'มนพร' พับแผนโอนย้าย 3 สนามบินให้ ทอท.

‘มนพร’ พับแผนโอนย้าย 3 สนามบิน ‘กระบี่-อุดรฯ-บุรีรัมย์’ ไปให้ ทอท. ดูแล เหตุเป็นสนามบิที่มีศักยภาพสร้างรายได้ กำไร ช่วยพยุงสนามบินภูมิภาคที่ขาดทุน เล็งเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาลงทุนสนามบินรูปแบบ PPP 

6 มี.ค. 2568 – นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ในฐานะกำกับบริหารงานกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่ดูแลรับผิดชอบสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง พบว่าสนามบินภูมิภาคแต่ละแห่งจะมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไป บางแห่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารเข้า ออก จำนวนมาก สนามบินบางแห่งสามารถรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้เลย ขณะเดียวกันก็สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างภูมิภาคได้ ซึ่งการดำเนินงานของภาครัฐทั้ง 28 สนามบินยอมรับว่า ยังมีรายได้บริหารจัดการที่ไม่คลอบคลุมรายจ่าย ซึ่งผลประกอบการรวม28 สนามบินในปีที่ผ่านมาพบว่า  ทย.มีรายได้และทำกำไรได้  250 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายรวม 330 ล้านบาททำให้ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เมื่อแยกสนามบินที่ทำรายได้และกำไรสูงสุดของ ทย. จะพบว่า สนามบินกระบี่ มีกำไรถึง 180 ล้านบาท สนามบินอุดรธานี มีกำไร 30 ล้านบาท  สนามบินขอนแก่นและสนามบินอุดรธานีมีกำไรรวมกว่า 40 ล้านบาท  ซึ่งหลักการสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย. ที่มีกำไรจะถูกนำมาบริหารจัดการ ค่าใช้จ่าย อุดหนุนสนามบินที่ขาดทุน ขณะเดียวกันตนก็มีนโยบายที่จะเข้าไปปรับปรุง บริหารจัดการสนามบินภูมิภาคทั้ง 28 สนามบินใหม่ให้มีการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เลี้ยงตัวเองได้

“ซึ่งแต่ละแห่งหากกำกับดีๆ ไม่ปล่อยให้รั่วไหล เชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการสนามบินภูมิภาคให้สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแน่นอน ดังนั้นตนจึงมีนโยบายที่จะชะลอแผนการโอนย้าย 3 สนามบิน คือ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และ สนามบินบุรีรัมย์ ที่จากเดิม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2565 ที่เห็นชอบในหลักการให้มีการโอน 3 สนามบินให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบ  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) ออกไปก่อน เนื่องจากสนามบินที่จะโอนเป็นสนามบินที่สร้างรายได้ให้กับ ทย.” นางมนพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ให้กระทรวงคมนาคมไปทบทวนและรวบรวมข้อมูลข้อดี ข้อเสีย ของการโอนย้ายสนามบินทั้ง 3 แห่งไปให้ทอท. อีกครั้ง โดยตนได้กำชับให้ ทย. พัฒนาและปรับปรุงสนามบินในความรับผิดชอบ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายหลักคือเน้นเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงสนามบินภูมิภาคให้มีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะรองรับผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกในเรื่องนี้ก่อน

นางมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ทย. มีสนามบินภูมิภาคที่รับผิดชอบอยู่ 28 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสนามบินบางแห่งสร้างเสร็จแต่ยังไม่ใช้ศักยภาพสนามบินเต็มที่  หรือ บางแห่งสร้างแล้วเครื่องบินลงได้เฉพาะรุ่น  หรือบางสนามบินสร้างอาคารผู้โดยสารสวยงาม แต่ไม่มีเที่ยวบิน บินมาลง ทำให้การลงทุนของภาครัฐไม่คุ้มค่า เพราะสนามบินหนึ่งๆต้องใช้เงินลงทุนถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อแห่ง 

ดังนั้น นโยบายต่อไปนี้ภาครัฐ โดยกรมท่าอากาศยาน จะต้องไม่เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่อีกแล้ว แม้ว่าจะมีผลการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างได้ก็ตาม โดยนโยบายจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่จากรัฐดำเนินการเปลี่ยนมาเป็นเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรูปแบบ PPP ซึ่งขณะนี้ได้ให้ ทย. ไปทำการบ้านว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในสนามบินแห่งใหม่ที่ไหนก่อน แบบสนามบินเดียว หรือ รวมลงทุนหลายสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินบึงกาฬ สนามบินกาฬสินธุ์ สนามบินพัทลุง สนามบินพะเยา ที่กำลังมีการศึกษา เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงคมนาคม ได้หารือเรื่องการเข้าบริหารสนามบิน ทย. กับ ทอท. อีกครั้ง รวมถึงทบทวนข้อดีข้อเสียของการดำเนินการดังกล่าว ยังมีปัญหาอีกมาก จึงมีความเห็นตรงกันว่า จะไม่โอนสิทธิบริหารให้ ทอท. แล้ว เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ การโอนย้ายบุคลากรจากภาครัฐมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งเรื่องเงินเดือน และสวัสดิการ ที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการโอนย้ายครุภัณฑ์ต่างๆ และสินทรัพย์ของภาครัฐ ที่ต้องศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ นอกจากนี้สนามบินขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของ ทย. หากให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการ ก็อาจจะเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐที่ต้องมาสนับสนุนสนามบินแห่งอื่นๆ มากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนแน่นสถานีรถไฟบุรีรัมย์ แบกข้าวสารกลับเข้ากรุงเทพฯ ช่วยลดค่าใช้จ่าย

ประชาชนที่กลับมาเยี่ยมบ้านและฉลองสงกรานต์กับครอบครัวที่บุรีรัมย์  แห่ใช้บริการรถไฟกลับกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดวันหยุดสุดท้ายเต็มทุกขบวน ขณะตั๋วรถไฟถูกจองเต็มล่วงหน้าถึง 17 เม.ย.68

บททดสอบเก้าอี้ ‘นายกฯหญิง’ 7เดือนฝ่าหลาย ‘วิกฤตประเทศ’

อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน