สธ.โชว์มียารักษาโควิดเพียบ ทั้งฟาร์วิฯ โมลนูฯ เรมเดซิเวียร์ แพ็กซ์โลวิด

4 ส.ค.2565- นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดหายารักษาโรคโควิด 19 จำนวน 4 รายการ คือ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือคัดเลือกยาคุณภาพจากต่างประเทศและนำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่ามีการจัดหาและกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ ไปยังทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนยาให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ 265.5 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ 375,210 ขวด

นพ. งชัยกล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 มียาคงคลังในพื้นที่ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ รวม 11.2 ล้านเม็ด และยังมีสำรองที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน และมีการติดตามการใช้ยาด้วยระบบ VMI เมื่อมีการใช้ยาจะส่งไปทดแทนต่อเนื่อง เพื่อให้ในพื้นที่มียาคงคลังสำหรับการใช้ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน นอกจากนี้ ส่วนกลางยังมีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์กว่า 2 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นขวด

นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า ยาแต่ละรายการมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แม้จะเป็นกลุ่ม 608 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ ข้อบ่งชี้และแนวทางการดูแลรักษาตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ โดยยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับ 2 ขึ้นไป โรคไตเรื้อรังระยะ 3 ขึ้นไป โรคหัวใจและหลอดเลือดระดับ 2 รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะอ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI เกิน 30 กก./ตร.ม. มีภาวะตับแข็งระดับ 8 ขึ้นไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมินาน 15 วันขึ้นไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.ม. หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ คือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

“แม้จะมีโรคเรื้อรัง แต่การจ่ายยาอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากความเสี่ยงในกลุ่มที่มีอาการมากหรือควบคุมอาการไม่ได้ รวมทั้งยาต้านไวรัสรักษาโควิด 19 เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ขณะนี้ อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกเวชกรรม ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อยามากินเอง จะเป็นอันตรายได้” นพ. ธงชัยกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯ' ยันจัดหาและกระจายยารักษาโควิด-19 ทั่วประเทศเพียงพอ

"นายกฯ" ยันรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข จัดหาและกระจายยารักษาโควิด-19 ให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศอย่างเพียงพอ รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ครอบคลุม

นายกฯ เตือนอย่าซื้อยาโควิดกินเอง ชี้เป็นอันตราย ดื้อยา จี้ตร.เร่งจับลักลอบขายในโซเชียล

จากกรณี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่าคนในครอบครัวติดโควิด แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 ตามเกณฑ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จึงสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาเอง

อ.เจษฎ์มีหนาว! นายกฯ สั่ง สธ.สอบโฆษณายา-วัคซีนในโซเชียล เตือนปชช.อย่าหลงเชื่อ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฝากกระทรวงสาธารณสุขช่วยตรวจสอบและติดตามเรื่องการโฆษณายาและวัคซีนต่างๆ

ผู้ว่าฯกทม. จ่อสั่งซื้อยาโควิดโดยตรง เริ่มเดือน ก.ย. แก้ปัญหาประชาชนรอคิวนาน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์ทรงตัว และขณะนี้สามารถรับยาโควิด-19 ออนไลน์ได้แล้วดูรายละเอียดได้ที่เพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร