อีอีซี ผนึก HSBC เชื่อมโยงการลงทุนจากตลาดสำคัญของโลก ดึงเม็ดเงินลงทุนตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี

อีอีซี ผนึก HSBC เชื่อมโยงการลงทุนจากตลาดสำคัญของโลก จากเครือข่ายธนาคาร 58 ประเทศและเขตดินแดน สร้างโอกาสดึงเม็ดเงินลงทุนตามเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี สู่พื้นที่อีอีซี

28 ก.พ. 2568 – นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่าได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อดึงดูดการลงทุนระดับโลก สู่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ร่วมกับ นายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) ประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงนักลงทุนซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงในระดับภูมิภาค แต่ยังรวมถึงนักลงทุนระดับโลกในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ ผ่านเครือข่ายระดับนานาชาติของธนาคารเอชเอสบีซีใน 58 ประเทศและเขตดินแดน

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนจากตลาดสำคัญ อาทิ จีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยจะมุ่งพัฒนากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี พร้อมให้การสนับสนุนด้านโซลูชันทางการเงิน และคำปรึกษาครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนจากทั่วโลก โดยความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน สกพอ.ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจริงในพื้นที่รวม 5 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของไทยในการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลก

นายจุฬา กล่าวว่า การผนึกกำลังร่วมกับ ธนาคารเอชเอสบีซี ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่แข็งแกร่งใน 58 ประเทศและเขตดินแดน จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนการลงทุนจากทั่วโลก และเชื่อมโยงอีอีซี กับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ และภายใต้การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือในการแสวงหานักลงทุนที่มีศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อปลดล็อคโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยในปี 2568 ธนาคารเอชเอสบีซี จะให้การสนับสนุนในกิจกรรมโรดโชว์เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซีในระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ จีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น

นายจอร์โจ กล่าวว่า ในขณะที่ธุรกิจระหว่างประเทศยังคงปรับแผนด้านห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และอีโคซิสเต็มในด้านการผลิตที่ครอบคลุม ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติเป็นมูลค่ารวมราว 7.27 แสนล้านบาท ถือเป็นสถิติยอดการลงทุนสูงสุดในรอบ 20 ปี และอีอีซีถือเป็นศูนย์กลางของการเติบโตนี้ โดย 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ประมาณ 5.68 แสนล้านบาท สะท้อนถึงบทบาทของอีอีซีในฐานะแรงขับเคลื่อนหลักของกลยุทธ์การลงทุนของประเทศไทย

“เอชเอสบีซี จะอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารฯ ในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศ เข้ามาสนับสนุน สกพอ. ในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากระเบียงเศรษฐกิจสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการนำเสนอโซลูชันด้านการเงินที่ครบวงจร อำนวยความสะดวกในการเริ่มดำเนินธุรกิจ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับ สกพอ. ในครั้งนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก กระตุ้นการจ้างงานทักษะสูง และบรรลุเป้าหมายในการเสริมศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต” นายกัมบา กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เจิมศักดิ์' กาง 7 ข้อ วิเคราะห์ 'รัฐบาลแพทองธาร' กับค่าเสียโอกาสและผลกระทบ

'เจิมศักดิ์-นักวิชาการเศรษฐศาสตร์' ยก 7 ประเด็นสำคัญ สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสและผลกระทบจากการดำรงตำแหน่งของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ชี้ความไม่ชัดเจนทางการเมืองและเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศไทย