและไม่อยู่ในสภาพที่จะทําหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง หก ในพรรคริพับริกันเอง ไม่มีนักการเมืองที่เด่นและมีแรงสนับสนุนพอที่จะทัดทานทรัมป์ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ประธานาธิบดีทํา เจ็ด สื่อมวลชนสหรัฐเองก็อ่อนลง ไม่มีพลังที่จะต้านเพราะสื่อใหญ่ ๆ บางสื่อได้เปลี่ยนมือมาเป็นของกลุ่มทุนมหาเศรษฐีที่สนับสนุนหรือไปร่วมงานรับตําแหน่งของทรัมป์ แปด นักการเมืองระดับผู้นําประเทศในประเทศโลกเสรีอื่น ๆ ก็ไม่มีใครที่มีบารมีหรือภาวะผู้นําพอที่จะกล้าท้าทายทรัมป์ขณะนี้ นี่คือเงื่อนไขที่เปิดกว้างให้ทรัมป์จะใช้อํานาจได้เต็มที่อย่างน้อยในช่วงแรก แบบไม่มีใครที่จะหยุดเขาได้นอกจากตัวเขาเอง
แต่การใช้อํานาจไม่ใช่ความสําเร็จ เพราะนโยบายของทรัมป์หลายอย่าง ตัวอย่างเช่นเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผลักดันโดยการใช้อำนาจ เช่น ลดภาษีรายได้ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ปราบปรามผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย นโยบายเหล่านี้คงสร้างปัญหาตามมาแน่นอน โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่จะกลับมาเป็นปัญหาอีก ทําให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะนําไปสู่ความขัดเเย้งระหว่างทรัมป์กับธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมภาคการเงินก็อาจทำให้ระบบการเงินสหรัฐมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ ไม่รวมปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐที่นับวันจะยิ่งรุนแรง พัฒนาการเหล่านี้จะทําให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหวั่นไหว ดอลล่าร์สหรัฐจะอ่อนค่าและตลาดหุ้นอาจปรับลดรุนแรง นำเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติได้ นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและอาจเป็นตัวหยุดนโยบายและการใช้อํานาจของประธานาธิบดีทรัมป์ในที่สุด เราจึงต้องรอดูว่าทรัมป์ 2.0 ในสี่ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงโลกและเศรษฐกิจสหรัฐได้มากน้อยแค่ไหน

เขียนให้คิด
ดร บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อุ๊งอิ๊ง' ไม่รู้โดนระงับวีซ่าเข้าสหรัฐฯหรือไม่ รอกระทรวงต่างประเทศแจงรายละเอียด ไม่ได้หนักหนาอะไร
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่สหรัฐอเมริกาประก
บิ๊กไทยสร้างไทย ชี้สหรัฐฯคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย สัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจและการทูตไทย
นายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการดังกล่าว โดยระบุว่า รัฐบาลไทยอาจไม่ต