'อรรถพล' กางโรดแมป ทำให้ไทยขยับอันดับ IMD ดีขึ้นในปี65 รองรับพายุเศรษฐกิจลูกใหม่ หรือ Perfect Storm

1 มิ.ย.65- นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำแผนการยกระดับสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทย (IMD) โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นอย่างชัดเจน ว่า ต้องผลักดันอันดับ IMD ด้านการศึกษาของไทยในปี 2565 ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนเป้าหมายระยะยาวต้องยกระดับการศึกษาไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่านานาชาติอย่างยั่งยืน กระบวนการสำคัญ สกศ. ได้ขับเคลื่อนไปแล้ว 2 กิจกรรม คือ 1.การรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษาให้ครบถ้วน สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และเป็นไปตามนิยามของตัวชี้วัดของ IMD ซึ่งทำให้ตัวชี้วัดข้อมูลที่แท้จริงและชัดเจนมีค่าดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาหลายตัวชี้วัด เช่น พัฒนาการที่ดีจากการลงทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพื่อยกระดับการศึกษาในระดับมัธยมและอุดมศึกษา มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้เพิ่มสูงขึ้น และ

2.ได้รับแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ซึ่งได้มีการชี้แจงนโยบายด้วยตนเองในการประชุม Executive Forum on Competitiveness 2022 “Shaping Future Education” จัดโดยความร่วมมือครั้งแรกในประเทศไทยระหว่าง สกศ. กับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เพื่อสร้างความเข้าใจต่อภาคเอกชนและสาธารณชนเกี่ยวกับสถานะด้านการศึกษาของไทยและสร้างเอกภาพการพัฒนาศักยภาพคนไทยเตรียมรับสถานการณ์อนาคต

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตที่น่าสนใจในแง่การพัฒนานวัตกรรมและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมยังเป็นสิ่งที่ไทยต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น หากไทยต้องการขยับอันดับสมรรถนะของตัวเองให้ดีขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะต้องเร่งความเร็วในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล การยกระดับฝีมือของแรงงานและทักษะที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับความท้าทายการเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจ ที่ไม่ใซเรื่องง่าย และต้องเตรียมพร้อมเผชิญหน้ามรสุมเศรษฐกิจกำลังก่อตัว หรือ Perfect Storm จากวิกฤตความผันผวนในตลาดการเงินโลก และสภาพเงินเฟ้อท่ามกลางความวิตกจากเวทีสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ท้าทายที่สุดในรอบ 80 ปี ดังนั้น ผลการจัดอันดับ IMD จึงมีความสำคัญมากระดับนานาชาติ เพราะจะเป็นสัญญาณให้นักลงทุนต่างชาติเลือกตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินลงทุนในประเทศต่าง ๆ แน่นอนที่สุดว่าหากไทยได้แรงบวกจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นหนึ่งปัจจัยบวกการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีร้ายได้ที่ดียิ่งขึ้น

“สาเหตุนี้เอง สภาการศึกษาที่มีหน้าที่สำคัญเป็นเข็มทิศทางการศึกษาของประเทศไทย จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องทำให้การศึกษาเป็นกลไกนำในการพัฒนาประเทศในทุกองคาพยพ โลกจะไม่สนใจประเทศไทยอีกต่อไป หากไทยยังไม่มีกำลังคนสมรรถะสูง และเชื่อมั่นด้วยว่าเราเดินมาถูกทางที่จะผลักดันอันดับ เMDที่ดีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานไปสู่การพัฒนากำลังคนสมรรถะสูง และมีคุณภาพระดับสากล เป็นการปูเส้นทางไปสู่การสร้างแบรนด์ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูงในสายตาชาวต่างชาติ”เลขาฯ สกศ.กล่าวและว่า

ทั้งนี้ ในปี 2564 ผลการจัดอันดับด้านการศึกษา IMD ไทย รั้งอันดับ 56 ลดลง 1 อันดับจากปี 2563 และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเชียน โดยเป็นรอง สิงคโปร์ ที่ได้อันดับ 7 และ มาเลเชีย ที่ได้อันดับ 39 ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ จำนวน 64 ประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง