'ม.มหิดล' ปลื้มวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ติดอันดับโลก

25เม.ย.65-ที่อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) – มหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดงานแถลงข่าว “การพัฒนาศักยภาพ คุณภาพด้านการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ กับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก (World University Ranking) และ QS Ranking by Subject”

โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ อว. กล่าวว่า ตนขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จอันน่าชื่นชม และอะไรที่ทำดีก็ให้ทำต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และการที่ม.มหิดล ทำให้การอุดมศึกษาของไทยเป็นที่ยอมรับของการศึกษาทั่วโลก ต่อไปด้านอื่นๆ ก็จะพัฒนาได้ดีขึ้น เราอยู่ในประเทศที่ค่อนข้างจะคิดในแง่ลบ เสพข่าวในด้านลบ จริงๆ แล้วอุดมศึกษาไทยเราไม่แพ้ใคร จะแพ้เพียงแต่สิงคโปร์เท่านั้น ทั้งนี้เรายังปรารถนาที่จะเป็น 1 ใน 5 ของทวีปเอเชีย ที่มีประเทศ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจในโลก และประเทศไทยมีความเก่งในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการแพทย์ การกีฬา การเกษตรสมัยใหม่ แต่ประเทศเราเป็นคนถ่อมตัวมาก ดังนั้นเราจะต้องมองให้เห็นว่าเรามีอะไรดี กรอบความคิดเรื่องชาติด้อยพัฒนาควรที่จะทิ้งไป แม้ว่าระบบของเรายังต้องปรับปรุงแก้ไข แต่คนของเราหลายคนก็ยังแสดงความเก่งออกมาได้ ตนในฐานะ รมว.อว.จะพยายามที่จะปลดล็อคทุกเรื่องที่ขัดขวางพัฒนาการของคนเหล่านี้ ให้ประเทศเราแสดงความเก่งออกมาให้ได้อย่างเด่นชัด จะไม่ใช้บรรทัดฐานเดียวมาใช้ในการวัดคนทุกคน และตนมองว่าเรื่องศิลปะจะเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ทำให้ทั่วโลกนับถือคนไทยมากขึ้น ทำให้ประเทศของเราก้าวไปได้อย่างยืนยาว เพราะ อว.ไม่ได้คิดแค่เรื่องเฉพาะหน้า แต่เราหวังผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ พยายามทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเรามีทักษะที่เป็นความต้องการของโลก

ด้านนพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ดังนั้นการที่จะเข้ามาในท็อปร้อยละ 1 ของโลกคือ เป็นหนึ่งในอันดับ 200 จากมหาวิทยาลัยกว่า 2 หมื่นแห่งทั่วโลก และศาสตร์ต่างๆ ที่มีการกระจายหลายเรื่อง ทำให้เราจะมาทบทวน ว่า ม.มหิดลมีถนัดในศาสตร์ใดและใช้ในการขับเคลื่อน เช่น ม.มหิดลเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกแห่งแรกของประเทศ และมาเป็นศาสตร์ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนมีด้านดนตรี ดังนั้นเราจึงมาปรับว่าทำศาสตร์ต่างๆ ให้มีความโดดเด่น ณ ปัจจุบันเราขับเคลื่อนตัวเองให้อยู่ในลำดับที่ 118 ของโลก เรามีผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ให้เทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ถ้าเทียบเคียงในโซนเอเชีย ม.มหิดลอยู่อันดับ 16 ทั้งนี้อีกหนึ่งศาสตร์ที่ม.มหิดลภาคภูมิใจ คือ ดุริยางคศิลป์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “Soft Power” ของประเทศไทยให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ม.มหิดล ยังมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้าน “Performing Arts” อย่างเข้าใจและจริงจัง ทำให้การพัฒนาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่า สาขาดนตรีจะมีความแตกต่างจากสาขาวิชาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย แต่อย่างที่ทุกคนทราบ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในแต่ละกระดานมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเราต้องเข้าใจกติกาการพิจารณาผ่านมาตรฐานการเรียนการสอน ผู้สอนมีชื่อเสียง ผลงานโดดเด่น และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ม.มหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ทำให้ทุกมิติบรรลุเป้าหมาย และการที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2022 ในสาขา Performing Arts ครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นในคุณภาพ ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจและเป็นก้าวแห่งการพัฒนาที่สำคัญของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และยังแสดงถึงศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติ ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงของไทยออกสู่ตลาดโลก

ด้านนายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย OS World University Rankings by Subject 2022 ในสาขา Performing Arts อันดับที่ 47 และเป็นการเข้าสู่อันดับ TOP 50 ของโลก เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งความสำเร็จากการต่อยอดแบบก้าวกระโดดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ไม่ใช่แค่การแสดงให้เห็นศักยภาพการศึกษาทางด้านดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เพียงอย่างเดียว แต่แสดงให้เห็นศักยภาพและความสามารถทางด้านดนตรีที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย เพราะเกณฑ์การให้คะแนนในสาขา Performing Arts จะขึ้นอยู่กับการให้คะแนนในสองด้าน คือ ชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) และ ชื่อเสียงของนายจ้าง (Employer Reputation) สะท้อน
ให้เห็นการยอมรับทั้งในด้านการศึกษาและการแสดงในระดับนานาชาติการได้รับอันดับที่ 47 ในครั้งนี้ เกิดจากการสร้างผลงานในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ตนต้องการที่จะขอบคุณ อว. ที่ปลดล็อคกฏระเบียบต่างๆ ทำให้ทุกคนสามารถรับตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องทำงานวิจัย เพราะที่ผ่านมาการขอตำแหน่งวิชาการเป็นบังคับนักแสดงให้หยุดแสดงและมาทำงานวิจัย และขอขอบคุณม.มหิดลที่ให้การสนับสนุนอย่างดีและสนับสนุนอย่างเข้าใจ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. สานพลัง ม.มหิดล หนุนผลงานเด็กอาชีวะ ชนะเลิศ PM's Award ดันต่อยอดพัฒนานวัตกรรม เครื่องฆ่าเชื้อโรคหมวกกันน็อกด้วย UVC

น.ส.ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.

อึ้ง!! วัยเก๋า 80% ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกโอนเงิน-เผยข้อมูลส่วนตัว

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2566 พบผู้สูงอายุไทยมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

มหิดลตั้ง'ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล' คุมศูนย์ตรวจสอบ สารต้องห้ามในนักกีฬา

ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับการรับรองจาก องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือ วาดา ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬาชุดใหม่ เรียบร้อยแล้ว

ม.มหิดล จับมือ IRPC ร่วมผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีการแพทย์ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 - มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการ