
‘มนพร’ ตรวจงานสนามบินตรัง คืบหน้า 98% เปิดให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศภายใน เม.ย. นี้ ปักหมุดเปิดเต็มรูปแบบปี 68 เร่งผลักดันให้เป็นสนามบินนานาชาติ รองรับการขยายตัวเที่ยวบิน – นักท่องเที่ยว
8 มี.ค. 2568 – นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามการดำเนินงานท่าอากาศยานตรัง กรมท่าอากาศยาน (ทย.) การให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ณ ท่าอากาศยานตรัง และตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 98% คาดว่าจะเปิดให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศได้ในเดือนพฤษภาคม 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนตุลาคม 2568 เพื่อผลักดันให้เป็นสนามบินนานาชาติในระยะต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากท่าอากาศยานตรังเป็นท่าอากาศยานศุลกากรที่มีศักยภาพสูงที่จะเปิดเที่ยวบินข้ามภูมิภาค สามารถดึงสายการบินระหว่างประเทศเข้ามาเปิดเส้นทางบินได้ ประกอบกับจังหวัดตรังมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ดี มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง การพัฒนาท่าอากาศยานตรังเพื่อเตรียมการรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว โดยจากสถิติพบว่าในปี 2567 ท่าอากาศยานตรัง มีเที่ยวบินทั้งหมด 3,626 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็น 17.5% มีผู้โดยสาร 559,752 คน เพิ่มขึ้น 18.7% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายมนพ กล่าวว่า ได้มอบให้ ทย. ดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง สร้างทางขับและลานจอดอากาศยาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินให้สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้ 12 ลำในเวลาเดียวกัน หรืออากาศยานขนาด 350 ที่นั่ง 4 ลำ และอากาศยานขนาด 180 ที่นั่ง 4 ลำ ในเวลาเดียวกัน และมีทางขับอากาศยานใหม่เพิ่มขึ้น 3 เส้น ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเปิดใช้ลานจอดอากาศยาน
2.งานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชั่วโมง หรือ 3.4 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 600 คน/ชั่วโมง หรือ 1.7 ล้านคน/ปี ผลงาน 98.34% โดยให้ ทย. ประกาศคัดเลือกหาผู้รับจ้างรายใหม่ภายในไตรมาสที่ 2 พร้อมกับเปิดใช้งานผู้โดยสารภายในประเทศภายในเดือนเมษายน 2568 และให้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2568 และ3.งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและองค์ประกอบอื่น ๆ โดยต่อเติมความยาวทางวิ่ง จาก 45 x 2,100 เมตร เป็นขนาด 45 x 2,990 เมตร

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ ทย. จัดพื้นที่บริการผู้โดยสารให้คล่องตัว มีความสะดวกรวดเร็ว บริเวณจุด Check in การลำเลียงกระเป๋า ความสะอาดภายในท่าอากาศยาน รวมถึงให้จัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยานให้ไม่ติดขัด กำหนดจุดจอดรับ – ส่ง และเวลาในการจอดให้ชัดเจน พร้อมจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ รวมถึงการจัดกิจกรรมภายในท่าอากาศยานตามแนวคิด “สนามบินมีชีวิต” เพื่อประชาสัมพันธ์จุดเด่นการท่องเที่ยวและการสร้างอัตลักษณ์ของจังหวัด
นางมนพร กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานให้เติบโต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างงานในหลากหลายสาขา เช่น การโรงแรม การบริการ การขนส่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ วิทยุการบินฯ เร่งแก้ไขปัญหาต้นไม้สูงบริเวณแนวร่อนทางวิ่ง 08 เนื่องจากบดบังสัญญาณ Glide Slope ของระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับสัญญาณมุมร่อนของอากาศยาน โดยให้วิทยุการบินฯ ติดตามการแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และประสานกับกรมท่าอากาศยาน ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้สามารถใช้งานระบบนำร่อง และนำร่อนได้สมบูรณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสายการบินที่จะเข้ามาใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลปลื้ม 'มหกรรมสงกรานต์' นักท่องเที่ยวทะลุล้าน พลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย
'Maha Songkran World Water Festival 2025' นักท่องเที่ยวทะลุล้าน สะท้อนพลังซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลเดินหน้ายกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวสู่เวทีโลก ดันเศรษฐกิจโตทั่วประเทศ
บททดสอบเก้าอี้ ‘นายกฯหญิง’ 7เดือนฝ่าหลาย ‘วิกฤตประเทศ’
อีกบททดสอบผู้นำหญิงของไทย “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่เข้ามานำทัพบริหารประเทศกว่า 7 เดือนแล้ว ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากประชาชน