กสศ.จับมือ ม.หอการค้า สำรวจเชิงลึก ภาวะถดถอยเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วงโควิด พบยิ่งยากจน การเรียนรู้คณิตศาสตร์ และภาษา ยิ่งถดถอย

2ส.ค.2565- ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าว พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอข้อมูลความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย

โดยนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัยนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญหนึ่งของ กสศ. เช่นกัน โดยเด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงทองของชีวิตที่จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในทุกด้าน เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงตลอดชีวิต ดังนั้น การพัฒนาและการลงทุนในเด็กปฐมวัย จึงมีความสำคัญสำหรับทุกครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ปัจจุบัน กสศ. ร่วมกับ 3 ต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจนในโรงเรียนอนุบาล ผ่านทุนเสมอภาค พร้อมทั้งพัฒนากลไกเชิงระบบในจังหวัดต้นแบบเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยนอกระบบอีกด้วย

นายไกรยศ กล่าวต่อว่า และนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ กสศ. ที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาระบบฐานข้อมูลและงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงในสถานการณ์สำคัญของกลุ่มเด็กปฐมวัย ทั้งระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data) ซึ่งเริ่มต้นเก็บมาตั้งแต่ปี 2558 และระบบฐานข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey) กสศ. เป็นองค์กรที่มีความพร้อมในการเคลื่อนที่เร็วต่อการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในทุกมิติ ทั้งนี้ การดำเนินการสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness) มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือของประเทศ ซึ่งเก็บข้อมูลลงลึกรายบุคคลและนำเสนอออกมาเป็นรายจังหวัด ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของประชากรกลุ่มสำคัญคือ เด็กปฐมวัย โดยเครื่องมือนี้ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์แล้ว”ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้กสศ. จัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบบนฐานงานวิชาการ ซึ่งเราพบว่า โควิดไ ม่เพียงส่งผลกระทบเป็นรายบุคคลที่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือLearning Loss แต่ยังทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาขยายกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำข้อมูล School Readiness มาวิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ (CCT) และผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทำให้รู้ว่า เรารออีกไม่ได้อีกแล้ว ไม่เช่นนั้นประเทศจะต้องสูญเสียเด็กไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generationไปเลย”ผู้จัดการกสศ.กล่าว

นายสวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ.เล็งเห็นความสำคัญการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เป็นรากฐานของการพัฒนาชีวิต จึงเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย ส่งผลให้คุณภาพของประชากรของประเทศดีขึ้น ในการดำเนินงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลสำเร็จ ทำให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ด้านนายวีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า RIPED ได้ดำเนินงานร่วมกับ กสศ. เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) จะเป็นเครื่องมือเพื่อประเมินว่า เด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสำรวจไปได้ 73 จังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดจะเลื่อนไปสำรวจในช่วงต้นปี 2566


“ข้อค้นพบจาก TSRS ที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ การปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยดูได้จากผลเปรียบเทียบระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลของกลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการปิดเรียนอย่างยาวนานมีระดับความพร้อมฯ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2563 ซึ่งยังไม่มีผลกระทบจากโควิด นอกจากนั้น ถึงแม้ช่วงปิดสถานศึกษาจะทำให้เด็กปฐมวัยอยู่กับครัวเรือนมากขึ้น แต่จากข้อมูล พบว่า ครอบครัวอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง โดยจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยของจำนวนวันต่อสัปดาห์ที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เปรียบเทียบกับก่อนการระบาดลดลงอย่างชัดเจนฃรวมถึง เด็กปฐมวัยจากครอบครัวที่ยากจนกว่ามีความพร้อมฯ ต่ำกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวฐานะดี”

นายวีระชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อมูลสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปี 2563 (ปีการศึกษา 2562) เชื่อมโยงกับข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก กสศ. ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า เด็กยากจนพิเศษมีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 5.7 และร้อยละ 4.2 ของคะแนนเต็ม ในขณะที่เด็กยากจน มีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.5 ของคะแนนเต็ม (ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 7.2 ของคะแนนเฉลี่ยแต่ละด้าน) ผลการวิเคราะห์ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความยากจนหรือความขัดสนมีผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนผลการทดสอบการอ่าน (Reading Test หรือ RT) ของ สพฐ. ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 (ปีการศึกษา 2563) ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า เด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มีแนวโน้มที่จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านออกเสียงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.46 และร้อยละ 0.40 ของคะแนนเต็ม และ จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านรู้เรื่องเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.28 และร้อยละ 0.23 ของคะแนนเต็ม

“จากข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 1) การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างมาก 2) ความยากจนมีผลทำให้เด็กปฐมวัยได้ไม่เต็มศักยภาพหรือไม่มีความพร้อมฯ เท่าที่ควร 3) บ้านหรือครอบครัวยังขาดทักษะและความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และ 4) เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) ภายใต้โครงการ TSRS เป็นเครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมสำหรับการติดตามสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย”ผอ.RIPED กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องสุขภาพ'มอเตอร์ไซด์รับจ้าง'ใน กทม.

“มอเตอร์ไซด์รับจ้าง” เป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับชาวกรุงเทพฯ ทั้งรับส่งผู้โดยสารและเอกสาร ผลจากปัญหาจราจรและความเร่งรีบในการเดินทางของคนเมือง  แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนนกรุงเทพฯ แต่พวกเขาก็ไม่บอกลางานอิสระนี้ เพราะประกอบอาชีพได้ง่าย

ไม่ทิ้งเด็กเดินทางผิด ไว้ข้างหลัง!  ผุดศูนย์เรียนรู้ ทักษะอาชีพ เปิดประตูชีวิตใหม่

“กสศ”.เปิดงานแนวรุกทางการศึกษา  ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือกรมพินิจฯ  เจาะกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรม  สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่   ผุดศูนย์เรียนรู้ในศูนย์ฝึกอบรมฯ ทั่วประเทศ เผยตัวเลขเด็กกลับไปทำผิดซ้ำลดลงต่อเนื่อง

'เศรษฐา' คุย กสศ. ผนึกแสนสิริตั้งกองทุนการศึกษาเด็กลดเหลื่อมล้ำ บอกเสียใจไม่มีบริษัทอื่นทำต่อ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ให้การต้อนรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับการทำงานของ กสศ.