สปสช.แจ้งความ 9รพ.ที่บอกยกเลิก เหตุเบิกค่าบริการไม่ตรงความเป็นจริง พร้อมแจงระบบดูแลผู้ป่วยของรพ.9 แห่ง

19 ก.ย. 2565 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงข่าว “สปสช.ไม่ลอยแพผู้ป่วย แจงความพร้อมรองรับ หลังยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง” โดยทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยถึงกรณีที่ สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาบริการ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ว่า การยกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) ที่ให้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เรียกเงินคืน แจ้งสภาวิชาชีพ ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งดังกล่าว เนื่องมาจากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข พบเอกสารหลักฐานว่า หน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งมีการเบิกค่าคัดกรองเมตาบอลิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาการยกเลิกสัญญาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ รพ.ทั้ง 9 แห่งนี้ ดูแลประชากรปฐมภูมิ 220,313 คน ข้อมูลจากปี 2564 ทั้งปี และปี 2565 (9 เดือน) พบว่ามีประชากรใช้บริการ 99,947 คน คิดเป็น 45.36% ดูแลประชากรรับส่งต่อ 696,103 คน ในจำนวนนี้จากข้อมูล 6 เดือนล่าสุดพบว่า มีประชากรใช้บริการ 18,200 คน หรือประมาณร้อยละ 2.61% ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 22,246 คน สปสช.ได้เตรียมความพร้อมรองรับ ดังนี้

1.กลุ่มผู้ป่วยในที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ทั้ง 9 แห่ง รักษาต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดย รพ.จะยังได้รับค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาลจาก สปสช. 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้แก่ นัดผ่าตัดต่างๆ หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดที่มีนัดทำคลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรังสีรักษาและเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่มีนัดตรวจอัลตร้าซาวด์ นัดตรวจซีทีสแกน (CT Scan) นัดตรวจ MRI ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเร่งด่วน ในวันที่20 ก.ย. 2565 สปสช.นัดหมายประชุมกับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ให้รักษาตามที่ได้นัดหมายต่อไป รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อจาก รพ.ทั้ง 9 แห่งนี้ไปรักษาที่อื่น เช่น นัดตรวจและฟังผลอัลตร้าซาวด์อีก รพ.หนึ่ง ก็ใช้สิทธิได้เหมือนเดิมไปก่อนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยเบิกจ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามประกาศเหตุอันสมควร เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ป่วย และในระหว่างนี้ หากมีนัดหมายต่อไป สปสช.ได้ประสาน รพ.แห่งใหม่ไว้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรักษาต่อเนื่อง และจะประสานผู้ป่วยโดยตรงต่อไป

3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ที่มีนัดตรวจติดตามอาการและรับยาต่อเนื่องหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ สปสช.จัดเตรียมรายชื่อหน่วยบริการเพื่อให้ทราบว่าไปที่ไหนได้บ้าง ผู้ป่วยสามารถไปติดต่อที่หน่วยบริการดังกล่าวได้เอง หรือ โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อสอบถามรายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านที่สามารถไปรักษาได้และให้สายด่วน 1330 ประสานการรักษาต่อได้

4.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยวัณโรคที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ท่านสามารถไปรับยาและตรวจติดตามอาการได้ที่หน่วยบริการที่ให้บริการได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การแพทย์บางรัก (คลินิกบางรัก) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และพริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก เป็นต้น

5.ผู้ป่วยไตที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชนนี้ และผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน ใส่สเต็นท์ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงการให้บริการด้านฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และบริการด้านการทำหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน

ส่วนกรณีผู้ที่ยังไม่ป่วยหรือไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องนั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ระหว่างนี้ขอให้ท่านตรวจสอบสิทธิการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ผู้ที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) และสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน ขอให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 214 แห่ง และหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลต่างๆ โดยลงทะเบียนเลือกผ่านทางแอปพลิเคชัน สปสช. หรือในกรณีที่ไม่มีหน่วยบริการในเขตพื้นที่ใกล้บ้าน ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากเกิดภาวะเจ็บป่วยท่านก็ยังใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ โดยเข้ารับบริการที่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.ผู้ที่สถานพยาบาลเข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) เป็นคลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ไม่ใช่ รพ. 9 แห่งนี้ และมีสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) ระบุว่า เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน เมื่อเจ็บป่วยท่านยังคงเข้ารับการรักษาได้ตามรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นตามสิทธิได้เช่นเดิม กรณีที่จะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น สปสช.ได้ประสานงานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้

นอกจากนั้น สปสช.มีบริการทางเลือกใหม่เตรียมรองรับไว้ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล การคัดกรองโรคและดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยกับร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล ที่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไปรักษาได้ ซึ่งจะเปิดนอกเวลาเพื่อบริการผู้ป่วย โดยวันที่ 21 กันยายน 2565 นี้ สปสช.มีประชุมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 214 แห่ง และหน่วยบริการเฉพาะด้านในพื้นที่ กทม. เช่น ด้านเวชกรรม 40 แห่ง ด้านกายภาพบำบัด 9 แห่ง ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 9 แห่ง ด้านทันตกรรม 29 แห่ง และร้านยา 517 แห่ง เพื่อหารือการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการไปรักษาพยาบาลให้ทราบต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่ง 'สปสช.-สปส.' ร่วมยกระดับหลักประกันสุขภาพ

นายกฯ สั่งการเดินหน้าบูรณาการการทำงาน สปสช.- สปส. ร่วมมือการทำงาน เริ่ม 1 เม.ย.2567 ยกระดับหลักประกันสุขภาพตรวจสุขภาพเพิ่มเติมตามกลุ่มช่วงอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สปสช.ยังค้างจ่ายเงินโรงเรียนแพทย์ร่วม 1,000 ล้านบาท แจงยิบติดค้างรพ.ละเท่าไหร่

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวถึงกรณี รองเลขาฯ สปสช.ชี้แจงค้างจ่ายเงินโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ รวม 369 ล้านบาท ว่าเกิดจากการเรียกเก็บค่าชดเชย ที่ติดรหัส C และติดรหัส DENY นั้น ไม่ครบถ้วน